สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ทำหลายคนป่วยออด ๆ แอด ๆ มีเหตุให้หยิบ ATK มาตรวจอยู่ตลอด หากขึ้น 2 ขีด (ติดโควิด-19) ก็รักษากันไป แต่หลายคนตรวจแล้วขึ้นขีดเดียว (ไม่ติดโควิด-19) แต่สังเกตอาการแล้ว นี่มันไม่เหมือนไข้หวัดทั่วไป
ไทยพีบีเอส รวบรวมข้อมูล “เทียบอาการโควิด-19 กับโรคไข้เลือดออก” ซึ่งระยะหลังมีคนไทยป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกจำนวนมาก โรคนี้หากรักษาไม่ทันท่วงที เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก
อาการ “โรคไข้เลือดออก” ต่างจาก “โควิด-19” อย่างไร
ไข้เลือดออก จะมีอาการไข้ขึ้นสูงและลอยประมาณ 2-7 วัน ผื่น หน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง อ่อนเพลีย รับประทานอาหารได้น้อย บางรายอาจมีถ่ายดำหรือถ่ายเป็นเลือด ถ้ารุนแรงอาจเห็นจุดเลือดออกสีแดงเล็ก ๆ ตามผิวหนัง มักไม่พบอาการไอหรือมีน้ำมูก หากหายใจลำบากหรือปอดอักเสบ
ส่วนโควิด-19 จะมีไข้ต่ำถึงสูง ปวดเมื่อยตามตัว เจ็บคอ ไอแห้งหรือมีเสมหะ มีน้ำมูก หอบเหนื่อยหายใจลำบาก ปอดอักเสบในรายที่รุนแรง อาเจียน อ่อนเพลีย ท้องเสียมีในบางราย มีเลือดออกตามผิวหนัง ทั้งนี้ โควิด-19 บางสายพันธุ์ ยังมีอาการเพิ่มเติมคือ เยื่อบุตาอักเสบ คันตา ขี้ตาเหนียว ลืมเปลือกตาไม่ขึ้น มีผื่นคัน
ฉะนั้นหมั่นสังเกตอาการ หรือตรวจด้วย ATK สามารถคัดกรองแยกโรคเบื้องต้นได้
แต่ในกรณีที่แยกไม่ได้ จะต้องตรวจเลือด เช่น การหาค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด และการตรวจหาโปรตีนเอ็นเอสหนึ่ง (NS1) เพื่อยืนยันการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออก โดยเฉพาะในช่วง 3 วันแรกของไข้ จะช่วยวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกได้แม่นยำสูง
ไข้เลือดออกเป็นพร้อมโควิด-19 ได้!
โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ มี 4 สายพันธุ์ โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ส่วนโรคโควิด-19 เกิดจากเชื้อไวรัสโควิด SARS-CoV-2 สามารถแพร่จากคนสู่คนได้ทางละอองฝอย เสมหะน้ำลาย ผ่านการสัมผัสเยื่อบุตา จมูก ปาก
แต่ในกรณีถ้าเกิดการระบาดพร้อม ๆ กัน ก็จะมีโอกาสพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 และเป็นไข้เลือดออกได้
ผู้ป่วยไข้เลือดออกในระยะวิกฤต จะมีน้ำเหลืองรั่วออกนอกเส้นเลือด ทำให้เกิดภาวะช็อก ซึ่งถ้าไม่ได้รับสารน้ำทดแทนอย่างทันท่วงที จะทำให้เกิดภาวะช็อกนาน จนเกิดตับวาย ไตวาย และอวัยวะอื่น ๆ ทำงานล้มเหลว จนเสียชีวิตได้
เช็กอาการไข้เลือดออกระยะวิกฤต
สัญญาณอันตรายที่น่าสงสัยว่า เป็นไข้เลือดออกในระยะวิกฤต และมีโอกาสเข้าสู่ภาวะช็อก ได้แก่ ปวดท้องรุนแรง กระสับกระส่าย หรือร้องงอแงผิดปกติในทารก มือเท้าเย็น ปัสสาวะออกน้อยลง ต้องนำส่งโรงพยาบาลทันที
ส่วนในรายที่มีไข้สูง 2-3 วัน โดยไม่มีอาการไอ น้ำมูกที่ชัดเจน ควรพาไปตรวจที่โรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์วินิจฉัย หรือส่งตรวจเลือดเพื่อเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก ก่อนจะเข้าสู่ระยะวิกฤตได้
ไข้เลือดออกรักษาอย่างไร ?
การรักษาไข้เลือดออกปัจจุบัน ยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัส เป็นการรักษาตามอาการ มีไข้ให้เช็ดตัวและรับประทานยาพาราเซตามอลลดไข้เท่านั้น ห้ามใช้แอสไพรินไอบูโพรเฟน
ถ้าผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อย อาจให้ดื่มนม น้ำผลไม้ หรือน้ำเกลือแร่ ร่วมด้วยโควิด-19 หากอาการไม่รุนแรง จะรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เมื่อมีไข้หรือปวดศีรษะ ให้ทานยาลดไข้ ส่วนใหญ่จะมีอาการไข้ไม่เกิน 2-3 วัน จะค่อย ๆ ดีขึ้น หากมีน้ำมูก ให้ทานยาลดน้ำมูกเท่าที่จำเป็น หรือถ้าน้ำมูกข้นเขียว
ในเด็กโตสามารถล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ หากมีอาการไอให้รับประทานยาแก้ไอตามอาการ และจิบน้ำอุ่นบ่อย ๆ หากไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส หายใจหอบเร็วกว่าปกติ หน้าอกบุ๋ม ปีกจมูกบาน ตอนหายใจ ปากเขียว ระดับออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า 94% ซึมลง งอแง ไม่ดูดนม ไม่กินอาหาร ถ่ายเหลว หรืออาเจียนมากต่อเนื่องกัน ควรรีบนำเด็กไปโรงพยาบาล
ข้อมูล สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี, กรมควบคุมโรค
📖 อ่านเพิ่มเติม :
• "ไข้เลือดออก-โควิด" อาการต่างกันอย่างไร ?
• "ไข้เลือดออก" ระบาดปีนี้ป่วยแล้ว 1.5 หมื่นคน เสียชีวิต 13 คน
• เทียบอาการโควิด-19 สายพันธุ์ XBB.1.5 vs XBB.1.16