ผู้ช่วยหาเสียงคือใคร ?
"ผู้ช่วยหาเสียง" หมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับการว่าจ้างจากผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง ให้เข้าร่วมกิจกรรมในการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง ตลอดระยะเวลาหรือช่วงระยะเวลาหนึ่ง และเป็นบุคคลที่ได้แจ้งรายละเอียด หน้าที่และค่าตอบแทนต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด
ในหมวด 3 "ผู้ช่วยหาเสียง"
ข้อ 14 ระบุไว้ว่า ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองที่ประสงค์จะมีผู้ช่วยหาเสียงในการเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ช่วยหาเสียง หน้าที่และค่าตอบแทนผู้ช่วยหาเสียง รวมทั้งหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องตามแบบที่กำหนดท้ายระเบียบ ให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบก่อนวันดำเนินการ ทั้งนี้ ให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด รวบรวมเอกสารที่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองแจ้งมานั้นรายงานต่อคณะกรรมการทราบด้วย
การยื่นเอกสารของพรรคการเมืองตามวรรคหนึ่ง ให้หัวหน้าพรรคการเมืองหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย จากหัวหน้าพรรคการเมืองเป็นผู้ยื่นเอกสารต่อเลขาธิการ
การหาเสียงเลือกตั้งของผู้ช่วยหาเสียงตามวรรคหนึ่ง ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองสามารถจัดหา เสื้อผ้า สิ่งของ เลี้ยงอาหารหรือเครื่องดื่ม สำหรับผู้ช่วยหาเสียง และให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้ช่วยหาเสียงที่ได้ช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้งตามอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ
ในกรณีผู้สมัครหรือพรรคการเมืองไม่แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ช่วยหาเสียง หน้าที่และค่าตอบแทนผู้ช่วยหาเสียง จะดำเนินการหาเสียงเลือกตั้งด้วยวิธีการนี้มิได้
กรณีการแจ้งเปลี่ยนตัวผู้ช่วยหาเสียงในการเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองดำเนินการแจ้งไม่เกิน 3 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ช่วยหาเสียงในการเลือกตั้งนั้น
ข้อ 15 ให้ผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งมีผู้ช่วยหาเสียงในเขตเลือกตั้งจำนวนไม่เกิน 20 คน ต่อเขตเลือกตั้ง
ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อมีผู้ช่วยหาเสียงได้ไม่เกินสิบเท่าของจำนวนเขตเลือกตั้งที่พรรคการเมืองนั้นส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
ข้อ 16 ในกรณีบุคคลใดซึ่งมิใช่ผู้ช่วยหาเสียงของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองตามหมวดนี้ เข้าช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองแจ้งเหตุการณ์นั้น ให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบโดยเร็ว
ในกรณีที่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองไม่แจ้งเหตุการณ์ดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดแจ้งให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองดำเนินการชี้แจงภายในระยะเวลา 5 วันนับแต่วันที่มีการแจ้ง
"ผู้ช่วยหาเสียง" ทำหน้าที่อะไร ?
- สื่อสารนโยบายพรรค
โดยผู้ช่วยหาเสียงจะช่วยอธิบายหรือเผยแพร่นโยบายของพรรคไปยังประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเน้นสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นในตัวผู้สมัครของพรรค - สร้างการรับรู้ในพื้นที่
ด้วยความที่ผู้ช่วยหาเสียงมักเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือได้รับความไว้วางใจในท้องถิ่น จึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างการยอมรับและเพิ่มโอกาสที่ผู้คนในพื้นที่นั้นจะสนับสนุนพรรค - เชื่อมโยงพรรคกับประชาชน
การมีผู้ช่วยหาเสียงช่วยให้พรรคสามารถเชื่อมโยงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น
ในกรณีของพรรคการเมืองใหญ่ ที่แต่งตั้งนักการเมืองที่มีชื่อเสียงเป็นผู้ช่วยหาเสียงให้กับพรรคในการเลือกตั้งท้องถิ่น การปรากฏตัวของเขาเหล่านี้ ไม่เพียงแต่สร้างความสนใจในวงกว้าง แต่ยังเป็นการย้ำถึงจุดยืนและความมุ่งมั่นของพรรคในการทำงานร่วมกับบุคคลที่มีประสบการณ์และความเชื่อมโยงกับประชาชน
บทบาทของผู้ช่วยหาเสียงไม่ได้เป็นตำแหน่งทางการเมืองโดยตรง จึงไม่ได้ถูกควบคุมโดยกฎหมายการเลือกตั้งอย่างเคร่งครัด แต่ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เช่น ไม่แสดงพฤติกรรมที่เข้าข่ายทุจริตหรือชี้นำประชาชนในลักษณะผิดกฎหมาย ผู้ช่วยหาเสียงจึงไม่ใช่แค่การช่วยโปรโมตพรรค แต่ยังสะท้อนถึงกลยุทธ์และแนวทางของพรรคในการสร้างความใกล้ชิดและเชื่อมโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง
อ่านข่าวอื่น :
"ชูศักดิ์" มั่นใจ "ทักษิณ-เพื่อไทย" ไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง
รีบผูกพร้อมเพย์! แจกเงิน 1 หมื่นเฟส 2 ประกาศชื่อผู้มีสิทธิ์ ธ.ค.นี้