ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ภาพปลอม ! ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์พบกันที่ขอบฟ้า อธิบายตามหลักดาราศาสตร์


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

24 ก.พ. 68

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

ภาพปลอม ! ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์พบกันที่ขอบฟ้า อธิบายตามหลักดาราศาสตร์

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2365

ภาพปลอม ! ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์พบกันที่ขอบฟ้า อธิบายตามหลักดาราศาสตร์
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

จากกระแสในโลกออนไลน์ที่เห็นอยู่เรื่อย ๆ ถึงภาพปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่ “ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์พบกันที่ขอบฟ้า” นั้น (โพสต์โดยเฟซบุ๊ก นาคราชจ้าว สิทธิธรรม มียอดถูกใจกว่า 1.1 หมื่นครั้ง ยอดแชร์กว่า 1.4 พันครั้ง) Thai PBS Sci & Tech และ Thai PBS Verify ขอร่วมยืนยันว่าภาพดังกล่าวไม่ใช่ภาพจริงแต่อย่างใด เนื่องจากไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงตามหลักดาราศาสตร์ ลองมาดูกันว่าเพราะอะไร อธิบายด้วย 6 ข้อ ให้พวกเราได้ความรู้ไปพินิจพิเคราะห์ไม่ตกเป็นเหยื่อภาพปลอม

ภาพดวงอาทิตย์และดวงจันทร์พบกันที่ขอบฟ้า ภาพจาก เฟซบุ๊ก นาคราชจ้าว สิทธิธรรม

เรื่องภาพดังกล่าว NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ให้ความรู้ว่า

     1. ดวงจันทร์ไม่มีแสงในตัวเอง ที่เราเห็นดวงจันทร์สว่างได้นั้นเป็นเพราะแสงจากดวงอาทิตย์ที่ส่องไป ดังนั้น เมื่อใดที่ดวงจันทร์ปรากฏสว่างมาก หรือเป็นดวงจันทร์เต็มดวง หมายความว่าดวงจันทร์ควรจะอยู่ “ด้านตรงข้าม” กับดวงอาทิตย์ ซึ่งจะทำให้พื้นที่ส่วนมากบนดวงจันทร์ได้รับแสงอาทิตย์ และปรากฏสว่าง

     2. ในทางกลับกัน ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์สามารถตกลับขอบฟ้าพร้อม ๆ กันได้ ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด แต่นั่นหมายความว่า ดวงจันทร์ควรจะปรากฏเป็นเสี้ยวบางมาก ๆ หรือไม่ปรากฏแสงใด เพราะมีมุมห่างจากดวงอาทิตย์ไม่มาก

     3. นอกจากนี้ ประเทศไทยมีตำแหน่งที่ตั้งใกล้เส้นศูนย์สูตร ดังนั้น “เส้นสุริยวิถี” (เส้นทางการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์บนฟ้า รวมถึงดวงจันทร์ และดาวเคราะห์อื่น ๆ ในระบบสุริยะ) จะทำมุมเกือบตั้งฉากกับขอบฟ้า จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเห็นดวงจันทร์ขนานกับดวงอาทิตย์ตามแนวขอบฟ้า

     4. สิ่งที่ทำให้ผู้คนเชื่อว่าเหตุการณ์ในภาพเกิดขึ้นจริงได้ อาจเป็นเพราะคนมักเข้าใจผิดว่าดวงจันทร์ในตอนกลางคืน จะต้องขึ้นหลังจากดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าเท่านั้น ทั้งที่ความจริงเราสามารถมองเห็นดวงจันทร์ตอนกลางวันได้เช่นกัน

     5. หรือหากจะบอกว่าที่เห็นในภาพนี้ คือดวงจันทร์กำลังขึ้นจากขอบฟ้า ในขณะที่ดวงอาทิตย์กำลังตกลับขอบฟ้า ก็เป็นไปไม่ได้เช่นกัน วัตถุทั้งสองมีทิศทางการเคลื่อนที่บนท้องฟ้าที่สอดคล้องกัน เราจะเห็นวัตถุทั้งสองไล่ตามกันเสมอ หากอยู่ในมุมทิศใกล้กันเช่นนี้จะสวนทางกันไม่ได้ หากเราจะเห็นว่าดวงหนึ่งกำลังขึ้นจากขอบฟ้า และดวงหนึ่งกำลังตกลับขอบฟ้า ทั้งสองจะต้องอยู่ทำมุมกัน 180 องศา หรืออยู่ตรงข้ามกัน หรือก็คือวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงนั่นเอง

     6. ภาพนี้เคยเป็นกระแสในประเทศไทยมาแล้วครั้งหนึ่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี พ.ศ. 2567 โดยระบุว่าเป็นภาพปรากฏการณ์ดาราศาสตร์อันน่าเหลือเชื่อจากชายหาดที่อาร์เจนตินา ต่อมาภาพนี้ก็ยังคงถูกเผยแพร่อยู่เรื่อย ๆ แม้จะมีนักวิทยาศาสตร์ชี้แจงหลายครั้งแล้วว่าไม่ใช่ความจริง จนล่าสุดในครั้งนี้ระบุว่าเป็นภาพถ่ายจากหาดป่าตอง

สรุป :

ปรากฏการณ์ “ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์พบกันที่ขอบฟ้า” ในภาพนี้ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง ในกรณีที่ดวงจันทร์ตกลับขอบฟ้าพร้อม ๆ กับดวงอาทิตย์นั้น ควรจะเป็นดวงจันทร์ที่ปรากฏเป็นเสี้ยวบาง หรือดวงจันทร์ดับเท่านั้น หากเป็นดวงจันทร์ที่เสี้ยวใหญ่หรือเต็มดวง ควรจะอยู่ด้านตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ นอกจากนี้ ภาพดังกล่าวยังถูกเผยแพร่ซ้ำมาหลายครั้งแล้ว และไม่ใช่ภาพหาดป่าตอง จ. ภูเก็ต

ภาพดวงอาทิตย์และดวงจันทร์พบกันที่ขอบฟ้า ภาพจาก เฟซบุ๊ก นาคราชจ้าว สิทธิธรรม

ขณะที่สมาคมดาราศาสตร์ไทยให้ความรู้ในเรื่อง ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์มีโอกาสอยู่ที่ขอบฟ้าพร้อมกันนั้น สามารถเกิดขึ้นได้จริง และเกิดขึ้นค่อนข้างบ่อยเสียด้วย มีสองกรณีคือ

     1. ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ขึ้นหรือลับขอบฟ้าพร้อมกัน เกิดขึ้นในวันจันทร์ดับเท่านั้น ซึ่งหมายถึงดวงจันทร์มีตำแหน่งปรากฏอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มาก ช่วงนี้ส่วนสว่างบนดวงจันทร์แคบมากและถูกแสงอาทิตย์กลบหมด ดังนั้น แม้ดวงจันทร์จะขึ้นหรือตกพร้อมดวงอาทิตย์ แต่ก็ไม่มีใครมองเห็นดวงจันทร์ในเวลาดังกล่าว เห็นเพียงดวงอาทิตย์เท่านั้น

     2. ดวงหนึ่งเพิ่งขึ้นส่วนอีกดวงหนึ่งกำลังจะตก เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์และดวงจันทร์อยู่ตรงข้ามกันพอดี ซึ่งวันที่เกิดเงื่อนไขนี้คือวันจันทร์เพ็ญ ในกรณีเช่นนี้ ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์จะอยู่ห่างกันมาก (180 องศาหรือเกือบ 180 องศา) จนยากจะถ่ายภาพให้ติดในเฟรมเดียวกันด้วยกล้องธรรมดา ต้องถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้างพิเศษที่เรียกว่าเลนส์ตาปลา หรืออาจเป็นการถ่ายภาพแบบพานอรามา

แต่ภาพถ่ายนี้ไม่ใช่ทั้งสองกรณี

      - ไม่ใช่กรณีที่ 1 เพราะมีแสงจากทั้งสองจุด ดวงจันทร์ไม่มีทางมองเห็นได้ในกรณีนี้ 
      - ไม่ใช่กรณีที่ 2 เพราะภาพนี้ไม่ใช่ภาพถ่ายมุมกว้าง จุดแสงทั้งสองก็อยู่ห่างกันไม่มาก เทียบกับขนาดของดวงอาทิตย์แล้ว จุดแสงทั้งสองอยู่ห่างกันราว 12 องศาเท่านั้น

หรือว่าภาพนี้เป็นภาพตัดต่อ ?

ภาพนี้มีคุณภาพต่ำเกินกว่าจะใช้วิเคราะห์ได้ว่าเป็นภาพตัดต่อหรือไม่ อย่างไรก็ตาม มีจุดสังเกตอื่นที่สำคัญกว่าการไปมองว่าเป็นภาพตัดต่อหรือไม่ตัดต่อ นั่นคือ จุดแสงทางซ้ายสว่างเกินกว่าจะเป็นดวงจันทร์ น่าจะเป็นอย่างอื่นมากกว่า ริมทะเลมีแหล่งกำเนิดแสงมากมายนอกจากดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ เช่น ประภาคาร หรือแสงสะท้อนอาคารริมหาดที่อยู่ห่างไกล ฉะนั้น ภาพนี้อาจเป็นภาพจริงไม่มีการตัดต่อก็ได้ แต่จุดสว่างทางซ้ายไม่ใช่ดวงจันทร์

บทสรุป

ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์มีโอกาสอยู่ที่ขอบฟ้าพร้อมกันได้จริง แต่ภาพนี้ไม่ใช่ดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ เป็นภาพดวงอาทิตย์กับสิ่งอื่น ซึ่งอาจเป็นเรือหรือประภาคารหรือสิ่งอื่นก็ได้


📌อ่าน : สายดูหนังโปรดระวัง ! ลิงก์ปลอม Netflix หลอกขโมยข้อมูล

📌อ่าน : 6 ทริกป้องกันหลอกโหลด “แอปฯ เงินกู้ปลอม”

📌อ่าน : เตือนภัย ! 5 ภัยออนไลน์ วายร้ายทำลายเด็ก ที่ผู้ปกครองต้องตรวจสอบ

📌อ่าน : ทาสหมา - ทาสแมวระวัง ! อาจโดนหลอกซื้อภาพสัตว์เลี้ยง

📌อ่าน : ตำรวจ “วิดีโอคอล” ให้ “โอนเงิน” มาตรวจสอบ มิจฉาชีพแน่นอน

📌อ่าน : เตือนภัย ! “มิจฉาชีพ” หลอกลวงทาง TikTok จำไว้..ตำรวจไม่รับแจ้งความทาง TikTok

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.), สมาคมดาราศาสตร์ไทย

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ภาพปลอมรูปปลอมดวงอาทิตย์และดวงจันทร์พบกันที่ขอบฟ้าหาดป่าตองดาราศาสตร์หลักดาราศาสตร์หลอกลวงThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Thai PBS Verify
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เซบา บาสตี้ : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphob.thawisoonsong@gmail.com หรือ 0854129703)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด