ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

น้ำท่วมทิพย์ ! ยันแล้ว "วัดพระแก้ว" ภาพเก่าปี 57-58


Verify

25 ต.ค. 67

ณัฐพล ทุมมา

Logo Thai PBS
แชร์

น้ำท่วมทิพย์ ! ยันแล้ว "วัดพระแก้ว" ภาพเก่าปี 57-58

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1783

น้ำท่วมทิพย์ ! ยันแล้ว "วัดพระแก้ว" ภาพเก่าปี 57-58
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

หลังฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลันในย่านเมืองเก่าของกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทยได้แชร์ภาพเก่าที่แสดงเหตุการณ์น้ำท่วมภายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือ 'วัดพระแก้ว' พร้อมคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดว่า นี่เป็นภาพเหตุการณ์ในเดือนตุลาคม 2567 อย่างไรก็ตาม ภาพเหล่านี้ถูกเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2557 และ 2558 ในขณะเดียวกัน กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยืนยันว่า มีรายงานเหตุน้ำท่วมในเขตพระนครจริงเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 โดยน้ำระบายออกจากพื้นที่จนแห้งภายในเวลาหนึ่งชั่วโมง

"ปล่อยให้ท่วม ในเกาะรัตนโกสินทร์เหมือนจงใจป่าววะ" ผู้ใช้งาน X เขียนคำบรรยายในโพสต์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567

โพสต์ดังกล่าวแชร์ภาพที่เผยให้เห็นนักท่องเที่ยวสวมชุดกันฝนภายในวัดพระแก้วที่น้ำท่วม โพสต์ดังกล่าวถูกรีโพสต์กว่า 300 ครั้งก่อนจะถูกลบออกไป

ในวันเดียวกัน โพสต์เฟซบุ๊กโพสต์หนึ่งได้แชร์คำกล่าวอ้างในลักษณะเดียวกัน โดยแชร์ภาพถ่ายอีกภาพที่แสดงให้เห็นนักท่องเที่ยวกางร่มและสวมชุดกันฝนภายในวัดพระแก้วที่น้ำท่วม

คำบรรยายภาพระบุว่า "วันนี้ (23 ต.ค.) เมื่อเวลา 14.12 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเกิดฝนตกหนักตั้งแต่ช่วงบ่าย ทำให้ระบายน้ำไม่ทัน ส่งผลให้ขณะนี้เกิดน้ำท่วมขังในวัดพระแก้ว และบริเวณโดยรอบ ระดับน้ำสูงประมาณ 15 ซม. ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างเร่งระบายน้ำออก"

ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิด

ภาพถ่ายทั้งสองภาพยังถูกแชร์ในบริบทที่ทำให้เข้าใจผิดในโพสต์อื่น ๆ เช่นที่นี่ และ นี่

โพสต์เหล่านี้ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์หลังเกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมในเขตพระนครเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 โดยสำนักงานเขตพระนคร และ สำนักข่าวเดอะสแตนดาร์ด ได้เผยแพร่ภาพถ่ายจากเหตุน้ำท่วมในพื้นที่ดังกล่าว (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมว่า เกิดเหตุน้ำท่วมในวัดพระแก้วและพื้นที่ใกล้เคียง หลังฝนตกหนักต่อเนื่องในช่วงบ่ายวันที่ 22 ตุลาคม อย่างไรก็ตาม กทม. ชี้แจงว่ามีการระบายน้ำออกจนแห้งภายในหนึ่งชั่วโมง

"น้ำใช้เวลารอการระบายประมาณ 1 ชั่วโมง จึงแห้งไป ซึ่งปริมาณฝนรวมที่สำนักเขตพระนครอยู่ที่ 100 มิลลิเมตร" เจ้าหน้าที่กทม. กล่าว

นอกจากนี้ ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์บางรายยังอ้างในบางโพสต์ว่าวัดพระแก้ว "ไม่เคย" ถูกน้ำท่วมมาก่อน ซึ่งไม่เป็นความจริง

AFP ได้ถ่ายภาพน้ำท่วมวัดพระแก้วในปี 2554 จำนวนหลายภาพ เช่นที่นี่ และ นี่

อย่างไรก็ตาม ภาพทั้งสองภาพที่ถูกแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์นั้นเป็นภาพเก่าที่ถูกถ่ายไว้ตั้งแต่ปี 2557 และ 2558

ภาพน้ำท่วมเก่า

AFP ได้ใช้การค้น

หาภาพแบบย้อนหลังในกูเกิล และพบว่าภาพแรกนั้นปรากฏในรายงานข่าวของสำนักข่าวไทยรัฐเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2558 (ลิงก์บันทึก)

พาดหัวของรายงานเขียนว่า "ฝนเทระบายไม่ทัน น้ำท่วมวัดพระแก้ว เปิดเข้าชมปกติ"

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) กับภาพต้นฉบับในบทความของไทยรัฐเมื่อเดือนตุลาคม 2558 (ขวา):

เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) กับภาพต้นฉบับในบทความของไทยรัฐเมื่อเดือนตุลาคม 2558 (ขวา)

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 กรุงเทพมหานครได้แถลงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่า ภาพดังกล่าวเป็นข่าว "เก่า" จากปี 2558 และขอความร่วมมือประชาชนหลีกเลี่ยงการแชร์ภาพดังกล่าวในบริบทอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด (ลิงก์บันทึก)

ส่วนภาพที่สองนั้นเป็นภาพถ่ายของโกวิทย์ บุญธรรม ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวไทยพีบีเอส ซึ่งแชร์ภาพถ่ายดังกล่าวไว้ในบัญชี X ของเขาเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2557 (ลิงก์บันทึก)

โกวิทย์เขียนคำบรรยายประกอบภาพว่า "14.12น. วัดพระแก้วน้ำท่วม หลังฝนตกหนัก"

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) กับโพสต์ X ของโกวิทย์ในเดือนตุลาคม 2557 (ขวา):

เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) กับโพสต์ X ของโกวิทย์ในเดือนตุลาคม 2557 (ขวา)

โกวิทย์ยืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ว่า เขาถ่ายภาพดังกล่าวไว้ตั้งแต่ปี 2558 ก่อนภาพจะถูกนำไปแชร์ต่อพร้อมคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิด

"ภาพผมถ่ายเอง เป็นภาพนานแล้ว จำได้ว่าเป็นฝนตกหนัก น้ำระบายไม่ทัน" โกวิทย์กล่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวปลอมคลิปตัดต่อตรวจสอบภาพหลอกลวงโดนหลอกน้ำท่วมน้ำท่วม กทม.สถานการณ์น้ำท่วม
ณัฐพล ทุมมา
ผู้เขียน: ณัฐพล ทุมมา

จากทหารถือปืน เปลี่ยนมาเป็นนักข่าวถือไมค์ สู่การเป็นนักเขียนถือปากกา

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด