ภาพชายถือต้นพืชที่มีลักษณะรากยาวสูงท่วมหัว ถูกนำมาโพสต์ว่าเป็นหญ้าแฝกอีกครั้ง หลังจากเพจเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า "คนไทย 70 ล้านคน" ได้มีการนำภาพของต้นพืชรากยาวมาโพสต์ แต่กลับระบุข้อความว่า "นี่คือหญ้าแฝกค่ะ รากของมันยาวลึกประมาณ 1.5-3.0 เมตร ไม่แผ่ขยายออกด้านข้าง คุณสมบัติ ช่วยยึดดินไม่ให้พังทลาย อุ้มน้ำได้ดี ปลูกริมสระเหมาะมาก ๆ"

หลังจากโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ทำให้มีผู้เข้ามากดถูกใจถึงกว่า 11,000 คน มียอดแชร์อีกถึง 805 ครั้ง และมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นอีกว่า 300 คน
ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์จำนวนหนึ่งแสดงความคิดเห็น โดยเข้าใจว่าต้นพืชชนิดนี้คือหญ้าแฝก
"สุดยอดนะหญ้าแฝก"
"หญ้าแฝกรักษาหน้าดิน"
"พืชมหัศจรรย์"

จากการตรวจสอบด้วยภาพดังกล่าว Thai PBS Verify พบว่า ภาพดังกล่าวมาจากเว็บไซต์ CSA News ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่นำเสนอไฮไลท์การวิจัย ข่าวสาร นโยบายด้านวิทยาศาสตร์ และข่าวสารการประชุม ตลอดจนข้อมูลด้านอาชีพและการศึกษา ที่ได้ลงข้อมูลของต้นข้าวสาลี "เคิร์นซา" ไว้ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2559 โดยระบุประโยชน์ของพืชชนิดนี้ไว้ว่า "เคิร์นซา" ถือเป็นพืชยืนต้นที่ช่วยลดการกัดเซาะดินที่เกิดจากการทำไร่ประจำปีได้ โดยการทำลายวงจรการไถ-ปลูก-เก็บเกี่ยวซ้ำ ๆ ของพืชประจำปี และรากที่ลึกของพวกมันช่วยทำให้ดินมีความเสถียร ใช้ปัจจัยการผลิตน้อยลง เนื่องจากรากของพวกมันสามารถใช้น้ำและสารอาหารได้ลึกกว่าพืชประจำปีมาก ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้พืชยืนต้นทนต่อความแห้งแล้งได้ดีกว่าเท่านั้น แต่ยังช่วยลดมลพิษจากการชะล้าง และลดการพึ่งพาอุปกรณ์ฟาร์มที่เผาเชื้อเพลิงฟอสซิลอีกด้วย


นอกจากนี้ยังพบโพสต์ภาพเดียวกันในเว็บไซต์อื่น ๆ ที่ให้ข้อมูลของข้าวสาลี สายพันธุ์ เคิร์นซา อีกด้วย

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า เป็นเรื่องที่เคยอธิบายมาแล้วหนึ่งครั้ง สำหรับรูปชายชาวต่างชาติกำลังยืนชูพืชชนิดหนึ่งมีลักษณะการขึ้นเติบโตแบบกอและมีใบเรียวยาวสีเขียวแถมมีรากยาว โดยระบุกันว่าเป็น 'หญ้าแฝก' ทว่าแท้จริงแล้วไม่ใช่อย่างที่เข้าใจกัน
รศ.ดร.เจษฎา ได้ให้ความรู้ถึงต้นพืชดังกล่าว คือ พืชตระกลูข้าวสาลีที่มีชื่อเรียกว่า "เคิร์นซา" ถือเป็นต้นข้าวสาลี (wheatgrass) ที่ชื่อว่า Kernza เคิร์นซา (ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Thinopyrum intermedium) เป็นหนึ่งในพืชมีประโยชน์ต่อสุขภาพของดินและจุลินทรีย์ในดิน (ลิงก์บันทึก)

ฝรั่งที่เห็นในรูปนั้น ชื่อว่า “Jerry Glover” เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านดิน กำลังโชว์ต้นข้าวสาลี wheatgrass ที่ชื่อว่า ‘Kernza เคิร์นซา’ ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า : Thinopyrum intermedium โดยสามารถงอกรากแทงลงดินได้ลึกมาก และสามารถช่วยปรับปรุงคุณภาพดิน ลดการกัดเซาะดินได้ในทำนองเดียวกับหญ้าแฝก (ลิงก์บันทึก)
แถมต้นข้าวสาลีเคิร์นซานี่ยังเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตได้ทั้งปี เป็นเวลาหลายปี ไม่ใช่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวได้แค่ฤดูเดียวเหมือนธัญญพืชอื่น ๆ ซึ่งดีต่อทั้งในแง่ของผลผลิตที่จะได้รับ และต่อสุขภาพของดิน รวมถึงจุลินทรีย์ในดิน ซึ่งตามรูปที่เห็นเป็นการแสดงให้ดูข้าวสาลีเคิร์นซาจะมีรากยาวลึกลงไปได้เรื่อย ๆ เนื่องจากมันปลูกได้ต่อเนื่องแม้จะเก็บเกี่ยวแล้ว ขณะที่พันธุ์ข้าวอื่น ๆ ซึ่งปลูกแบบรายปี จะมีรากสั้นกว่ามาก
นอกจากนี้ ‘ขนมปัง’ จากข้าวสาลีเคิร์นซา ยังนับได้ว่าเป็น "อาหารแห่งอนาคต" 1 ใน 5 อย่าง คือ ขนมปังแท่งจากแป้งจิ้งหรีด / ขนมปังเคิร์นซา / เบอร์เกอร์จากพืช / น้ำมันสาหร่าย / นักเก็ตไก่สุดคลีน เนื่องจากการเพาะปลูกต้นเคิร์นซานั้น สร้างผลดีต่อสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าข้าวสาลี จากการที่รากอันฝังลึกของมันสามารถเก็บคาร์บอนไว้ในดินได้มากกว่าข้าวสาลี ขณะที่ผลผลิตก็สามารถจะถูกนำมาใช้อบขนมหรือทำเบียร์ได้ด้วย