ลองนึกภาพเรากำลังเดินลึกเข้าไปในป่าทึบของจังหวัดสตูล ท่ามกลางความเขียวขจีและเสียงนกร้อง... เราอาจได้พบคนกลุ่มหนึ่งซึ่งดูเหมือนหลุดออกมาจากอดีตอันไกลโพ้น คนผู้รู้จักป่าเหมือนเรารู้จักซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้าน พวกเขารู้ว่าต้นไหนกินได้ ใบไหนเป็นยา สัตว์ชนิดไหนล่าได้ในฤดูใด และเรื่องราวตลอดจนภูมิปัญญาของพวกเขาถูกส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นโดยไม่มีตำราหรือห้องเรียน มีเพียงป่าเท่านั้นเป็นครู
ฟังดูโรแมนติกดี แต่พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้เป็นตัวละครในนิยายหรือตำนานโบราณ ไม่ใช่ “คนอื่น” ที่มีไว้แค่ให้เราเล่าขานถึงอย่างปลาบปลื้มชื่นชม พวกเขามีตัวตนจริง ๆ มีวิถีที่น่าเคารพจริง ๆ และก็กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงปรับตัวครั้งใหญ่จริง ๆ ด้วยเหตุผลที่เรานี่แหละที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องมากมายกว่าที่คิด
“The Untold Story of Birthplace บ้านเกิดที่คิดถึง” เป็นสารคดีความยาว 1 ชม. ครึ่งที่พาเราเข้าป่าลึกเพื่อไปคลุกคลีกับชาว “มันนิ” หรือ “มานิ” หรือ “มานิค” ซึ่งแปลว่า "มนุษย์" (แต่คนจำนวนมากยังมักจดจำพวกเขาในชื่อ "เงาะป่า" ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาชอบใจสักเท่าไหร่) พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชาติพันธุ์นิกริโตที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในดินแดนแถบนี้ย้อนกลับไปได้ถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์โน่นเลยทีเดียว
มีหลักฐานทางโบราณคดีและการศึกษาทางพันธุศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า บรรพบุรุษของชาวมานิอาจเป็นมนุษย์กลุ่มแรก ๆ ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในภูมิภาคนี้เมื่อราว 50,000 ปีที่แล้ว ในยุคที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเป็นผืนแผ่นดินเดียวกัน ก่อนที่ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นและแยกพื้นที่ออกเป็นเกาะและคาบสมุทรดังในปัจจุบัน การค้นพบโครงกระดูกในถ้ำบริเวณเหนือคลองตง อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ซึ่งมีอายุประมาณ 12,000 ปี และมีลักษณะสอดคล้องกับชาวมานิในปัจจุบัน ยิ่งเป็นการยืนยันถึงการมีอยู่มายาวนานของพวกเขาในแถบนี้
สำหรับในไทย ชาวมานิอาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะในเขตเทือกเขาบรรทัดหรือเทือกเขานครศรีธรรมราช ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดตรัง พัทลุง สตูล สงขลา รวมถึงพื้นที่เทือกเขาสันกาลาคีรีในยะลาและนราธิวาส ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าในพื้นที่เหล่านี้ทำให้ชาวมานิสามารถดำรงชีวิตด้วยการหาของป่าและล่าสัตว์ พวกเขารู้จักพืชและสัตว์นับร้อยชนิด เชี่ยวชาญการใช้สมุนไพรเพื่อรักษาโรค พวกเขามีทักษะในการล่าสัตว์โดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า "บอเลา" หรือไม้ซางซึ่งเป็นอาวุธที่ถูกสร้างขึ้นจากภูมิปัญญาที่สืบทอดมา การพึ่งพิงป่าของพวกเขาไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องอาหารและที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความเชื่อและพิธีกรรมต่าง ๆ ด้วย พวกเขามีความเชื่อเกี่ยวกับผีในต้นไม้ใหญ่และมีข้อห้ามในการตัดต้นไม้บางชนิด สะท้อนให้เห็นถึงความเคารพและการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน
อย่างไรก็ตาม ในที่สุดผืนป่าที่เคยกว้างใหญ่ก็เริ่มถูกแทนที่ด้วยสวนยางพารา ไร่ปาล์ม และบ้านเรือน เสียงเครื่องยนต์เริ่มดังกลบเสียงนกร้อง ควันจากการเผาป่าเริ่มโชยมาแทนที่กลิ่นดินหลังฝนตก ชาวมานิเริ่มพบว่าบ้านของพวกเขากำลังหายไป นั่นเพราะหลายทศวรรษที่ผ่านมาพื้นที่ป่าในประเทศไทยลดลงมาก เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนเมืองจนนำมาสู่การบุกรุกทำลายป่าเพื่อทำการเกษตรและการพัฒนาต่าง ๆ อันส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวิถีชีวิตของชาวมานิ
ในจังหวัดสตูลซึ่งเป็นหนึ่งในถิ่นที่อยู่สุดท้ายของชาวมานิในไทย สถานการณ์ก็ไม่ต่างกัน พวกเขาจึงต้องเผชิญกับคำถามที่ไม่เคยต้องคิดมาก่อน นั่นคือ จะอยู่อย่างไรในโลกที่ป่าไม่ได้เป็นทุกอย่างอีกต่อไป
เมื่อไม่สามารถพึ่งพาป่าได้เหมือนในอดีต ชาวมานิก็ต้องปรับตัวเข้าสู่วิถีชีวิตแบบสมัยใหม่มากขึ้น บางกลุ่มต้องเรียนรู้การทำการเกษตร เช่น ปลูกข้าวไร่และทำสวนยางพารา บางคนต้องออกมารับจ้างทำงานในชุมชนใกล้เคียง แต่แน่ล่ะว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ลองนึกภาพว่าเราต้องไปใช้ชีวิตในประเทศที่เราไม่รู้ภาษา ไม่เข้าใจวัฒนธรรม และไม่มีทักษะที่จำเป็นเลย มันจะยากเย็นแสนเข็ญขนาดไหน
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจึงมีความพยายามจากหลายภาคส่วนในการช่วยเหลือชาวมานิ ทั้งการให้สัญชาติ การเข้าถึงบริการสาธารณสุข และการศึกษา แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการหาสมดุลระหว่างการพัฒนาและการรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมเอาไว้ ซึ่งไม่ใช่แค่ในมิติของการอนุรักษ์เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการให้สิทธิและโอกาสแก่พวกเขาในการเลือกวิถีชีวิตของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการดำรงชีวิตในป่าตามแบบดั้งเดิมหรือการปรับตัวเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ก็ตาม
เรื่องราวของชาวมานิและชนเผ่าอื่น ๆ ไม่ได้เป็นเพียงบทเรียนทางประวัติศาสตร์ แต่เป็นเรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้นจริงในปัจจุบันและเป็นเรื่องที่เราทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เพราะในที่สุดแล้ว เราทุกคนล้วนอาศัยอยู่บนโลกใบเดียวกัน และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับพวกเขาวันนี้ อาจเป็นสิ่งที่เราเองต้องเผชิญในวันข้างหน้าอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
▶ ติดตามสารคดี The Untold Story of Birthplace บ้านเกิดที่คิดถึง เมื่อความอุดมสมบูรณ์ในผืนป่าของสตูลถูกบุกรุกและทำลาย ส่งผลกระทบต่อ "มันนิ" ชนพื้นเมืองกลุ่มสุดท้ายในจังหวัดสตูล ทำให้ต้องเปลี่ยนวิถีดั้งเดิมในป่า เพื่อปรับตัวอยู่ในพื้นที่เดิมต่อไป โดยได้รับการช่วยเหลือจาก "กั้ม" เด็กหนุ่มผู้มีใจรักในถิ่นฐานบ้านเกิด
รับชมได้ทาง www.VIPA.me หรือ VIPA Application