ครบรอบ 119 ปี แห่งอิสรภาพ ปลดแอก ‘ทาส’ ให้เป็น ‘ไท’


วันสำคัญ

1 เม.ย. 67

นวพร เรืองศรี

Logo Thai PBS
แชร์

ครบรอบ 119 ปี แห่งอิสรภาพ ปลดแอก ‘ทาส’ ให้เป็น ‘ไท’

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1007

ครบรอบ 119 ปี แห่งอิสรภาพ ปลดแอก ‘ทาส’ ให้เป็น ‘ไท’
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

วันที่ 1 เมษายนของทุกปี นอกจากจะเป็นวันแห่งการโกหก (April fools day) และวันฟอสซิลฟูลส์ (Fossil Fool's Day) แล้ว วันนี้ยังเป็น “วันเลิกทาสและการเลิกไพร่” ซึ่งเป็นระบบแบ่งแยกที่คนชนชั้นสูงตั้งขึ้น เพื่อกดขี่คนในชนชั้นต่ำกว่าให้ทำงานรับใช้ โดยไม่มีกฎเกณฑ์หรือรายได้ให้เป็นการแลกเปลี่ยน อย่างที่เราเคยพบเห็นตามละครหรือสารคดีเชิงประวัติศาสตร์จนชินตา และได้แต่ตั้งคำถามว่ามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ?

Thai PBS อยากพาทุกคนขึ้นไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับไป 119 ปีที่แล้ว ยุคสมัยที่สิทธิและเสรีภาพยังไม่เฟื่องฟู และความเท่าเทียมยังไม่เกิดขึ้น (อย่างเป็นทางการ) เพื่อดูความเป็นไปในอดีต ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงจุดสิ้นสุด ว่ากว่าที่ ‘ทาส’ จะกลายเป็น ‘ไท’ เคยมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

จุดเริ่มต้นและที่มาของ ‘ทาส’

“ทาส” มีรากศัพท์มาจากคำว่า “ทาสี” และ “ทาโส” ในภาษาสันสกฤต หมายถึง ขี้ข้าหรือคนรับใช้ มีทั้งหมด 7 ประเภท แบ่งตามลักษณะและการได้มา ดังนี้

  1. ทาสในเรือนเบี้ย : ทาสที่มีพ่อแม่เป็นทาสด้วยกันทั้งคู่ 
  2. ทาสที่ถูกพ่อแม่นำมาขาย หรือทาสขัดดอก
  3. ทาสสินไถ่ : ทาสที่ขายตนเองให้เป็นทาส ต้องหาเงินมาไถ่ถอนตนเองจึงจะเป็นอิสระ
  4. ทาสท่านให้ : คือทาสที่นายทาสยกให้บุคคลอื่น เหมือนมอบสัตว์เลี้ยง หรือทรัพย์สินอื่น ๆ
  5. ทาสที่ช่วยมาจากทัณฑสถาน : ในกรณีที่ถูกตำรวจจับ ต้องเสียค่าสินไหม หรือค่าประกันตัว เมื่อไม่มีเงินจ่าย แต่มีคนมาจ่ายให้แทน ผู้ต้องหาก็ต้องตกเป็นทาสของคนผู้นั้น
  6. ทาสอันเลี้ยงไว้ในยามข้าวยากหมากแพง
  7. ทาสเชลย ซึ่งได้จากการชนะศึกสงคราม 

อาจกล่าวได้ว่า “ทาสเชลย” เป็นทาสประเภทแรกที่เกิดขึ้นในไทย ก่อนจะมีทาสประเภทอื่น ๆ ตามมา และกลายเป็นค่านิยมเรื่องการแบ่งชนชั้นวรรณะที่แน่นหนา ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

ในหนังสือเรื่อง “เลิกทาสในรัชกาลที่ ๕” กล่าวถึงที่มาของทาสว่าเป็นผลพลอยได้จากสงคราม เพราะในสมัยก่อน เกิดศึกสงครามระหว่างประเทศบ่อยครั้ง และในทุก ๆ ครั้ง ที่มีฝ่ายพ่ายแพ้ในศึกสงคราม คนเหล่านั้นมักจะถูกฆ่าทิ้ง เพื่อไม่ให้กลายมาเป็นกบฎหรือไส้ศึกในครั้งถัดไป ต่อมาเมื่อเห็นว่าการฆ่าฟันกันไม่เป็นประโยชน์ เลยคิดหา ‘กำไร’ ด้วยการจับข้าศึกที่พ่ายแพ้ในสงครามมาเป็นขี้ข้าหรือผู้รับใช้ เพื่อเป็นการประกาศแสนยานุภาพถึง “ความเก่งกาจ” ของกษัตริย์ ซึ่งเป็นผู้นำทัพด้วยอีกนัยหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ทาสแต่ละคนย่อมมีราคา ซึ่งจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับเพศและอายุของทาส หากอายุอยู่ในวัยที่ทำงานได้แล้ว ค่าตัวก็จะสูง แต่ถ้าอายุน้อยหรือเกินวัยทำงาน ค่าตัวก็จะค่อย ๆ ลดลง 
หากต้องการหลุดพ้นจากการเป็นทาส ก็สามารถทำได้หลายวิธี เช่น หาเงินมาไถ่ถอนตนเองให้หลุดพ้นจากความเป็นทาส โดยต้องชำระให้ครบทั้งต้นทั้งดอก, นายทาสอนุญาตให้บวชเป็นพระ เณร หรือชี, การอาสาไปสงคราม ไปรบแทนนาย หากรอดกลับมาได้ก็ถือว่าเป็นอิสระ, การได้แต่งงานกับนายทาส หรือหนีไปอยู่เมืองอื่น จนเจ้านายตามหาไม่เจอก็ได้

‘ทาส’ หลักฐานถึงความไม่มีอารยธรรมในไทย

จากบทความ “เรื่องเล่าจากละคร : ผลกระทบจากการเลิกทาส” ที่เรียบเรียงโดย จักร ปานสมัย กล่าวว่า กระแสเรื่องการเลิกทาส เริ่มเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผ่านการรับรู้ข่าวสารจากโลกภายนอก เช่น การเลิกทาสในสหรัฐอเมริกาโดยอับราฮัม ลินคอล์น เป็นผู้ปลดปล่อยทาสทั้งปวงให้เป็นไท รวมทั้งการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเล่าเรียนภาษาอังกฤษจากแหม่มแอนนา ครูสอนภาษาอังกฤษประจำราชสำนัก ซึ่งเคยลั่นวาจาไว้ว่า “ทาสจะเป็นมลทินที่ยิ่งใหญ่ของชาติสยาม” (“that slavery shall be a great blot on the Siamese nation”) ก่อนจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นั่นเอง

ด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ให้คนไทยมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน และต้องการเปลี่ยนสยามประเทศให้มี ‘ความเจริญก้าวหน้า’ เท่าทันประเทศอื่น ๆ กลุ่มประเทศมหาอำนาจจะได้ไม่มาล่าอาณานิคม รวมถึงเหตุผลทางเศรษฐกิจที่ต้องการแรงงานเสรีเพิ่มขึ้นอันเกิดจากสนธิสัญญาเบาว์ริง และสอดคล้องกับระบบการขยายงานของระบบบริหารราชการสมัยใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น

‘ทาส’ กับอิสรภาพที่ต้องใช้เวลานานกว่า 30 ปี

ทันทีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชสมบัติ เมื่อมีพระชนมายุ 20 พรรษา ก็ทรงมีพระราชดำริที่จะเลิกทาส โดยปรึกษากับสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่คนสำคัญในสมัยนั้นเพราะทั้งพระองค์และข้าราชการผู้ใหญ่ทั้งปวงล้วนตระหนักเช่นเดียวกันว่าการเลิกทาสนั้นถือเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ ต้องใช้เวลานานพอสมควร และกระทำด้วยวิธีอันละมุนละม่อม ใช้กุศโลบายในการผ่อนสั้นผ่อนยาว เพราะจากการศึกษาการเลิกทาสในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการกระทำอย่างบุ่มบ่ามกะทันหัน จึงเป็นชนวนแห่งการอุบัติสงครามกลางเมืองขึ้นระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ การรบราฆ่าฟันกันเองของสหรัฐอเมริกาในครั้งนั้นทำให้เสียเลือดและเกิดความสูญเสียอย่างมหาศาลตามมา

ผลแห่งพระราชอุตสาหะและพระราชหฤทัยเย็นที่รอเวลาอันเหมาะสม ในที่สุดพระราโชบายการเลิกทาสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็ได้รับการสนับสนุนมากขึ้นตามลำดับ และในที่สุดก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติทาส บังคับใช้ในราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2448 เป็นต้นไป โดยมีใจความสำคัญดังนี้

  • ยกเลิกพิกัดเกษียณอายุทาส ให้บรรดาลูกทาสเป็นอิสระทั้งหมด ผู้ที่เป็นทาสอยู่ให้ลดค่าตัวลงเดือนละ 4 บาทจนกว่าจะหมด ถ้ามีการเปลี่ยนนายเงิน ห้ามเพิ่มค่าตัวขึ้นอีก
  • ห้ามซื้อขายทาสอีกต่อไป หากฝ่าฝืน จะต้องได้รับโทษทางอาญา
  • ประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญา ร.ศ.127 กำหนดโทษการซื้อขายทาสว่าเป็นความผิดต้องจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 100 บาท ถึง 1,000 บาท กฎหมายนี้จึงช่วยให้ทาสลดน้อยลงและหมดไปอย่างรวดเร็ว

เมื่อทรงไม่โปรดให้เกิดโศกนาฏกรรมเช่นนี้กับพสกนิกรชาวสยาม ด้วยพระราชหฤทัยอันแน่วแน่และพระราชอุตสาหะของพระองค์ จึงต้องใช้เวลาถึง 30 ปี กว่าทาสคนสุดท้ายจะได้รับการปลดปล่อยและจบสิ้นการมีทาสในสยามประเทศสมตามพระราชปณิธานที่ได้ทรงตั้งไว้ ไม่มีการต่อต้าน หรือเกิดสงคราม เพราะทุกฝ่ายต่างได้เตรียมตัวในเรื่องนี้มาเป็นอย่างดี ทั้งฝั่งเจ้านายที่กำลังจะขาดทาส และฝั่งทาสที่กำลังจะเป็นไท 

หากเปรียบการเลิกทาสในสยามประเทศเป็นชัยชนะแห่งสยามก็ถือเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ที่ไม่ต้องทำการรบราฆ่าฟัน หรือสูญเสียเลือดเนื้อใด ๆ ทั้งสิ้น

เมื่อเลิกทาสสำเร็จ โดยไม่มีการนองเลือด

ผลกระทบจากการเลิกทาสเป็นไปในทิศทางที่ดี สมดังพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเรื่องน่าแปลกและน่าอัศจรรย์ใจคือเมื่อหลังจากการเลิกทาสในสยามประเทศ ทาสก็กลืนหายไปจากสังคม เพราะเมื่อผ่านไปหลายสิบปี ไม่มีการรับรู้ว่าประชาชนคนใดมีบรรพบุรุษเป็นทาส ต่างจากบางประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ที่มีการเรียกกลุ่มคนที่เป็นทาส หรือมีบรรพบุรุษเป็นทาสว่า “เอตะฮินิง” ซึ่งแปลตามรากศัพท์ได้ว่า คนที่ไม่ใช่คน อันหมายถึงคนชั้นต่ำ หรือนอกชนชั้น แม้ประเทศญี่ปุ่นจะเลิกทาสตั้งแต่ยุคเมจิ แต่ในสมัยหลังพวกที่มีเชื้อสายเอตะฮินิงก็ยังไม่ได้รับการยอมรับอยู่ดี ผู้คนตะขิดตะขวงว่าคนเหล่านี้มีบรรพบุรุษเป็นทาส ไปสมัครที่ใดก็ล้วนน่ารังเกียจ

ขณะที่ในประเทศไทย เมื่อไม่สามารถสืบต้นตอได้ว่าครอบครัวใดมีบรรพบุรุษเป็นทาสมาก่อน ทาสจึงหายไปจากสังคมไทยอย่างน่าอัศจรรย์ใจ พระราชกรณียกิจในครั้งนี้ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือพระพุทธเจ้าหลวง จึงถือได้ว่าสำเร็จลุล่วงโดยดี ไม่มีปัญหาใดเกิดขึ้นตามมา ทาสหายไปจากบ้านเมือง ทุกคนล้วนเป็นอิสระกันถ้วนหน้า สมดังสุภาษิตที่ว่า “ช้า ๆ ได้พร้าสองเล่มงาม” ซึ่งหมายถึงการทำอะไรบางอย่างด้วยความรอบคอบ ไม่ต้องรีบร้อน มักจะได้ผลดี

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก 
- หอสมุดแห่งชาติ นครศรีธรรมราช 

- เรื่องเล่าจากละคร ผลกระทบจากการเลิกทาส

- เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Thai PBS On This Dayวันเลิกทาส1 เมษายน วันเลิกทาสวันนี้ในอดีต
นวพร เรืองศรี
ผู้เขียน: นวพร เรืองศรี

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ผู้อุทิศชีวิตให้ชานมไข่มุกหวาน 100%

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด