วันนี้ (20 พ.ย.2567) ตัวเลขการใช้สิทธิ์ลาคลอดในระบบประกันสังคมมาตรา 33 และมาตรา 39 ที่มีเพียงร้อยละ 3 ซึ่งประธานอนุกรรมาธิการด้านประกันสังคม วุฒิสภา หยิบยกมาสนับสนุนการขยายวันลาคลอดเป็น 120 วัน และได้รับเงินเดือน เพราะมองว่า เป็นการใช้งบประมาณที่ไม่มาก เมื่อแลกกับคุณภาพของเด็กที่จะตามมา
ข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม ยังพบว่า ผู้ประกันตนใช้สิทธิ์ลาคลอดลดลงต่อเนื่องจากปี 2563 ลาคลอดประมาณ 210,000 ปี 2566 การลาคลอดลดลงเหลือประมาณ 180,000 คน การเพิ่มวันลาคลอดจึงไม่น่าจะกระทบกองทุนประกันสังคม
นายเซีย จำปาทอง รองประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ว่าด้วยการลาคลอด 180 วัน
เห็นชอบให้ปรับเพิ่มวันลาคลอดเป็น 120 วัน และได้รับเงินเดือน จากเดิม 98 วัน โดยเล็งเห็นถึงผลกระทบเรื่องเงินที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับ จึงไม่สามารถผลักดันไปให้ถึง 180 วันได้
ด้าน อ.กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า การขยายวันลาคลอดเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถทำให้คนไทยอยากมีลูกเพิ่มขึ้นได้ จำเป็นต้องเพิ่มสวัสดิการเด็ก และครอบครัว ควบคู่ไปด้วย
วันที่ 11 ธ.ค.2567 คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จะพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้อีกครั้ง ก่อนที่จะเสนอเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบ โดยมูลนิธิเพื่อนหญิง และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน คาดหวังว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะผ่านไปด้วยดี และประกาศใช้ภายในปลายปีหน้า
อ่านข่าวอื่น :