ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เลี้ยง “แมว” ส่งผลต่อสุขภาพกาย - จิตอย่างไร ?


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

25 ต.ค. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

เลี้ยง “แมว” ส่งผลต่อสุขภาพกาย - จิตอย่างไร ?

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1779

เลี้ยง “แมว” ส่งผลต่อสุขภาพกาย - จิตอย่างไร ?
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

“แมว” (Cat) อยู่ร่วมกับมนุษย์มาเป็นเวลานับพันปี ซึ่งในยุคปัจจุบันผู้คนนิยมเลี้ยงประหนึ่งเป็นสมาชิกครอบครัวเลยทีเดียว เมื่อแมวอยู่กับเรามันสามารถส่งเสียงครางอย่างสบายใจ รวมถึงทำให้เราหัวเราะด้วยท่าทางแปลก ๆ ของมัน ซึ่งมีงานวิจัยหลายชิ้นเผยว่า การอยู่ร่วมกับแมวอาจส่งผลอย่างมากต่อสุขภาพกายและใจของเรา ซึ่งบางครั้งอาจส่งผลที่น่าประหลาดใจด้วย อย่างไรก็ตามการอยู่ร่วมกับแมวนั้นก็มีความเสี่ยงอยู่เช่นเดียวกัน

แมวอ้อน

ผลดีของการเลี้ยง “แมว”

“แมว” เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว

ผลการศึกษาวิจัยมากมายแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ที่อาศัยอยู่กับแมว (Cat) จะรู้สึกเหมือนเป็นญาติที่รัก อย่างเช่นการวิจัยของภาควิชาจิตวิทยาสังคม มหาวิทยาลัยโกรนิงเกน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเผยแพร่ใน International Journal of Environmental Research and Public Health ได้ทำการศึกษาเจ้าของแมว 1,800 ราย พบว่าครึ่งหนึ่งบอกว่าแมวของตนเป็นเหมือนสมาชิกในครอบครัว หนึ่งในสามคนมองว่าแมวของตนเป็นเด็กหรือเพื่อนที่ดีที่สุด และพบว่าแมวของตนซื่อสัตย์ คอยสนับสนุน เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ขณะที่การศึกษาโดยมหาวิทยาลัยเทนเนสซี น็อกซ์วิลล์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการพัฒนามาตรวัด “ความผูกพันในครอบครัว” โดยพบว่าแมว (Cat) มีความสำคัญในครอบครัวเช่นเดียวกับสุนัข ขณะที่แมวหลายตัวจะเลือกปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์มากกว่าอาหารหรือของเล่น ที่สำคัญพวกมันสามารถแยกแยะได้ว่าเราพูดคุยกับมันหรือคุยกับมนุษย์คนอื่น

“เลี้ยงแมว” ให้ความรู้สึกมีจุดมุ่งหมาย

การเลี้ยงแมว (Cat) จะทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยวจากสังคมน้อยลง ขณะที่เจ้าของแมวบางคนบอกว่าการ “ดูแลแมว” ทำให้พวกเขามีความสุขและมีเป้าหมายในชีวิตมากขึ้น นอกจากนี้ได้มีการศึกษาวิจัยหนึ่งซึ่งศึกษารูปแบบความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันระหว่างมนุษย์กับแมว โดยเป็นความสัมพันธ์แบบ “ห่างไกล” “สบาย ๆ” และ “พึ่งพากัน” พบว่า ผู้ที่มีความสัมพันธ์แบบพึ่งพากันหรือเหมือนเป็นเพื่อนกับแมวจะมีความผูกพันทางอารมณ์กับสัตว์เลี้ยงของตนมากกว่า

ชายหนุ่มนั่งเล่นกับแมว

“แมว” ส่งผลกับสุขภาพหัวใจของผู้เลี้ยง

จากงานวิจัยเผยแพร่ซึ่งใน National Institutes of Health (NIH) พบว่าผู้ที่เลี้ยงแมวหรือเคยเลี้ยงแมว (Cat) มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดน้อยกว่าคนที่ไม่ได้เลี้ยงแมว โดยการเป็นเจ้าของแมวยังเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกบางประการในจุลินทรีย์ในลำไส้โดยเฉพาะในผู้หญิง เช่น การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่ดีขึ้นและการอักเสบที่ลดลง เป็นต้น

“แมว” ช่วยดูแลสุขภาพจิต

ทั้งนี้การมีแมว (Cat) หรือสุนัขยังเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตที่ดีขึ้นด้วย สำหรับผู้ที่เป็น “โรคซึมเศร้า” การลูบหัวหรือเล่นกับแมวได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถบรรเทาอาการได้ (แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ประมาณ 2 ชั่วโมง ขณะที่ในระยะยาวยังศึกษาอยู่) โดยผู้ร่วมในการศึกษาท่านหนึ่งให้ข้อมูลว่า สัตว์เลี้ยงของตนเองคอยช่วยเหลือ แมวช่วยให้ผ่อนคลายเมื่อต้องเผชิญกับความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า หรือเมื่อต้องตื่นกลางดึกจากฝันร้ายบ่อย ๆ แมวไม่ใช่แค่สัตว์เลี้ยง แต่แมวเป็นส่วนหนึ่งของตนเอง และเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว

แมวกำลังนอนเล่น

ผลเสียที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเราเลี้ยง “แมว”

ผลเสียต่อสุขภาพจิต

ทั้งนี้ นอกจากผลดีแล้วการผูกพันกับแมว (Cat) อาจมีข้อเสียได้ เนื่องจากหากแมวป่วยภาระในการดูแลอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเรา ขณะที่การศึกษาซึ่งเจ้าของแมวเป็นโรคลมบ้าหมูพบว่า เจ้าของแมวประมาณหนึ่งในสามมีภาระการดูแลแมวที่อาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้

โรคท็อกโซพลาสโมซิส

แมว (Cat) สามารถแพร่โรคติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ เนื่องจากแมวเป็นพาหะหลักของโรคท็อกโซพลาสโมซิสซึ่งเป็นปรสิตที่ขับออกมาในอุจจาระของแมว โดยสามารถส่งผลต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นรวมถึงมนุษย์ได้ คนส่วนใหญ่อาจมีอาการไม่รุนแรง แต่การติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ เชื้ออาจแพร่ไปยังทารกในครรภ์จนส่งผลทำให้แท้งบุตรได้

อาการแพ้ “แมว”

ปัจจุบันมีผู้คนถึง 1 ใน 5 คนมีอาการแพ้แมว (Cat) และตัวเลขนี้ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเมื่อแมวเลียขนแล้วน้ำลายสะสมสารก่อภูมิแพ้ เมื่อขนและรังแค (สะเก็ดผิวหนัง) หลุดออก อาจทำให้คนเกิดอาการแพ้ได้นั่นเอง สำหรับผู้ที่ไม่มีอาการแพ้รุนแรงสามารถอยู่ร่วมกับแมวได้หากล้างมือ ทำความสะอาดพื้น รวมถึงดูดฝุ่นเป็นประจำ นอกจากนี้ การแยกแมวออกจากบริเวณที่ต้องการให้ปราศจากสารก่อภูมิแพ้ เช่น ห้องนอน ก็เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่เลี้ยงแมว หรือมีแมวในบ้าน

ทั้งนี้ แม้ว่า “แมว” อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ แต่ก็มีหลักฐานเช่นกันว่าการสัมผัสแมวสามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคหอบหืดและอาการแพ้ได้ เนื่องจากการสัมผัสอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเปลี่ยนแปลง นำไปสู่โอกาสเกิดอาการแพ้น้อยลง


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : theconversation

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ทาสแมวแมวเลี้ยงแมวCatCat Loverวิทยาศาสตร์วิทยาศาสตร์น่ารู้Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Science
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เซบา บาสตี้ : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphob.thawisoonsong@gmail.com หรือ 0854129703)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด