แชร์

Copied!

ตรวจสอบแล้ว คลิปอ้าง “ชเวดากองถล่ม” ที่แท้เป็น “เจดีย์ปรียาติ” ในรัฐฉาน

31 มี.ค. 6817:34 น.
สิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ#ข่าวปลอม
ตรวจสอบแล้ว คลิปอ้าง “ชเวดากองถล่ม” ที่แท้เป็น “เจดีย์ปรียาติ” ในรัฐฉาน

สารบัญประกอบ

หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงในเมียนมา Thai PBS Verify พบคลิปอ้างเจดีย์ "ชเวดากองถล่ม" แต่จากการตรวจสอบพบว่าเป็นเจดีย์ของวัดแห่งหนึ่งในเมืองพินดายา รัฐฉาน ประเทศเมียนมา เตือนอย่าหลงเชื่อหลังคนแห่ดูไปถึง 10 ล้านครั้ง

แผ่นดินไหวรุนแรงในเมียนมา ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างรุนแรงเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ได้ทำให้เกิดความเสียหายและการสูญเสียเป็นจำนวนมากในประเทศเมียนมา ยิ่งไปกว่านั้นหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น กลับมีการแชร์คลิปที่กำลังเป็นไวรัลบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งอ้างว่าเป็นคลิปขณะเจดีย์ "ชเวดากอง" กำลังถล่ม

แหล่งที่มา : Facebook

กระบวนการตรวจสอบ

เราพบบัญชีเฟซบุ๊กที่ชื่อ "ศุภัสนันท์ สีแดง" โพสต์คลิประบุข้อความ "ชเวดากอง" ซึ่งคลิปดังกล่าวมีผู้สนใจชมไปถึง 10 ล้านครั้ง รวมถึงกดถูกใจไปกว่า 89,000 ครั้ง และแชร์คลิปดังกล่าวไปแล้วถึงกว่า 4,800 ครั้ง

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงคลิปวิดีโอปลอมที่อ้างว่าเป็นเจดีย์ชเวดากอง

 

อย่างไรก็ตามเมื่อเรานำภาพไปทำการค้นหาภาพย้อนหลังโดยใช้คีย์เฟรมในวิดีโอ พบว่าคลิปดังกล่าวมีลักษณะที่ตรงกับเจดีย์ปรียาติ ของโรงเรียนสอนศาสนาเซติจี ในเมืองพินดายา รัฐฉาน ประเทศเมียนมา (ลิงก์บันทึก)

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงภาพเจดีย์ถล่ม (ซ้าย) เปรียบเทียบกับ ภาพเจดีย์ปรียาติของโรงเรียนสอนศาสนาเซติจี ในเมืองพินดายา รัฐฉาน ประเทศเมียนมา (ขวา)

ผู้เชี่ยวชาญยืนยันไม่ใช่เจดีย์ชเวดากอง

นอกจากนี้เรายังสอบถามไปยัง รศ.ดร.โรจน์ คุณเอนก สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งระบุว่า เมื่อดูจากคลิปพบว่าเจดีย์ที่ถล่มลงมานั้นไม่ใช่เจดีย์ชเวดากองอย่างแน่นอน ซึ่งสาเหตุที่บ่งบอกและมองเห็นได้ชัดเจน ได้แก่ (ลิงก์บันทึก)

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงภาพเจดีย์จากโพสต์ปลอม (ซ้าย) เปรียบเทียบกับภาพของเจดีย์ชเวดากอง (ขวา)

1. ขนาดเล็กกว่าชเวดากองมาก
2. บัวคอเสื้อประดับลายใบโพธิ์ ไม่เป็นสีทองทั้งหมด ซึ่งชเวดากองจะทองทั้งหมด
3. ทรงของปล้องไฉน และองค์ระฆังไม่เหมือนกับเจดีย์ชเวดากอง
4. สภาพแวดล้อมไม่ใช่ เพราะรั้วที่ปรากฏ รวมทั้งสิ่งก่อสร้างรอบ ๆ ไม่ตรงกัน

รศ.ดร.โรจน์ คุณเอนก สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ส่วนสถานที่ตั้งของเจดีย์ชเวดากอง ก็อยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุแผ่นดินไหว คือตั้งอยู่ในเมืองย่างกุ้ง ซึ่งมีระยะห่างกันถึงกว่า 600 กิโลเมตรอีกด้วย

เจดีย์ชเวดากองเคยเสียหายครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1970

อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหวบริเวณเจดีย์ชเวดากอง พบว่า เคยเกิดเหตุแผ่นดินไหวเล็ก ๆ น้อย ๆ เรื่อยมา ทำให้เจดีย์ได้รับความเสียหาย และเมื่อปี ค.ศ. 1768 ได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างหนัก ทำให้ยอดของเจดีย์หักถล่มลงมา แต่ได้มีการบูรณะให้สูงขึ้นถึง 99 เมตร (325 ฟุต) (ลิงก์บันทึก)

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงภาพเจดีย์ชเวดากอง

ขณะที่ฉัตรองค์ใหม่สำหรับประดับยอดเจดีย์ได้รับการถวายจากพระเจ้ามินดง เมื่อปี ค.ศ. 1871 หลังการผนวกดินแดนพม่าตอนล่างโดยอังกฤษ แผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงปานกลางในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1970 ทำให้เพลาฉัตรบนยอดองค์เจดีย์ได้รับความเสียหาย มีการสร้างโครงและซ่อมแซมครั้งใหญ่

 

สื่อท้องถิ่นเมียนมายืนยันเจดีย์ชเวดากองไม่ได้รับความเสียหาย

เรายังพบว่า ช่อง TikTok ของ "mrtv.myanmarradiontv" ได้รายงานข่าวเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า "ไม่มีความเสียหายต่อเจดีย์สีทองในย่างกุ้งจากแผ่นดินไหว" (ลิงก์บันทึก)
ภาพบันทึกหน้าจอแสดงภาพข่าวของช่อง

 

พบคนเข้าใจผิดหลงเชื่อว่าเป็นเจดีย์ชเวดากอง

หลังจากที่คลิปดังกล่าวเผยแพร่ออกไป เราพบว่ามีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ที่เข้าชมส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นเจดีย์ชเวดากองถล่มจากเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมาจริง ๆ ซึ่งถือเป็นการสร้างความเข้าใจที่ผิด

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงความคิดเห็นของผู้ที่หลงเชื่อคลิปปลอมดังกล่าว

 

 

ข้อแนะนำเมื่อได้ข้อมูลเท็จนี้ ?

เราสามารถตรวจสอบภาพต่าง ๆ ด้วยตัวเองเบื้องต้นได้ดังนี้

 

คู่มือฉบับย่อ "ตรวจสอบข่าวปลอมเบื้องต้น" : https://www.thaipbs.or.th/now/content/2010

 

รู้จัก "Metadata" เครื่องมือ Fact check ตรวจสอบภาพจริง-ปลอม : https://www.thaipbs.or.th/now/content/2277

Thai PBS Verify ขอเป็นกำลังใจให้ประชาชนทุกคนผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้อย่างปลอดภัย และขอให้ร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ เพื่อป้องกันภัยจากข่าวลวงที่แฝงมาในช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้

สารบัญประกอบ