ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กาชาดยืนยัน "ไม่มีซื้อขายอวัยวะ" ชี้ข่าวลวงทำผู้บริจาคกังวล

สังคม
25 เม.ย. 68
17:11
97
Logo Thai PBS
กาชาดยืนยัน "ไม่มีซื้อขายอวัยวะ" ชี้ข่าวลวงทำผู้บริจาคกังวล
สภากาชาดไทยเตือนภัย ข้อมูลซื้อขายอวัยวะ เช่น ไต 4.7 ล้าน ปอด 9.2 ล้าน ที่แชร์ว่อนโซเชียลเป็น "ข่าวปลอม" การซื้อขายอวัยวะในไทยผิดกฎหมายค้ามนุษย์ มีโทษหนัก พร้อมย้ำว่าการปลูกถ่ายอวัยวะทำได้เฉพาะจากการบริจาคโดยสมัครใจเท่านั้น อย่าหลงเชื่อและแชร์ต่อ

วันนี้ (25 เม.ย.2568) จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับการตั้งราคาซื้อขายอวัยวะในประเทศไทย เช่น ปอดข้างละ 9,200,000 บาท ไตข้างละ 4,700,000 บาท หรือ เลือดลิตรละ 21,000 บาท

รองศาสตราจารย์ นพ.สุภนิติ์ นิวาตวงศ์ รองผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ได้ออกมาชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง และขอยืนยันว่า ประเทศไทย ไม่อนุญาตให้มีการซื้อขายอวัยวะโดยเด็ดขาด เพราะถือเป็นการค้ามนุษย์ ซึ่งผิดกฎหมายร้ายแรง

การปลูกถ่ายอวัยวะในประเทศไทย สามารถทำได้เฉพาะจากการบริจาคโดยสมัครใจเท่านั้น

รศ.นพ.สุภนิติ์ กล่าว พร้อมอธิบายว่า การบริจาคมี 2 กรณีหลัก คือ

  1. การบริจาคจากญาติในขณะมีชีวิต
  2. การบริจาคหลังเสียชีวิตที่ผู้บริจาคแสดงเจตจำนงไว้ก่อน

โดยทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย

ข้อมูลวันที่ 31 มี.ค.2568 จากศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ระบุว่า ผู้ป่วยรอรับการปลูกถ่ายอวัยวะมากถึง 7,555 ราย โดยในจำนวนนี้เป็นผู้รอรับไตถึง 7,019 ราย รองลงมาคือตับ 430 ราย และหัวใจ 45 ราย ขณะที่มีผู้บริจาคเพียง 151 ราย และมีผู้ได้รับการปลูกถ่ายเพียง 326 รายเท่านั้น

รศ.นพ.สุภนิติ์ ย้ำว่า การบริจาคอวัยวะเป็นเรื่องของจิตสำนึกและความเสียสละเพื่อช่วยชีวิตผู้อื่น ไม่ควรถูกมองในมุมผลประโยชน์ทางการเงิน เพราะจะบิดเบือนหลักจริยธรรมทางการแพทย์ อีกทั้งการซื้อขายอวัยวะไม่มีมาตรฐานความปลอดภัย ผู้ขายอาจไม่ได้รับการตรวจสุขภาพอย่างเหมาะสม ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว

สำหรับกระบวนการปลูกถ่ายอวัยวะ จะต้องดำเนินการในโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองจากศูนย์ฯ โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในห้องผ่าตัดที่มีอุปกรณ์พร้อม อวัยวะที่นำออกจะต้องถูกปลูกถ่ายทันที เนื่องจากไม่สามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน

ประเทศไทยยังมีกฎหมายควบคุมที่เข้มงวด ได้แก่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 และข้อกำหนดจากแพทยสภา ซึ่งกำหนดให้การปลูกถ่ายอวัยวะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการปลูกถ่ายอวัยวะ กำลังอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน หากกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ จะช่วยเสริมความชัดเจนในการส่งเสริมและควบคุมการบริจาคอวัยวะให้เป็นไปอย่างมีระบบและปลอดภัย

อ่านข่าวอื่น :

จบเกม! มัสก์ทิ้ง DOGE หลัง Tesla ร่วง 71% ทรัมป์เสียคู่หูคนสำคัญ

ผบ.ตร.คาดใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 15 วันตรวจกล่องดำหาสาเหตุเครื่องบินตก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง