ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

‘เสียง’ กับ ‘ศาสตร์’ แห่งการบำบัด เปลี่ยนนิยามและคุณค่าของเสียง ให้เป็นมากกว่าแค่พลังงาน


Lifestyle

13 ก.ย. 67

บุรพัชร์ สุขเนียม

Logo Thai PBS
แชร์

‘เสียง’ กับ ‘ศาสตร์’ แห่งการบำบัด เปลี่ยนนิยามและคุณค่าของเสียง ให้เป็นมากกว่าแค่พลังงาน

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1586

‘เสียง’ กับ ‘ศาสตร์’ แห่งการบำบัด เปลี่ยนนิยามและคุณค่าของเสียง ให้เป็นมากกว่าแค่พลังงาน
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

การมีประสาทสัมผัส นับเป็นสิ่งพิเศษที่สุดของสิ่งมีชีวิตอย่างมนุษย์เรา ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็น การลิ้มรส การได้กลิ่น การสัมผัส และการได้ยิน ประสาทสัมผัสเหล่านี้ส่งผลให้มนุษย์เกิดอารมณ์และความรู้สึก พร้อมถ่ายทอดผ่านสีหน้า แววตา หรือการกระทำ 

การได้ยิน ‘เสียง’ จัดเป็นหนึ่งในตัวแปรต่ออารมณ์และความรู้สึกของเรา ที่สามารถบอกได้ว่า เรากำลังมีความสุขหรือหงุดหงิดกับกิจกรรมที่ทำ หากนึกถึงช่วงเช้า ขณะที่เรากำลังเดินทางไปทำงาน เราอาจมีความสุขกับการฟังเสียงเพลงที่คุณชอบ ส่งผลให้วันนั้นเป็นวันที่ดีที่ในการทำงานของเรา หรือหากเราได้ยินเสียงแตรรถ เสียงเครื่องจักรบนถนน หรือเสียงของความวุ่นวายบนทางเท้า ก็อาจกลายเป็นการเริ่มต้นวันทำงานที่น่าหงุดหงิดไปเสียได้

‘เสียง’ มีต้นกำเนิดจากการสั่นสะเทือนของวัตถุและส่งต่อไปยังตัวกลาง ที่อาจเป็นได้ทั้งก๊าซ ของเหลว และของแข็ง จากนั้นหูของเราจะเป็นตัวรับคลื่นเสียงที่มาจากตัวกลาง ส่งไปยังสมองเพื่อแปรคลื่นเสียงเหล่านั้น

“หลายคนอาจมองว่าเสียงเป็นนิยามเชิงนามธรรมในทางวิทยาศาสตร์ สัทธศาสตร์ หรือความบันเทิง แต่ปัจจุบันมนุษย์เราได้นำเสียงเข้ามาเป็นหนึ่งใน ‘ศาสตร์’ ของการบำบัดจิต” หรือที่เรียกกันว่า Sound Healing ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ใช้เสียงของธรรมชาติ หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นแหล่งกำเนิดเสียงที่มีความถี่ของคลื่นเสียงแตกต่างกัน เพื่อกระตุ้นให้ผู้ฟังได้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย และมีสมาธิมากขึ้น ส่งผลดีต่อกายภาพในเรื่องของการลดความดันโลหิต บรรเทาการบาดเจ็บ รวมถึงสภาพจิตใจในช่วงสภาวะกดดันหรือเครียด พร้อมทั้งได้ปลดปล่อยความคิดตัวเอง เนื่องจากผู้ฟังได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง ได้นึกถึงสิ่งที่ตัวเองทำไปในอดีต สามารถตกตะกอนความคิดและหาทางออกของปัญหาได้

‘Sound Healing’ เป็นศาสตร์ที่มีหลากหลายประเภท ขึ้นกับอุปกรณ์และวิธีการ อาทิ ดนตรีบำบัด (Music Therapy) ผ่านการใช้เสียงดนตรีบรรเลงในการบำบัด, คลื่นเสียงบำบัด (Binaural Beats) เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่ต่ำที่มีความถี่ที่แตกต่างกัน เมื่อได้ยินแล้วจะเกิดปฏิกิริยาต่อสมองจนผลิตคลื่นเสียงใหม่ออกมา หรือ การอาบเสียง (Sound Bath) เป็นวิธีการบำบัดผ่านการนอนฟังเสียงที่เกิดจากการใช้ถ้วย ระฆัง หรือฆ้อง 

ปัจจุบันวิธีการอาบเสียงนั้นเป็น Sound Healing ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะ Crystal Singing Bowls หรือการใช้ถ้วยคริสตัลสร้างเสียงในการบำบัด เป็นศาสตร์จากทิเบต ด้วยกรรมวิธีที่ผู้เข้าร่วมจะต้องนอนหลับราบกับพื้นในห้องที่เงียบสงบ เพื่อฟังเสียงกังวานที่เกิดจากการสะเทือนของโมเลกุลในถ้วยคริสตัล

“แพท รัณนภันต์ ยั่งยืนพูนชัย”

“แพท รัณนภันต์ ยั่งยืนพูนชัย” หรือ แพท วงเคลียร์ ศิลปินหญิง ผู้ซึ่งหลงใหลในศาสตร์ของ Sound Healing ผ่านการใช้ Crystal Singing Bowl เคยให้สัมภาษณ์ในรายการ Made My Day วันนี้ดีที่สุด เกี่ยวกับประเด็น ‘อาการซึมเศร้า Post Performance Depression’ ที่เธอเคยประสบ โดยแพทได้เล่าว่า ครั้งหนึ่งหลังเธอได้เล่นคอนเสิร์ตครั้งใหญ่ของวงจบ เมื่อเธอตื่นขึ้นมากลับมาพบกับเพียงแค่ความรู้สึกดิ่ง ไม่อยากทำอะไร 

จนในที่สุดเธอได้สติ หาคำตอบ และทางออกให้กับปัญหานี้ของตนเอง ซึ่ง Sound Healing เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้แพทสามารถหลุดพ้นจากปัญหาสภาพจิตใจ และทำให้แพทเชื่อว่า “ตัวเราไม่ได้อยู่คนเดียว” พร้อมทั้งยังให้แง่คิดและมุมมองในการใช้ชีวิตของผู้ที่ประสบภาวะแบบเดียวกับเธอ  

‘เสียง’ ที่หลายคนได้ยิน อาจเป็นมากกว่าแค่พลังงานที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของวัตถุ แต่ ‘เสียง’ ยังช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับ ‘จิตใจ’ ของคน เพราะสิ่งที่ได้ยิน อาจมีความหมาย มีคุณค่า และช่วยต่อลมหายใจของชีวิตได้

อ้างอิง
-yogabasics 

-national geographic thailand 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เสียงเสียงบำบัดสุขภาพSound Healingแพท รัณนภันต์ ยั่งยืนพูนชัยแพท วงเคลียร์
บุรพัชร์ สุขเนียม
ผู้เขียน: บุรพัชร์ สุขเนียม

Content Creator Online สำนักสร้างสรรค์เนื้อหา “เต็มที่ ปล่อยใจ ไปให้สุด” รักการเดินทาง คลั่งไคล้รถไฟ ฟีเวอร์ K-POP

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด