เป็นที่รู้โดยทั่วกันว่า “ผึ้ง” (Bee) จะออกหาอาหารเป็นน้ำหวานจากเกสรของดอกไม้ และช่วยเหลือพืชในการผสมพันธุ์ แต่รู้หรือไม่ว่าสัตว์ตัวจิ๋วนี้ยังมีพรสวรรค์อื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ความสามารถทางคณิตศาสตร์ การจดจำใบหน้า การใช้เครื่องมือ รวมไปถึงการเปิดฝาขวดน้ำอัดลมเพื่อเอาน้ำหวานภายในขวด
โดยคลิปวิดีโอนี้ถูกโพสต์ครั้งแรกในปี 2021 บน X (Twitter) ซึ่งแสดงให้เห็นผึ้ง 2 ตัวกำลังเปิดฝาน้ำอัดลมสีส้มเพื่อเข้าถึงของเหลวที่มีน้ำตาลอยู่ข้างใน ซึ่งบางคนที่ดูคลิปอาจจะมองว่าผึ้งทำงานร่วมกันนิดหน่อย เพียงแค่ดันฝาขวดที่วางไว้หลวม ๆ ออกไปเท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้นไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม น่าสนุกดีไม่ใช่หรือที่จะคิดว่าผึ้งมีสมองพอที่จะขโมยน้ำหวานในขวดน้ำอัดลมได้หรือไม่
ตามรายงานของ ViralHog ซึ่งเป็นผู้ให้ลิขสิทธิ์วิดีโอที่จัดเก็บภาพดังกล่าว ระบุว่าช่วงเวลาดังกล่าวถูกถ่ายได้ในเซาเปาโล ประเทศบราซิล โดยคนงานคนหนึ่งขณะพักเที่ยง
ด้วยทักษะอันคล่องแคล่วที่ผึ้ง 2 ตัวนี้สามารถบิดฝาขวดน้ำอัดลมได้ทำให้ชาวเน็ตหลายคนงุนงง โดยบางคนก็สงสัยว่า “สมอง” ที่เล็กมากนี้จะมี “สติปัญญา” เช่นนี้ได้อย่างไร ?
ซึ่งจากที่เราได้เรียนรู้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขนาด “สมอง” ของสัตว์ไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด สำหรับสัตว์ขนาดเล็กนั้นจะมีมวลร่างกายน้อยมากสำหรับการควบคุมเซลล์สมอง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมี “สมอง” ที่เล็กกว่า แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ความซับซ้อนของการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทที่อาจมีความสำคัญมากกว่าในการทำให้เกิดประสิทธิภาพในการรับรู้
ในปี พ.ศ. 2505 หนึ่งทศวรรษก่อนที่จะได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยา Karl von Frisch ได้ประกาศว่า “ผึ้ง” มีสมองเล็กเกินกว่าที่จะคิดได้ โดยอ้างว่าธรรมชาติอันชาญฉลาดของพวกมันนั้นเป็นผลมาจากสัญชาตญาณที่ติดตัวมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่นั้นมา คำถามว่า “สมองผึ้ง” สามารถทำงานได้มากแค่ไหน เกิดการทดสอบ-ทดลองอีกนับไม่ถ้วน
แม้ว่าผึ้งจะมีสมองขนาดเท่า “เมล็ดหญ้า” ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเมล็ดพืชประมาณ 0.0002 เปอร์เซ็นต์ แต่จากการวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ พบว่า “ผึ้ง” มีความฉลาดอย่างน่าประหลาดใจ โดยไม่เพียงแต่เรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ ยังสามารถใช้เครื่องมือ รวมถึงนับเลข และทำสมการทางคณิตศาสตร์พื้นฐานได้อีกด้วย
สู่คำถามที่น่าสนใจว่า “เครื่องคิดเลข” (สมอง) ขนาดเท่าเมล็ดพืชเล็ก ๆ นี้ จะเปลี่ยนทักษะการแก้ปัญหาให้กลายเป็นเรื่องที่ซับซ้อนอย่างการเปิดฝาขวดน้ำอัดลมได้อย่างไร เพราะการคลายฝาเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลไม่ใช่หน้าที่ที่ผึ้งต้องเผชิญในธรรมชาติ เป็นไปได้ว่าผึ้งอาจจะโชคดีในครั้งนี้ เมื่อได้เจอกับของหวานที่ดึงดูดให้ผึ้งที่บินไปมาอย่างไร้จุดหมายท่ามกลางแรงต้านทานเล็กน้อย
แต่ในทางกลับกัน ธรรมชาติก็ทำให้เราประหลาดใจ ตัวอย่างเช่น ในสมองผึ้งมีเซลล์ประสาทเพียงเซลล์เดียว แต่สามารถติดต่อกับเซลล์อื่น ๆ ได้นับ 100,000 เซลล์ เป็นต้น นอกจากนี้ในการศึกษาวิจัยในปี 2017 พบว่า “ผึ้งบัมเบิลบี” ที่ได้รับการฝึกให้กลิ้งลูกบอลเข้าประตูเพื่อรับรางวัล ในการทำคะแนนผึ้งจะต้องเลียนแบบการเคลื่อนไหวของกันและกัน เรียนรู้จากความผิดพลาดของกันและกัน ซึ่งพวกมันสามารถทำได้อย่างง่ายดายอย่างน่าประหลาดใจ
สิ่งเหล่านี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้ตระหนักว่า ปัจจุบันสิ่งมีชีวิตหลายชนิดที่มีความสามารถในการจินตนาการว่าวัตถุหนึ่งสามารถนำมาใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร ซึ่งไม่ได้มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่ทำได้
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : sciencealert
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech