ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไขกุญแจ "3 นอมินีชาวไทย" หุ้นส่วนใหญ่ "ไชน่า เรลเวย์ NO 10"

อาชญากรรม
22 เม.ย. 68
16:43
102
Logo Thai PBS
ไขกุญแจ "3 นอมินีชาวไทย" หุ้นส่วนใหญ่ "ไชน่า เรลเวย์ NO 10"
อ่านให้ฟัง
07:59อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

หลังจาก โสภณ มีชัย , ประจวบ ศิริเขตร และ มานัส ศรีอนันท์ สามผู้ต้องหาชาวไทยนอมินี บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ถูกแจ้งข้อกล่าวหาความผิด พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาตรา 37 และมาตรา 41 เข้ามอบตัว พร้อมให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนดีเอสไอ เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา ในช่วงสายวันนี้ ( 22 เม.ย.2568) ทั้งหมดถูกนำตัวไปขังต่อศาลอาญารัชดาภิเษกผัดแรก

โดยผู้ต้องหาทั้ง 3 รายไม่ได้มีการยื่นขอประกันตัวในชั้นสอบสวน และท้ายคำ ร้อง พนักงานสอบสวนคดีพิเศษไม่ได้มีการคัดค้านการขอประกันตัว เนื่องจากผู้ต้องหาได้เดินทางเข้ามามอบตัวด้วยตนเอง …เมื่อคืนนี้ พวกเขาถูกคุมตัวอยู่ในห้องขังของดีเอสไอ ทั้งหมดจึงอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างอิดโรย ทุกคนสวมสูท สวมแมสปิดบังใบหน้า และไม่ปริปากให้คำตอบถึงการเข้าร่วมถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว

โสภณ มีชัย มีรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 40.80% ของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) ขณะที่ ประจวบ ศิริเขตร ถือหุ้น 10.20% หรือ 102,000 หุ้น และมานัส ศรีอนันท์ ถือหุ้นเพียง 3 หุ้น นอกจากนี้กลุ่มบุคคลดังกล่าว ยังมีรายชื่อเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทที่มีเลขที่ตั้งอยู่บริเวณเดียวกันอีก 8 บริษัท คือ 493 ซอยพุทธบูชา 44 แยก 11 แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร

"ทั้ง 3 คน ให้ข้อเท็จจริงตรงกัน เรื่องความสัมพันธ์กับกรรมการถือหุ้นชาวจีน ชวนหลิน จาง ว่า เขา รู้จักกัน โดยผู้ต้องหาคือ ประจวบและมานัส เคยทำงานในบริษัทที่มีกรรมการชาวจีนเกี่ยวข้องอยู่ และไม่ได้เริ่มงานกับ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด แต่เริ่มต้นมาจากทำงานกับบริษัทอื่นก่อน หากจำไม่ผิด คือ บริษัท สันติภาพ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ส่วน นายโสภณ ถูกชักชวนจากประจวบและมานัส" พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ ( ดีเอสไอ) ให้ข้อมูล

หลังเกิดเหตุการณ์อาคารสตง.ถล่ม ทั้งหมดได้กบดานเงียบ แม้ก่อนหน้านี้ทางพนักงานสอบสวนจะออกมาระบุขอให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าให้ปากคำ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา ดีเอสไอได้ขอศาลอาญาออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย คือ ชวนหลิง จาง ,โสภณ , ประจวบและมานัส แต่ยังไร้ร่องรอย จนกระทั่งชวนหลิน จาง ถูกจับและได้รับการประกันตัวเวลาต่อมา ผู้ต้องหาที่เหลือจึงทยอยเข้ามอบตัว

พนักงานสอบสวนได้ซักถามเช่นกันว่า ทำไมไม่เข้ามอบตัว... แต่ทุกคนไม่ยอมตอบ และอ้างว่า เมื่อเห็นข่าวถูกออกหมายจับจึงเข้าพบพนักงานสอบสวน และก็ไม่ได้ให้ข้อมูลว่า ช่วงเวลานั้นพวกเขาอยู่รวมกันทั้งหมดหรือไม่...ขณะนี้มี โสภณคนเดียวที่ให้ปากคำ อีก 2 คนที่เหลือจะให้เป็นหนังสือชี้แจงภายใน 30 วัน แต่ก็ไม่ได้มีผลต่อรูปคดีเพราะตามกฎหมายจะให้การอย่างไรก็ได้

ข้อมูลจากศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าวดีเอสไอ ระบุว่า โสภณ, ประจวบและมานัส เป็นลูกจ้างของบริษัทที่มีคนจีนเป็นเจ้าของ และเป็นเพียงคนงานยกสินค้าและขับรถ ไม่เชื่อว่าบุคคลทั้ง 3 เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการใด เนื่องจากมีอาชีพรับจ้างและมีรายได้น้อย

โดยโสภณ อายุ 66 ปี ผู้ถือหุ้นใหญ่นั้น เคยทำงาน อยู่บริษัทอุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทย จำกัด และได้ลาออกเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2557 และไม่พบประวัติการทำงานที่บริษัทใดอีก

ส่วนประจวบ อายุ 53 ปี และมานัส ศรีอนันท์ อายุ 62 ปี มีประวัติการทำงานที่บริษัท สันติภาพ อิมปอร์ต-เอ็กปอร์ต จำกัด ประจวบได้ลาออกจากบริษัทดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 ก.ย.2553 และมานัส ลาออกเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2558

สำหรับบริษัทอุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทย พบว่ามีความเชื่อมโยงกับบริษัทสันติภาพ ฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งเดียวกับบริษัทของคนจีนอีก 8 บริษัท และเกี่ยวข้องกับนายชวนหลิงจาง อยู่ด้วย ส่วนนายชวน หลิงจาง จะมีชื่อถือหุ้นอยู่ในทั้ง 8 บริษัทหรือไม่ ดีเอสไอยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ

"เรื่องการประกอบอาชีพของแต่ละคนนั้น ส่วนใหญ่มีรายได้ไม่สูงนัก เฉลี่ยหลักหมื่นบาท มีทั้งอาชีพค้าขาย อาชีพรับจ้าง ซึ่งคำให้การของแต่ละคนจะระบุชัดว่า ทำอาชีพอะไรบ้าง แต่เป็นเรื่องในสำนวน ขอยังไม่เปิดเผย ส่วนเรื่องหุ้น มีนายโสภณ ให้การรายเดียว ...การถือครองหุ้น 3 คนไทยมีการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ปี 2561-2568 มีการสลับเพิ่มขึ้นลดลง" โฆษกดีเอสไอ กล่าว

และชี้แจงเรื่องการตรวจสอบเส้นทางการเงินว่า ขณะนี้พบว่ามีเงิน 2 ส่วนเกี่ยวช่องบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด คือ 1.เป็นเงินหุ้น คนจีนถือแทนบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป คัมปะนีลิมิเต็ด จำกัด (49%) โอนเข้ามาในนามบริษัท ส่วนหุ้นคนไทย (51%) กำลังหาที่มาของแหล่งเงิน และ 2.เป็นเงินที่กู้ยืมจากรัฐวิสาหกิจจีนมาทำธุรกิจ ซึ่งอยู่ระหว่างการไล่ย้อนเส้นทางการเงินอยู่

จากเงินในบัญชีของคนไทยแต่ละคน มีไม่ได้เยอะมาก บางคนมีเพียงหลักหมื่นบาทเท่านั้น ...เงินที่เอามาลงทุน โสภณ อ้างว่า เป็นเงินที่ได้จากการออกจากที่ทำงานเก่า และมีการหยิบยืมในการร่วมก่อตั้งตอนต้น และตอนหลังมีการเคลื่อนทุนก็อ้างว่า ยืมระหว่างเพื่อนด้วยกัน ใน 3 คนนี้ จึงยังมีข้อสงสัยเรื่องรายได้จากการประกอบธุรกิจจริง ๆ เป็นหลักหมื่น จึงมีประเด็นต้องพิสูจน์ว่า จริง ๆ แล้ว เงินมาจากไหน

อย่างไรก็ตาม สำหรับความสัมพันธ์ระหว่าง ชวนหลิง จาง และ 3 ผู้ต้อง หาชาวไทย ตามคำให้การทั้งหมดยอมรับรู้จักกันจริง และ 2 ใน 3 รู้จัก ชวนหลิง จาง มาก่อน จึงมีการชวนเพื่อนอีกคนให้เข้ามาถือหุ้นในการจัดตั้งบริษัทนี้ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องไขกุญแจเพื่อพิสูจน์ต่อไป

หมายเหตุ : คดีพิเศษที่ 32/2568 ของดีเอสไอ สำหรับ บุคคลที่ปรากฏรายชื่อทั้งหมดเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา ถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ และศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษา ส่วนข้อมูลอื่น ๆที่เกี่ยวข้องขณะนี้ดีเอสไอยังอยู่ระหว่างการสืบสวนและขยายผล และยังไม่ได้มีการกล่าวโทษผู้ใดเพิ่มเติม 

อ่านข่าว:

เปิดสายสัมพันธ์ “ชวนหลิง จาง - วู บิงลิน” ผ่าน ไชน่า เรลเวย์ No.10

ขุดเบื้องลึก "ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ไทย)" ทุนจีนใหม่แผ่นดินใหญ่

รื้อ “ซิน เคอ หยวน” ทุนจีน “ผลิตเหล็กเส้นรายใหญ่” ในซากตึกสตง.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง