ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จากขายดีสู่ขาดทุน! ดับฝันแผงผลไม้ "ไชน์มัสแคท" เหลือล้นตลาด

สังคม
27 ต.ค. 67
13:42
10,243
Logo Thai PBS
จากขายดีสู่ขาดทุน! ดับฝันแผงผลไม้ "ไชน์มัสแคท" เหลือล้นตลาด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หลังข่าวสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานในองุ่นไชน์มัสแคท แม้กรมอนามัยจะอธิบายว่ามีวิธีล้างก่อนทานเพื่อความปลอดภัย แต่ผู้ค้าผลไม้ในหลายจังหวัด ก็ได้รับผลกระทบเพราะขายองุ่นไม่ได้ บางเจ้าเปลี่ยนไปขายผลไม้อื่น บางเจ้ายอมลดราคา จาก กก. ละ 250 บาท เหลือไม่ถึง 100 บาท

วันนี้ (27 ต.ค.2567) ขึ้นป้ายให้เห็นกันชัด ๆ 80 บาท หรือ 100 บาท/กก. เชื่อว่าราคานี้คนชอบองุ่นนำเข้าน่าจะไม่เคยเห็นมาก่อน แต่ถ้าดูบรรยากาศกลับแทบไม่มีคนเดินเข้ามาซื้อ แผงขายผลไม้ในตลาดเทิดไท อ.เมือง จ.นครราชสีมา ตลาดค้าส่งผักและผลไม้ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

แม่ค้าองุ่นไชน์มัสแคท ยอมรับว่า รับผลกระทบอย่างหนัก สินค้าที่เคยขายได้ดี ต้องเหลือค้างสต็อกเน่าเสียไปแล้วกว่าครึ่ง ส่วนที่เหลือก็ต้องขาย ยอมลดราคาจนขาดทุน แต่ลูกค้าก็ยังคงไม่มั่นใจ ตอนนี้เครียดมาก ทั้ง ๆ ที่ผู้ค้าในตลาดไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบสารพิษตกค้างในผลไม้ ที่ผ่านมาก็ซื้อผลไม้นำเข้าตามกระบวนการปกติ แต่เกิดความเสียหายต่อธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เช่นเดียวกับที่ จ.ตรัง ร้านขายผลไม้ริมถนนเขตเทศบาลนครตรัง มีองุ่นไชน์มัสแคทวางขายอยู่ในร้าน แต่ขายไม่ได้เช่นกัน แม่ค้า บอกว่า ก่อนหน้านี้องุ่นขายดีมากแม้จะขาย กก.ละ 350 บาท ก็มีลูกค้ามาซื้อ ตอนนี้ราคาลดลงเหลือ กก.ละ 120-150 บาท และเพิ่มสั่งองุ่นพันธุ์นี้มาขายเพิ่มมา 5 วันก่อน แต่ขายไม่ได้เลย จนต้องโล๊ะแจกให้ลูกน้องเอาไป

ส่วนที่ตลาดวโรรส อ.เมืองเชียงใหม่ ยังมีองุ่นไชน์มัสแคทวางจำหน่าย แต่ปริมาณน้อยลงมาก เพราะผู้บริโภคไม่กล้าซื้อไปรับประทาน แม่ค้าผลไม้ ยอมรับข่าวการพบสารตกค้างในองุ่นไชน์มัสแคท ทำให้ต้องชะลอการซื้อองุ่นจากประเทศจีน และหันมาขายสายพันธุ์ที่นำเข้าจากประเทศอื่นแทน

ข้อมูลที่ออกมา ผู้บริโภคอาจกำลังสับสนว่า ตกลงองุ่นไชน์มัสแคท อันตรายหรือกินได้กันแน่ ? ล่าสุด น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค เรียกร้องให้เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ดำเนินการทางกฎหมาย กับบริษัทผู้นำเข้าผลไม้ที่มีวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ห้ามใช้ในประเทศ คือ คลอไพริฟอส และ เอ็นดริล อัลดีไฮด์

เพราะถือเป็นผลไม้หรืออาหารที่ผิดมาตรฐาน ตรวจพบสารเคมีที่ห้ามใช้ พร้อมเร่งต้องตรวจสอบผักและผลไม้ก่อนจำหน่าย ว่า มีความปลอดภัยหรือไม่ หากพบไม่ปลอดภัย ต้องส่งคืนต้นทาง หรือทำลายทันที เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

แต่สารเคมีตกค้าง ไม่ได้อยู่เฉพาะในองุ่นไชน์มัสแคทเท่านั้น เพราะข้อมูลจาก Thai-PAN ที่เก็บตัวอย่างผักผลไม้จากหลายแหล่งทั่วประเทศ ส่งตรวจต่อเนื่องทุกปี พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ปี 2557 ส้มสายน้ำผึ้ง (เกินค่ามาตรฐาน ร้อยละ 100) ฝรั่ง (ร้อยละ 69.2) แอปเปิล (ร้อยละ 58.3) สตรอว์เบอร์รี่ (ร้อยละ 50) ส้มจีน (ร้อยละ 50)

ปี 2563 องุ่นแดงนอก (ร้อยละ 100) พุทราจีน (ร้อยละ 100) ส้มสายน้ำผึ้ง (ร้อยละ 81) ฝรั่ง (ร้อยละ 60) แก้วมังกร (ร้อยละ 56)

ปี 2565 องุ่นนอก (ร้อยละ 100) ส้ม (ร้อยละ 95) แอปเปิล (ร้อยละ 81) ฝรั่ง (ร้อยละ 81)

จากข้อมูลจะเห็นว่า ส้มติดอันดับทุกปี และในปี 65 มีการนำเข้าส้ม 13 สายพันธุ์ ซึ่งจากการสุ่มตรวจ 19 ตัวอย่าง พบว่าส้มนำเข้า 16 ตัวอย่างมีสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน

ข้อมูลที่สำคัญคือ พืชผัก ผลไม้ที่พบสารพิษ ส่วนมากเป็นพืชพันธุ์เมืองหนาว จำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดแมลงและเชื้อรา ช่วยยืดอายุในการขนส่ง ถึงบประเทศไทยจะแบนสารเคมีอันตรายทางการเกษตรบางชนิดไปแล้ว ทั้ง พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส (ที่เจอในองุ่นนำเข้า) แต่ต้นทางปลูกผักผลไม้บางประเทศก็ยังใช้อยู่

ดังนั้นการล้างผัก ผลไม้ให้สะอาดก่อนบริโภคไม่ว่าจะปลูกในประเทศหรือนำเข้าก็เป็นเรื่องจำเป็น โดยกรมอนามัยแนะนำการล้างที่ถูกต้อง 3 วิธี

  1. ล้างด้วยน้ำไหล โดยแช่ในน้ำนาน 15 นาที จากนั้นเปิดน้ำไหลผ่านและคลี่ใบผักถูไปมานาน 2 นาที
  2. แช่ในน้ำผสมน้ำส้มสายชูร้อยละ 5 ในอัตราส่วนน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 15 นาที จากนั้น ล้างด้วยน้ำสะอาด
  3. แช่ในโซเดียมไบคาร์บอเนต (เบกกิ้งโซดา) ในอัตราส่วนครึ่งช้อนโต๊ะผสมน้ำ 10 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15 นาที จากนั้น ล้างด้วยน้ำสะอาด (วิธีนี้เหมาะสำหรับการล้างผักจำนวนมาก)

พร้อมแนะนำให้ประชาชนบริโภคผลไม้อย่างหลากหลาย และเลือกผลไม้ตามฤดูกาล เช่น ฝรั่ง ส้มโอ ส้มเขียวหวาน มะละกอ และกล้วยน้ำว้า เพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน

อ่านข่าวอื่น :

กินได้ "องุ่นไชน์มัสแคท" อย.แนะล้างให้ถูกวิธีเพื่อลดสารตกค้าง

องุ่นไชน์มัสแคทพบ "คลอร์ไพริฟอส" บางตัวอย่าง 50 พิษตกค้าง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง