ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

NASA เทียบภาพถ่าย “ดาวยูเรนัส” จากยานนิวฮอไรซันส์กับกล้องฯ ฮับเบิล


Logo Thai PBS
แชร์

NASA เทียบภาพถ่าย “ดาวยูเรนัส” จากยานนิวฮอไรซันส์กับกล้องฯ ฮับเบิล

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1776

NASA เทียบภาพถ่าย “ดาวยูเรนัส” จากยานนิวฮอไรซันส์กับกล้องฯ ฮับเบิล
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เมื่อเร็ว ๆ นี้ทีมยานอวกาศนิวฮอไรซันส์ได้ทดลองถ่ายภาพดาวยูเรนัสจากแถบไคเปอร์ร่วมกับกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลจากวงโคจรของโลกเพื่อนำเอาข้อมูลมาวิเคราะห์และนำมาประกอบเป็นองค์ความรู้การถ่ายภาพและตามหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะด้วยวิธีการใหม่ ๆ

ภาพถ่ายดาวยูเรนัสจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (ซ้าย) เปรียบเทียบกับภาพจากกล้องของยานนิวฮอไรซันส์ที่ถ่ายภาพดาวยูเรนัส (ขวา)

NASA ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลและยานอวกาศนิวฮอไรซันส์ (New Horizons) สังเกตดาวยูเรนัสพร้อมกันจากมุมมองที่แตกต่าง เพื่อเปรียบเทียบและทำความเข้าใจลักษณะบรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงนี้ การศึกษาครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเตรียมความพร้อมสำหรับการสำรวจดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (Exoplanets) ในอนาคต ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของ NASA

ณ ขณะนี้ยานนิวฮอไรซันส์กำลังมุ่งหน้าออกจากระบบสุริยะ ทำให้มุมมองของยานไม่สามารถสังเกตได้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่อยู่ในวงโคจรรอบโลก การสังเกตการณ์ดาวยูเรนัสในครั้งนี้พบการสะท้อนและลักษณะของเฟส (phase) ที่ไม่มีทางเห็นได้จากมุมมองจากโลก ดังนั้นการสำรวจบนความร่วมมือทั้งจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลและกล้องถ่ายภาพจากยานนิวฮอไรซันส์จะเปนการถ่ายภาพจากสองมุมมองและเปรียบเทียบข้อมูลโดยพร้อมเพรียงกันเป็นครั้งแรก

ภาพถ่ายดาวยูเรนัสและมุมของดาวยูเรนัสจากมุมมองของกล้องฮับเบิลที่มองจากวงโคจรรอบโลก (ซ้าย) กับมุมมองของยานนิวฮอไรซันที่มองมาจากแถบไคเปอร์ (ขวา)

โดยพื้นฐานแล้วเมื่อเรามองดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่ามุมมองของเรา เช่น ดาวพุธ หรือ ดาวศุกร์ เราจะไม่เห็นดาวเคราะห์ดวงนั้นแบบเต็มดวงเหมือนกับดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างไกลออกไป เช่น ดาวอังคารหรือดาวพฤหัสบดี มุมมองของดาวเคราะห์ที่อยู่ชั้นในนั้นจะเป็นภาพของเฟส วงแหวน หรือ เสี้ยวเสมอ ไม่สามารถมองเห็นพื้นผิวหรือดาวเคราะห์ดวงนั้นแบบเต็มดวงได้ ดังนั้นเมื่อกล้องของยานนิวฮอไรซันส์ถ่ายภาพของดาวยูเรนัสภาพถ่ายที่ได้นั้นจะเป็นภาพถ่ายเฟส มองเห็นเป็นเสี้ยวเหมือนกับที่เรามองเห็นดาวศุกร์จากบนโลก ซึ่งจากระยะทาง 10,000 ล้านกิโลเมตรนี้จะเป็นมุมมองที่ไม่มีใครเคยมองเห็นดาวยูเรนัสในมุมมองนี้กันมาก่อน

ด้วยระยะห่างจากดาวยูเรนัสของยานนิวฮอไรซันส์และกล้องถ่ายภาพที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการถ่ายภาพดวงดาวจากระยะไกลทำให้ภาพของดาวยูเรนัสจากกล้องถ่ายภาพนั้นมีขนาดเพียงไม่กี่พิกเซลเท่านั้น แต่ถึงกระนั้นมันก็มีคุณภาพเทียบเท่าได้กับภาพของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ถ่ายได้โดยตรงจากกล้องโทรทรรศน์คุณภาพสูงจากพื้นโลกหรือกล้องฯ ฮับเบิล

ภาพจำลองทางคอมพิวเตอร์ถึงมุมมองและตำแหน่งของยานนิวฮอไรซันส์กับดาวยูเรนัสและเทหวัตถุอื่น ๆ ในระบบสุริยะ

ข้อมูลภาพถ่ายจากยานนิวฮอไรซันส์ทำให้เราพบว่าเมื่อมองดาวยูเรนัสจากมุมมองที่เป็นเสี้ยววงแหวนแล้ว ความสว่างของดาวยูเรนัสนั้นสว่างน้อยกว่าที่จำลองไว้ การค้นพบนี้ทำให้นักดาราศาสตร์ตระหนักได้ว่าดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่เป็นดาวเคราะห์ก๊าซอาจจะมีความเปลี่ยนแปลงของค่าความสว่างที่แตกต่างกันไปตามแต่ละเฟสของมัน ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับเทคโนโลยีการถ่ายภาพดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Nancy Grace Roman ที่จะสามารถถ่ายภาพดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะได้โดยตรงผ่านการใช้ระบบถ่ายภาพที่สามารถตัดแสงสว่างของดาวฤกษ์ได้ ทำให้สามารถถ่ายภาพดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะได้ชัดเจนในวงโคจรแม้จะยังไม่ได้เคลื่อนที่ผ่านหน้าดาวฤกษ์ก็ตาม

เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล : NASA

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดาวยูเรนัสยูเรนัสนิวฮอไรซันส์ยานนิวฮอไรซันส์ยานอวกาศนิวฮอไรซันส์New Horizonsกล้องฯ ฮับเบิลกล้องฮับเบิลกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลองค์การนาซานาซาNASAแถบไคเปอร์อวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด