เวลาพูดเรื่องการเมืองในครอบครัว เคยสังเกตกันไหมว่า อาจมีบางคนที่เงียบไป หรืออาจขอตัวไปทำอย่างอื่น เพราะบางครั้งสมาชิกในครอบครัว ก็อาจมีแนวคิดทางการเมืองต่างกัน แม้จะพักอาศัยภายใต้หลังคาเดียวกันก็ตาม ฉะนั้นเพื่อไม่ให้ครอบครัวเกิดรอยร้าว เพราะเรื่องนี้
ไทยพีบีเอส รวบรวม 5 วิธีพูดคุยเรื่องการเมืองในครอบครัวอย่างไร ไม่ให้เกิดรอยร้าว เมื่อสมาชิกเห็นต่าง
5 วิธีพูดคุยเรื่องการเมืองในครอบครัว
1.เปิดใจรับฟัง เริ่มจากการตระหนักว่าแต่ละคนก็มีเหตุผลและความเชื่อเป็นของตัวเอง แม้เราอาจไม่เห็นด้วยในจุดยืนที่แตกต่าง แต่ลองเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างโดยปราศจากความอคติ จะทำให้การรับฟังและสนทนาเป็นไปในทางบวก
วิธีที่ได้ผลดีคือ ท่าทีการรับฟังอย่างกระตือรือร้น อาจเป็นการตั้งใจรับฟังด้วยความอยากรู้อยากเห็น จากนั้นพูดซ้ำโดยเรียบเรียงคำพูดหรือความคิดเห็นที่รับฟังมานั้น เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวรับรู้ว่าเราตั้งใจรับฟังเขา ก็จะทำให้มีโอกาสพูดคุยในประเด็นการเมืองต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์มากขึ้น และยังเพิ่มโอกาสให้อีกฝ่ายฟังในสิ่งที่เราพูด
2.ใช้อารมณ์ขัน การสอดแทรกอารมณ์ขัน ทำให้การสนทนามีความราบรื่นมากขึ้น ลดความตึงเครียดการสนทนาไม่ให้หนักจนเกินไป แต่ต้องระมัดระวังมุกตลกที่มีลักษณะเหยียดหยาม และแบ่งฝ่าย
3.อยู่ในความสงบนิ่ง หากสังเกตได้ว่าการสนทนานี้ น้ำเสียงของใครบางคนเริ่มดังขึ้น น้ำเสียงเปลี่ยนไป เริ่มเข้าลักษณะการโต้แย้ง ให้ลองสูดลมหายใจเข้าลึก ๆ และอยู่ในความสงบนิ่ง หรือลองหาวิธีเปลี่ยนแปลงหัวข้อสนทนา แต่หากอีกฝ่ายอยู่ในสภาวะดื่มสุรา ควรเลี่ยงการสนทนาเรื่องการเมือง เพราะอาจทำลายความสัมพันธ์ได้
4.ระวังภาษากาย ภาษากายสำคัญต่อการพูดคุยที่เห็นหน้ากัน แสดงให้เห็นถึงทัศนคติ อารมณ์ ซึ่งสำคัญกว่าการใช้คำพูดด้วยซ้ำ
วิธีสังเกตภาษากาย
-ท่าทีอยู่ไม่สุข
-เคาะนิ้ว-เท้า
-ดูนาฬิกา
-สบตา
-สีหน้า
-ท่าทาง
-ระดับเสียง-น้ำเสียง
นี่เป็นสัญญาณที่บอกถึงความรู้สึกว่าสนใจฟัง หรือกำลังลดทอนคุณค่าความคิด อาจนำไปสู่การจบการสนทนา ฉะนั้นหากอยากการพูดคุยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หลีกเลี่ยงท่าทีกระสับกระส่าย ขณะเดียวกันพยายามพูดคุยแบบสบตา
5.รู้วิธีออก หลายครั้งที่ผู้สนทนาจะจบสนทนาด้วยคำถามว่า “เห็นด้วยไหม” เพื่อให้แสดงความเห็นด้วยโดยที่เราอาจไม่ได้เห็นด้วย นี่ไม่ใช่การจบการสนทนาที่ดี ลองเปลี่ยนมาใช้คำพูดว่า “สิ่งที่พูด ขอกลับไปคิด กลับไปพิจารณาก่อน คราวหน้าค่อยมาว่ากันใหม่” เป็นการจบการสนทนาที่ไม่ทิ้งให้ใครรู้สึกคาใจ
ไม่ควรพูดคุยเรื่องการเมืองบนโต๊ะอาหาร
การพูดคุยเรื่องการเมืองบนโต๊ะอาหารในครอบครัว ไม่ใช่การสนทนาที่ดี เพราะในความสนุกของผู้พูด อาจมีคนอื่น ๆ ในครอบครัวมีข้อโต้แย้งหรือรู้สึกว่าถูกครอบงำ เขาไม่ได้รู้สึกสนุกไปด้วย อาจนำไปสู่ความตึงเครียดและขัดแย้งในครอบครัวได้ ยกเว้นสมาชิกในครอบครัวมีความเชื่อทางการเมืองที่คล้ายคลึงกัน การผสมผสานพูดคุยเรื่องการเมืองกับการรับประทานอาหาร สามารถสร้างความเพลิดเพลินได้ แต่เกิดขึ้นไม่บ่อยในครอบครัว
ที่มา www.verywellfamily.com