ในเดือนตุลาคม 2567 ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในไทยแชร์คำกล่าวอ้างเท็จว่า อีลอน มัสก์ ซีอีโอของบริษัทเทสล่า เตรียมเปิดตัวสมาร์ทโฟนภายใต้แบรนด์ชื่อ พาย (Pi) ในช่วงสิ้นปี 2567 โดยโพสต์เหล่านี้ยังระบุว่าสินค้าดังกล่าวมีคุณสมบัติหลายประการ เช่น ใช้พลังงานแสงอาทิตย์และสามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตโดยตรงผ่านเครือข่ายสตาร์ลิงก์ได้ อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ จากข้อมูลบนเว็บไซต์ของเทสล่ายังไม่มีข้อมูลเรื่องการเปิดตัวสินค้าสมาร์ทโฟนแต่อย่างใด
"เตรียมตัวให้พร้อม ผู้บุกเบิก Pi ทั่วโลกจะต้องดีใจกันปลาย ปี 2024 เมื่อผลิตภัณฑ์โทรศัพท์ Tesla ที่ล้ำหน้าที่สุด แห่งศตวรรษนี้เป็นของ Elon Musk ภายใต้แบรนด์ Pi จะเปิด ตัวสู่ตลาดปลายปี 2024" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กเขียนคำบรรยายในโพสต์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2567
โพสต์ดังกล่าวยังอ้างถึง "คุณสมบัติโดดเด่น" หลายประการ เช่น สามารถชาร์จแบตเตอรี่อย่างไม่มีจำกัดได้ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และความจุอินเทอร์เน็ตที่ไม่จำกัด เพราะสมาร์ทโฟนดังกล่าวเชื่อมต่อโดยตรงกับเครือข่ายสตาร์ลิงก์ (Starlink) ซึ่งเป็นบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ของมัสก์
คำกล่าวอ้างเดียวกันนี้ยังปรากฏในโพสต์อื่น เช่น ที่นี่ นี่ และ นี่
คำกล่าวอ้างเท็จนี้เคยถูกแชร์ทางสื่อสังคมออนไลน์มาแล้วก่อนหน้านี้ในปี 2566
คำกล่าวอ้างกลับมาแพร่กระจายอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2567 โดยโพสต์เท็จเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่มัสก์แสดงจุดยืนสนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้คำกล่าวอ้างนี้ถูกนำกลับมาแชร์โดยกลุ่มคิวอะนอน (QAnon) ซึ่งเชื่อทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับรัฐซ้อนรัฐ (Deep State) และเครือข่ายชนชั้นนำที่ควบคุมโลก
กลุ่มคิวอะนอนเชื่อว่า มัสก์และเทคโนโลยีของเขา เช่น สตาร์ลิงก์และโทรศัพท์ที่อ้างว่าเชื่อมต่อสมองมนุษย์กับสมองกลได้ จะเป็นกุญแจสำคัญในการต่อสู้กับกลุ่มชนชั้นนำเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างว่ามัสก์เตรียมเปิดตัวสมาร์ทโฟนชื่อ 'เทสล่า พาย' นั้นเป็นเท็จ
ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2567 ยังไม่มีคำแถลงอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการเปิดตัวโทรศัพท์ในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของเทสล่า
การค้นหาด้วยคำสำคัญก็ไม่พบรายงานที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับการเปิดตัวโทรศัพท์ดังกล่าวเช่นกัน
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 มัสก์เคยกล่าวกับนักข่าวว่า เทสล่าจะสร้าง "แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ใหญ่ที่สุดในโลกภายใน 100 วัน" แต่ไม่มีการกล่าวถึงการเปิดตัวโทรศัพท์ใด ๆ (ลิงก์บันทึก)
สื่อตรวจสอบข่าวปลอมหลายแห่ง เช่น สโนปส์ แฟ็กลี่ และ แฟ็กเครสเซนโด ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างเดียวกันนี้ด้วย (ลิงก์บันทึกที่นี่ นี่ และ นี่)
ข้อมูลจาก AFP