วันนี้ (31 มี.ค.2568) ภาพจากคลิปเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา โดย รร.มงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกประถม จ.เชียงใหม่ ได้โพสต์ระบุว่า นี่คือผลลัพธ์จากการซักซ้อมแผนแผ่นดินไหว
ทันทีที่เกิดแรงสั่นสะเทือน เด็กนักเรียนได้มุดหลบใต้โต๊ะในทันที ส่วนเด็กที่กำลังเรียนว่ายน้ำ ก็หยุดทำกิจกรรมทันที ก่อนปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ คือไปรวมตัวที่จุดรวมพล

ที่มา : Montfort College Secondary Section
ที่มา : Montfort College Secondary Section
ทางโรงเรียนระบุว่า เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้รู้ว่า การซักซ้อมแผ่นดินไหวในทุก ๆ ปี จะทำให้เกิดการกระตุ้นการเรียนรู้ รับรู้ ต่อนักเรียน ครู บุคลากรของโรงเรียน ให้ได้ทราบขั้นตอนการดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อเกิดเหตุขึ้นจริงใน ซึ่งทุกคน ทั้งนักเรียน ครู บุคลากรปลอดภัย 100%
การรับมือของโรงเรียน ทำให้มีผู้มาคอมเมนต์ชื่นชมเป็นจำนวนมาก บ้างบอกว่า ชื่นชมผู้บริหาร คณะครู ที่สอนนักเรียนให้มีความรู้ มีสติ มีแนวปฏิบัติ ในการป้องกันอุบัติภัย
ขณะที่ผู้ปกครองบางส่วนบอกว่า ในกลุ่มผู้ปกครองและคุณครู มีการแจ้งข่าวให้ทราบตลอด ช่วยลดความกังวลใจไปได้มาก บางส่วนยัง มองว่า มากกว่าเกรด 4 คือการที่เด็ก ๆ สามารถเอาตัวรอดได้ในชีวิตจริง ทุกคนมีสติดีมาก ชื่นชมคุณครูและเด็ก ๆ

ที่มา : Montfort College Secondary Section
ที่มา : Montfort College Secondary Section
ส่วนอีกเหตุการณ์เป็นการรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว ของโรงเรียนวิมานทิพย์ อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ทันทีที่เกิดแรงสั่นไหว นักเรียนกว่า 20 คน ได้หลบลงไปใต้โต๊ะในทันทีโดยที่ไม่มีการลังเล สะท้อนว่ามีการเรียนรู้ และจดจำสิ่งโรงเรียนได้สอนไว้ หากเกิดกรณีแผ่นดินไหว
จากนั้นจึง อพยพนักเรียนและคุณครูออกมาได้อย่างปลอดภัย ซึ่งทางโรงเรียนระบุว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ เด็ก ๆ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ไม่มีเด็กงอแงแม้แต่คนเดียว
ส่วนกรณีที่บางคนตั้งข้อสังเกตว่า คุณครูวิ่งออกจากห้องไปก่อนเด็ก ๆ ทางโรงเรียนได้ชี้แจงว่า เป็นไปตามแผนเผชิญเหตุที่จะให้คุณครูวิ่งนำเด็กเล็กไปยังจุดรวมพล หลังผู้อำนวยการให้สัญญาณเสียง ว่าให้นำเด็กออกนอกอาคาร
จากนั้น เมื่อถึงจุดรวมพล ครูประจำชั้นทุกระดับชั้น จะนับจำนวนนักเรียนในแต่ละห้องว่าครบหรือไม่ โดยคุณครูบางส่วนจะขึ้นไปตรวจสอบยืนยันบนอาคารอีกครั้งเผื่อกรณียังมีนักเรียนตกค้าง ซึ่งจากเหตุครั้งนี้ทุกคนอพยพออกมาได้อย่างปลอดภัย
จากเหตุการณ์ครั้งนี้ อาจสะท้อนว่าแนวปฏิบัติเพื่อความภัยในการรับมือแผ่นดินไหวของโรงเรียนอาจมีความจำเป็น
แนวทางรับมือแผ่นดินไหวสถานศึกษาญี่ปุ่น
หากยกตัวอย่างกรณีประเทศญี่ปุ่น จะเห็นรายละเอียดที่ชัดเจนมาก เพราะถึงขั้นมีแผนรับมือที่ต้องเช็กกันรายวัน ทั้งตรวจสอบความพร้อมสถานที่อพยพ การทบทวนเส้นทางสำรองระหว่างบ้านของเด็กแต่ละคนกับโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย โดยคำนวณจากค่าเฉลี่ยการเดินอัตรา 2.5 กม./ชม. รวมไปถึง ยืนยันวิธีการติดต่อครอบครัว และจุดนัดพบหากเกิดกรณีฉุกเฉิน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังระบุรายละเอียดถึงอุปกรณ์ที่ต้องเตรียม แนวปฏิบัติในการติต่อหน่วยงานฉุกเฉิน เป็นต้น และที่สำคัญคือจะมีการการซักซ้อมรับมือกับแผ่นดินไหวเป็นประจำ 1-2 ครั้ง/เทอม
นอกจากแนวปฏิบัติต่าง ๆ แล้ว แม้แต่กระเป๋าของเด็กนักเรียนญี่ปุ่น ยังมีรูปแบบที่จะต้องรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้ด้วย หรือที่เรียกว่ากระเป๋า "รันโดะเซรุ"

กระเป๋าใบนี้ สามารถใช้เป็นทุ่นลอยน้ำได้ ในกรณีที่เด็กตกน้ำหรือเกิดคลื่นสึนามิ สามารถทนไฟได้ในระดับหนึ่งหากเกิดเหตุไฟไหม้ และยังสามารถใช้เป็นที่กำบังศีรษะได้กรณีที่เกิดแผ่นดินไหวและมีสิ่งของตกลงมาจากด้านบน ซึ่งกระเป๋าเหล่านี้มักมีอายุการใช้งานยาวนานมากกว่า 5 ปี แต่มีราคาที่ค่อนข้างสูง ถูกสุดประมาณ 6,000 บาท และแพงสุดใบละประมาณ 20,000 บาท ซึ่งจากการสำรวจเมื่อปี 2566 พบว่า เด็กญี่ปุ่นถึงร้อยละ 90 ใช้กระเป๋าชนิดนี้
ติดตามสถานการณ์ #แผ่นดินไหว ได้ที่ ทาง www.thaipbs.or.th/Earthquake
อ่านข่าว : เรียนรู้ตั้งแต่เด็ก "ญี่ปุ่น" สอนเอาตัวรอดด้วย "กระเป๋านักเรียน"