YouTube Shopping โปรแกรม Affiliate ในไทย ประเทศที่ 4 ของโลก เปิดให้ครีเอเตอร์รับค่าคอมมิชชันเมื่อผู้ชมซื้อสินค้า
YouTube เปิดตัวโปรแกรม Affiliate ในไทย ประเทศที่ 4 ของโลกอย่างเป็นทางการ ต่อจากประเทศสหรัฐอเมริกา เกาหลี และอินโดนีเซีย โดยมีชื่อว่า “YouTube Shopping” ช่วยให้ครีเอเตอร์สามารถรับค่าคอมมิชชันเมื่อผู้ชมซื้อสินค้าที่แนะนำ
ครีเอเตอร์ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์สามารถเข้าร่วมโปรแกรม Affiliate “YouTube Shopping” เพื่อรับค่าคอมมิชชัน จากการติดแท็กสินค้าที่วางจำหน่ายบน Shopee ในวิดีโอ
เกณฑ์ของครีเอเตอร์ที่จะสมัคร “YouTube Shopping”
- ครีเอเตอร์ที่จะเปิดใช้คุณสมบัติ “YouTube Shopping” จะต้องอยู่ใน YouTube Partner Program (YPP)
- ช่องมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์จำนวนผู้ติดตามสำหรับ YPP หรือเป็นช่องอย่างเป็นทางการของศิลปิน
ช่อง YouTube มียอด Subscribers 1,000 คน (ที่มียอดการรับชมแบบสาธารณะที่ผ่านเกณฑ์ 4,000 ชั่วโมงในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา) หรือ ที่มียอดการรับชม Shorts สาธารณะที่ผ่านเกณฑ์ 10 ล้านครั้งในช่วง 90 วันที่ผ่านมา
( อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม - https://support.google.com/youtube/answer/72851 ) - ช่องไม่ได้รับการแจ้งเตือนการละเมิดหลักเกณฑ์ของชุมชนเกี่ยวกับการสร้างความเกลียดชัง
- “YouTube Shopping” เปิดให้ใช้เฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย อินเดีย ไทย หรือเวียดนาม
- ไม่เป็นช่องดนตรี หรือช่อง Official Artist Channel หรืออื่น ๆ
- ไม่ได้กำหนดผู้ชมของช่องเป็นสร้างมาเพื่อเด็ก และช่องไม่ได้มีวิดีโอจำนวนมากที่กำหนดเป็นสร้างมาเพื่อเด็ก
( อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม - https://support.google.com/youtube/answer/12257682 )
เมื่อยืนยันแล้วว่าช่องมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์การมีสิทธิ์ จึงจะเชื่อมต่อร้านค้าเพื่อเปิดใช้งานคุณสมบัติ Shopping ในช่องได้
คุณสมบัติของ “YouTube Shopping”
- ร้านค้าของช่อง
- ผลิตภัณฑ์จากร้านค้าที่เชื่อมต่อไว้ในคำอธิบายและชั้นวางผลิตภัณฑ์
- ผลิตภัณฑ์ที่ติดแท็กในวิดีโอ ไลฟ์สด และ Shorts
อย่างไรก็ตาม “YouTube Shopping” ถือเป็นอีกช่องทางสร้างรายได้จากที่มีอยู่แล้วบน YouTube เช่น รายได้จากโฆษณา, รายได้จาก YouTube Premium, การเป็นสมาชิกของช่อง, Super Thanks, Super Chat และ Super Stickers
รู้จักโปรแกรม “Affiliate” ของ YouTube Shopping
Affiliate หรือ แอฟฟิลิเอต เป็นโปรแกรมที่เจ้าของสินค้าหรือบริการ สร้างขึ้นมาเพื่อให้ตัวแทนขายไปโปรโมตสินค้าหรือทำการตลาด ผ่านช่องทางของบุคคลนั้นเอง และเมื่อมีคนสนใจคลิกสั่งซื้อสินค้าเข้ามา ผ่าน Affiliate Link ซึ่งมีรหัสของผู้ขายติดอยู่ จากนั้นจะคำนวณค่าคอมมิชชันที่จะได้รับจากเงื่อนไขที่กำหนดไว้ และสามารถเบิกถอนเงินเพื่อโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารได้
สำหรับข้อดีของ Affiliate คือ ไม่จำเป็นต้องมีสินค้าและบริการ เนื่องจากครีเอเตอร์ ทำหน้าที่เป็นเพียง “ตัวกลาง” ที่หยิบสินค้ามาโปรโมต รีวิว หรือโฆษณา ด้วยวิธีการใด ๆ ที่ทำให้ผู้ชมคลิปเข้าชมและคลิกไปที่ Affiliate Link เพื่อสั่งออเดอร์สินค้า
ยกตัวอย่างแพลตฟอร์มที่ทำ Affiliate ไปแล้ว อย่างเช่น Amazon, TikTok, ClickBank, Shopee, Lazada และล่าสุดก็คือ “YouTube Shopping”
ที่มาข้อมูล : YouTube และ https://bit.ly/4f98A9I
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ ThaiPBSSciAndTech