ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

NASA เสนอความเป็นไปได้ที่จะพบชีวิตใต้ชั้นน้ำแข็งบนดาวอังคาร


Logo Thai PBS
แชร์

NASA เสนอความเป็นไปได้ที่จะพบชีวิตใต้ชั้นน้ำแข็งบนดาวอังคาร

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1787

NASA เสนอความเป็นไปได้ที่จะพบชีวิตใต้ชั้นน้ำแข็งบนดาวอังคาร
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เราเชื่อกันเสมอว่าเป็นไปได้ที่ดาวอังคารในอดีตจะมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับชีวิต แต่ดาวอังคารในวันนี้มันยังเหมาะสมกับการมีชีวิตได้อยู่หรือเปล่า นักวิทยาศาสตร์ของ NASA ได้เสนอความเป็นไปได้ที่จะพบชีวิตใต้ชั้นน้ำแข็งของดาวอังคาร

นักวิจัยของ NASA เสนอทฤษฎีและความเป็นไปได้ใหม่เกี่ยวกับชีวิตบนดาวอังคารว่าชีวิตระดับจุลชีพอาจจะสามารถดำรงอยู่ได้ในน้ำแข็งที่ขั้วใต้ของดาวอังคาร คล้ายกับจุลชีพและสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ในทะเลสาบใต้ชั้นน้ำแข็งในแอนตาร์กติกา

พื้นผิวดาวอังคารที่พบสสารสีขาวไหลลงจากเนินเขา คาดว่าน่าจะเป็นฝุ่นน้ำแข็งที่เกาะบนพื้นผิว คาดว่าน้ำแข็งเหล่านี้อาจจะมีช่องว่างให้น้ำละลายและก่อเกิดระบบนิเวศน์ที่เหมาะสมกับชีวิตให้อาศัยอยู่ภายในได้

งานวิจัยชิ้นนี้ได้สร้างแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ถึงปริมาณแสงแดดที่ส่องผ่านชั้นน้ำแข็งของดาวอังคารแล้วว่ามันอาจจะเพียงพอสำหรับกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในน้ำ ตัวอย่างน้ำแข็งบนโลกที่ชั้นด้านบนมักจะมีสิ่งมีชีวิตจำพวกจุลชีพ สาหร่าย ตะไคร่น้ำ และเชื้อรา เกาะและดำรงชีวิตอยู่

น้ำแข็งบนดาวอังคารมีอยู่สองประเภท คือน้ำแข็งแห้งที่ก่อตัวจากคาร์บอนไดออกไซด์ และน้ำแข็งที่ก่อตัวจากน้ำ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์มุ่งเน้นไปที่น้ำแข็งที่ก่อตัวจากน้ำ ตัวแทนทีมนักวิจัยได้อธิบายว่าเมื่อครั้งสมัยที่น้ำแข็งบริเวณขั้วดาวอังคารก่อตัวขึ้นมา อาจมีฝุ่นเล็ก ๆ จากพื้นผิวปลิวมาเกาะและปะปนอยู่บนพื้นผิวน้ำแข็ง เมื่อเวลาผ่านไปบริเวณที่ฝุ่นฝังตัวใต้น้ำแข็ง แสงแดดจากดวงอาทิตย์สาดส่องเข้ามาถึงชั้นของฝุ่น ฝุ่นที่มีสีเข้มกว่าน้ำแข็งจึงดูดซับความร้อนจากแสงแดดและทำให้น้ำแข็งละลาย เกิดเป็นชั้นแอ่งน้ำใต้พื้นผิวน้ำแข็ง

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันชั้นบรรยากาศของดาวอังคารจะเบาบางลงมากแล้ว ทำให้น้ำแข็งที่ละลายจะระเหยในทันที ไม่สามารถคงในสถานะของเหลวได้บนพื้นผิว แต่หากเป็นน้ำที่อยู่ใต้ชั้นน้ำแข็งนี้ น้ำเหล่านี้จะยังคงสภาพในสถานะของเหลวได้

ภาพถ่ายของหลุม Cryoconite ที่ธารน้ำแข็ง Matanuska ในรัฐอะแลสกา ปี 2012 ซึ่งหลุมเหล่านี้เกิดจากการละลายของธารน้ำแข็งจากฝุ่น ภาพถ่ายโดย Kimberly Casey

แอ่งน้ำใต้ชั้นน้ำแข็งที่เกิดขึ้นจากฝุ่นในชั้นน้ำแข็ง หลุมลักษณะนี้มีชื่อเรียกว่า หลุมครายโอโคไนต์ (Cryoconite Holes) สามารถพบได้ตามธารน้ำแข็งต่าง ๆ เช่น ธารน้ำแข็งเทย์เลอร์ (Taylor Glacier) หลุมเล็ก ๆ เหล่านี้เกิดจากฝุ่นขนาดเล็กตกลงบนธารน้ำแข็ง ดูดซับความร้อนจากดวงอาทิตย์และละลายธารน้ำแข็งเจาะเป็นรูขนาดเล็กจนไปถึงหลุมขนาดใหญ่ ซึ่งรูหรือหลุมเหล่านี้สามารถเป็นแอ่งน้ำให้กับชีวิตอาศัยอยู่ภายในนั้นได้

ภาพถ่ายธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่ขั้วของดาวอังคาร เมื่อปี 2000 โดยยาน Mars Global Surveyor

ข้อมูลจากงานวิจัยเผยว่าหลุมเหล่านี้สามารถละลายจากฝุ่นที่อยู่ภายในได้ ชั้นน้ำแข็งด้านบนจะทำหน้าที่เสมือนหลังคาโรงเรือนกระจก คล้ายกับปรากฏการณ์เรือนกระจก แสงส่องลงมาจากเบื้องบนจึงละลายเฉพาะชั้นพื้นผิวด้านล่าง แทนที่จะละลายจากด้านบนลงด้านล่างตามปกติ

นอกจากนี้ การจำลองปรากฏการณ์ด้วยคอมพิวเตอร์เสริมข้อมูลว่าชั้นน้ำแข็งบนดาวอังคารอาจจะปล่อยให้แสงผ่านลงไปได้ลึกกว่า 3 เมตร และทำให้ชั้นฝุ่นที่ปะปนอยู่ในน้ำแข็งนั้นละลายและสามารถดำรงอยู่ในสภาพของเหลวได้ อีกทั้งชั้นน้ำแข็งยังสามารถทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันรังสีอันตรายจากดวงอาทิตย์ได้อีกด้วย

ภาพถ่ายพื้นผิว น้ำแข็งบนขั้วดาวและชั้นบรรยากาศของดาวอังคารในช่วงปี 1995 โดยยาน Mars Global Surveyor

นักวิจัยเชื่อว่ามีโอกาสที่จะพบแหล่งน้ำเหล่านี้ได้ที่ละติจูดระหว่าง 30 ถึง 60 องศา ทั้งในซีกเหนือและซีกใต้ของดาว

“หากเราต้องการหาชีวิตในจักรวาล การสำรวจน้ำแข็งบนดาวอังคารเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุด” อดิตยา คุลเลอร์ (Aditya Khuller) นักวิจัยหลักของโครงการจาก Jet Propulsion Laboratory ของ NASA กล่าว

เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล : NASA

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ใต้ชั้นน้ำแข็งดาวอังคารดาวอังคารสำรวจดาวอังคารนาซาองค์การนาซาฺNASAอวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด