หลายปีมานี้ การเขียนบันทึกอารมณ์ความรู้สึก หรือที่เรียกว่า การเขียน Journal กลายเป็นกิจกรรมและเครื่องมือฮีลใจที่กลับมานิยมในคนยุคใหม่ ในวันนี้ เราจะพามาทำความรู้จักกับบันทึก Journal ในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่ต้องใช้สกิลการเขียน แต่ใช้แค่ “เศษขยะ” ในการบอกเล่าเรื่องราว ที่นอกจากจะช่วย ฮีลใจแล้ว ยังส่งเสริมสมาธิอีกด้วย
“สมุดบันทึกขยะ” (Junk Journal) จัดเป็น หนังสือทำมือ (Handmade Book) ประเภทหนึ่ง ที่ทำขึ้นจากเศษวัสดุเหลือใช้ต่าง ๆ ตั้งแต่ใบเสร็จ, รูปถ่าย, หน้าหนังสือเก่า, ตั๋วหนัง, ตั๋วรถเมล์, ยันซองขนม, นำมารวบรวม, ตัดแปะ, คอลลาจ (Collage) จนได้เป็นสมุดบันทึกขนาดพกพาที่ภายในผสมผสานระหว่างความเป็นสมุดภาพ (Scrapbook) และงานศิลปะที่สะท้อนตัวตนเจ้าของ
แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นสมุดบันทึก แต่การทำ Junk Journal คล้ายกับการทำงานศิลปะ ตรงที่ไม่มีถูกผิด ไม่มีกฎเกณฑ์ และไม่ต้องทำทุกวัน เพราะหัวใจสำคัญของการทำ Junk Journal มีหลักการง่าย ๆ คือแค่สนุกไปกับมัน และปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ออกมาอย่างเต็มที่
จุดเริ่มต้นของการตัดแปะ
การเก็บรวบรวมเศษวัสดุหรือสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ มาตัดแปะลงสมุดบันทึกเกิดขึ้นมานานแล้ว โดยสามารถย้อนกลับไปได้ถึงสมัยศตวรรษที่ 19 ยุโรปได้มีการพัฒนาเทคโลยีการพิมพ์ใหม่ ๆ ที่ช่วยให้ผลิตสิ่งพิมพ์ต่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น แท่นพิมพ์พลังไอน้ำ การทำแป้นพิมพ์โลหะ และการพิมพ์แบบออฟเซ็ต (Offset Printing)
ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้การผลิตหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว โดยในระหว่างปี ค.ศ. 1835 - ค.ศ 1862 มีจำนวนหนังสือพิมพ์เพิ่มขึ้นเป็น 78 ล้านฉบับ จาก 16 ล้านฉบับในปี ค.ศ. 1801
ซึ่งในยุคที่เต็มไปด้วยหนังสือพิมพ์ และนิตยสารหลายพันฉบับให้เลือกอ่านทุกวัน การเก็บหนังสือพิมพ์และนิตยสารไว้อ่านซ้ำจึงกลายเป็นภาระ และสร้างความรกกับที่อยู่อาศัย ผู้คนจึงใช้วิธีการตัดแปะเนื้อหาข่าวบางส่วนลงสมุดบันทึกส่วนตัว แทนการเก็บไว้ทั้งฉบับ ซึ่งยังรวมไปถึงสิ่งพิมพ์อื่น ๆ เช่น ภาพถ่าย ภาพพิมพ์ นามบัตร หรือของสะสมต่าง ๆ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการทำ “สมุดบันทึกภาพ” (Scrapbook) นั่นเอง
ปุ่มรีทวิตที่มาก่อนกาล
การตัดแปะหนังสือพิมพ์ของคนในยุคก่อนจึงเป็นมากกว่าแค่การเก็บไว้อ่านทีหลัง แต่ยังสะท้อนถึงวิวัฒนาการการเก็บรักษาและแบ่งปันข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
เอลเลน กรูเบอร์ การ์วีย์ (Ellen Gruber Garvey) ผู้เขียนหนังสือ Writing With Scissors, an erudite history of scrapbooks. กล่าวกับ Smithsonian ไว้ว่า การตัดแปะกระดาษเก็บไว้ดูภายหลังของคนในยุคก่อน ก็ไม่ต่างอะไรกับการกดปุ่ม “รีทวิต” (Retweet) หรือ การกด “บุ๊กมาร์ก” (ฺBookmark) ข้อความ ข่าวสาร หรือสิ่งที่น่าสนใจ ที่คิดว่าอยากกลับมาอ่านซ้ำของคนยุคปัจจุบัน
การมาถึงของยุคดิจิทัลที่การจัดเก็บข้อมูลส่วนใหญ่ทำผ่านแป้นพิมพ์ การทำสมุดภาพจึงเปลี่ยนบทบาทมาเป็นงานอดิเรกของผู้คนที่เริ่มโหยหาการทำกิจกรรมที่ทำให้ "ชีวิตช้าลง" ได้ใช้เวลาเลือกสรรวัสดุ ตัดแปะ ตกแต่งสมุดด้วยตัวเอง สร้างความรู้สึกผ่อนคลายจิตใจ
ฮีลใจง่าย ๆ ด้วยเศษขยะรอบตัว
มากกว่าการบันทึกความทรงจำ การทำสมุดบันทึกขยะยังมีประโยช์อีกหลายด้านอย่างที่เรานึกไม่ถึง
1.สื่อแทนความทรงจำ เศษวัสดุแต่ละชิ้นไม่ว่าจะเป็นตั๋วภาพยนตร์ บัตรคอนเสิร์ต ห่อขนม ล้วนเชื่อมโยงกับช่วงเวลาหรือเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น สามารถกระตุ้นความทรงจำเก่า ๆ เมื่อกลับมาเปิดดูอีกครั้ง
2.สร้างสมาธิ ลดความเครียด การได้สัมผัสกับเศษวัสดุต่าง ๆ ทั้งจากการตัด จัดวาง หรือการเลือกสรรวัสดุ จะช่วยดึงความสนใจของคุณให้จดจ่ออยู่กับปัจจุบัน และเบี่ยงเบนจากความเครียดและความวิตกกังวลต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น
3.พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ การทำสมุดบันทึกขยะ อาศัยเทคนิคทางศิลปะขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น การตัดแปะ วาดภาพ การเลือกใช้สี ไปจนถึงจัดองค์ประกอบให้สวยงาม ซึ่งเป็นทักษะหนึ่งของการออกแบบ
4. ฝึกชื่นชมกับสิ่งเล็ก ๆ รอบตัว การทำสมุดบันทึกขยะเป็นการนำสิ่งที่โดยปกติจะถูกทิ้งลงขยะ หรือสิ่งที่เรามองข้าม กลับมาทำให้มีคุณค่าอีกครั้ง ซึ่งเป็นการฝึกการเห็นคุณค่าของสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ รอบตัว นำใช้มาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ใหม่อีกครั้ง
5.ค้นพบตัวตน สมุดบันทึกขยะเปรียบเหมือนเป็นพื้นที่เล็ก ๆ ที่เปิดโอกาสให้เราเป็นตัวเองได้เต็มที่ นอกจากนี้ยังสะท้อนถึงรสนิยมและความสนใจเจ้าของผ่านการเลือกสรรวัสดุสิ่งของที่ใช้
6.ลดขยะ ในบางครั้งการทำสมุดบันทึกก็ช่วยให้เราตระหนักถึงปริมาณขยะที่เราสร้างขึ้น และเห็นคุณค่าของวัสดุเหลือใช้มากขึ้น โดยสามารถเปลี่ยนขยะเหล่านี้มาเป็นสิ่งของที่มีคุณค่าทางใจ โดยแทบไม่เสียค่าใช้จ่ายมากมาย
อยากเริ่มทำ Junk Journal เริ่มอย่างไรดี ?
- เก็บรวบรวมวัสดุ เก็บรวบรวมเศษวัสดุต่าง ๆ ที่ต้องการแปะลงในสมุด โดยสิ่งที่ขาดไม่ได้คืออุปกรณ์ทำงานศิลปะพื้นฐาน และ “สมุดโน๊ตเปล่า” ที่มีกระดาษหนา สามารถรองรับการติดกาวได้โดยไม่ฉีกขาดง่าย
- กำหนดสิ่งต้องการบันทึก กำหนดสิ่งที่ต้องการบันทึก อาจเป็นการบอกเล่าถึงสิ่งที่พบเจอในชีวิตประจำวัน ,ภาพยนตร์ที่ประทับใจ หรือเมนูอาหารที่ได้ทานในวันนั้น
- เริ่มสร้างสรรค์ นำวัสดุต่าง ๆ ที่เตรียมไว้มาตัดแปะลงสมุดตามชอบ อาจเพิ่มเทคนิคทางศิลปะอย่างการคอลลาจ การวาดภาพ ระบายสี เข้ามาเพื่อให้บันทึกน่าสนใจมากขึ้น
- ลองผิดลองถูกและสนุกไปกับมัน อย่าลืมว่าไม่มีวิธีที่ถูกหรือผิดในการทำบันทึกขยะ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือปลดปล่อยความรู้สึก และปล่อยใจไปกับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ
Junk Journal ไม่ใช่แค่เพียงสมุดบันทึกความทรงจำ แต่เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่ช่วยให้เราได้แสดงตัวตน และปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ไปพร้อมกับการฮีลใจจากเศษขยะ
หากคุณกำลังมองหากิจกรรมที่ช่วยให้จิตใจสงบ ฝึกสมาธิ และยังช่วยโลกไปในตัว ลองให้ Junk Journal เป็นเครื่องมือของคุณ แล้วคุณอาจค้นพบมุมมองใหม่ ๆ ที่ซ่อนอยู่ในเศษกระดาษเหล่านั้น
ที่มา :