แชร์

Copied!

ปี 67 ! คนไทยถูกมิจฯ หลอกสูงสุดในรอบ 5 ปี สื่อจะช่วยสังคมเข้าถึงข้อเท็จจริงอย่างไร?

2 เม.ย. 6814:27 น.
ปี 67 ! คนไทยถูกมิจฯ หลอกสูงสุดในรอบ 5 ปี สื่อจะช่วยสังคมเข้าถึงข้อเท็จจริงอย่างไร?

สารบัญประกอบ

    เปิดสถิติมิจฉาชีพโทร.หลอกลวงคนไทยกว่า 38 ล้านสาย เพิ่มขึ้นจากปี 2566 สูงถึง 85% และถูกส่ง SMS หลอกลวง 130 ล้านข้อความ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 สูงถึง 123%

    จากสถิติ ปี 2567 มิจฉาชีพโทร.หลอกลวงคนไทยกว่า 38 ล้านสาย เพิ่มขึ้นจากปี 2566 สูงถึง 85% และถูกส่ง SMS หลอกลวง 130 ล้านข้อความ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 สูงถึง 123% เป็นสถิติที่สูงสุดในรอบ 5 ปี โดยพบว่ามีประชาชนถูกหลอกลวงทางออนไลน์และแจ้งความผ่านระบบออนไลน์กว่า 400,000 ราย สร้างมูลค่าความเสียหายสูงถึง 60,000 ล้านบาท ในปี 2567 (ข้อมูลจาก Whoscall และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ)

    เพื่อสร้างความตระหนักให้ประชาชนพร้อมรับมือกับความยุคที่สถานการณ์ที่มีข่าวลวงและข่าวปลอมมากขึ้น จึงมีการจัดงานสัมมนาระดับชาติเนื่องในโอกาสวันตรวจสอบข่าวลวงโลก ปี 2568 (International Fact-Checking Day 2025) หัวข้อ “สงครามข้อมูล 2025 : โจทย์แห่งความจริงในยุควิกฤตความเชื่อมั่น (The Battle for Truth: Reclaiming Information Integrity in the Age of Distrust) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), โคแฟค ประเทศไทย ภาคีเครือข่าย 20 องค์กร และ Thai PBS Verify

    นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบันข่าวลวง และข้อมูลที่บิดเบือน สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วและไร้พรมแดน จากรายงานความเสี่ยงระดับโลกประจำปี 2567 โดยเว็บไซต์ www.weforum.org เผยว่า ในอีก 2 ปี ข้างหน้า ข้อมูลเท็จและข้อมูลบิดเบือน จะเป็นสาเหตุความเสี่ยงอันดับ 1 ของโลก ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง สังคม ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจ ในไทยปีที่ผ่านมา

    ในช่วงเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อไทย ในโลกออนไลน์ได้มีการแชร์ข่าวปลอมจำนวนมาก มิจฉาชีพอาศัยสถานการณ์ดังกล่าว ส่งลิงก์ผ่าน SMS และโพสต์ลิงก์ข่าวปลอม ก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยในทรัพย์สินและข้อมูลส่วนตัว

    สสส. ร่วมกับโคแฟค (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่าย จัดงานสัมมนาระดับชาติฯ ส่งเสริมให้ประชาชนมีทักษะการคิดวิเคราะห์ การตรวจสอบข้อมูล การรู้เท่าทันสื่อ และสนับสนุนให้เกิดกลไกเฝ้าระวังตรวจสอบสื่อและข้อมูลสุขภาพ เกิดเป็นวิถีปฏิบัติของสังคมในการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ สำหรับผลการดำเนินงานของ โคแฟค ประเทศไทย ที่ สสส. ร่วมผลักดันสนับสนุนให้ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงบนสื่อออนไลน์ ตั้งแต่ปี 2563-2568 ขณะนี้มีข้อมูลข่าวลวงและข่าวจริงที่อยู่ในฐานข้อมูลมากกว่า 10,000 เรื่อง นับเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่อันดับ 2 รองจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย มีผู้ใช้งานแพลตฟอร์มเพื่อสืบค้นข้อมูลมากกว่า 500,000 ครั้ง สะท้อนความสำเร็จในการร่วมมือกันของหน่วยงานทุกภาคส่วน ที่ร่วมกันสร้างสังคมแห่งความจริง ช่วยให้ประชาชนสามารถแยกแยะข้อมูลที่ถูกต้องจากข้อมูลที่บิดเบือน และมีภูมิคุ้มกันต่อภัยร้ายของข่าวลวง

    ด้าน รศ. ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เสรีภาพในการแสดงออก ต้องเดินไปพร้อมกับความรับผิดชอบ และข้อมูลที่ถูกต้อง คือรากฐานที่เข้มแข็งของสังคม คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินหน้าสานพลังร่วมกับ สสส. โคแฟค ประเทศไทย และภาคีเครือข่าย มุ่งขับเคลื่อนหลักการตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact-checking) เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางข้อมูลให้ประชาชน ร่วมสร้างพื้นที่สื่อสารที่ปลอดภัย น่าเชื่อถือ

    ขณะที่ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผลสำรวจสถานการณ์การหลอกลวงทางออนไลน์ในประเทศไทย ไตรมาสที่ 1 ปี 2567 โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สร้างมูลค่าความเสียหายสูงถึง 60,000 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่รุนแรงและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ปีนี้ โคแฟค ประเทศไทย ร่วมกับ สสส. เดินหน้ายกระดับการรับมือข้อมูลลวง ผ่านการทำงานร่วมกับองค์กรสื่อมวลชน 11 แห่ง มุ่งทำงานเชิงรุก เช่น การจัดทำแคมเปญ “บริจาคข่าวลวง” เพื่อนำมาวิเคราะห์ตรวจสอบข้อเท็จจริง และเผยแพร่ให้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องในวงกว้าง

    ส่วน แดเนียล ฟังค์กี้ หัวหน้าฝ่ายสืบสวนดิจิตอลสำหรับเอเชียแปซิฟิก สำนักข่าว AFP ฮ่องกง กล่าวว่า ในปัจจุบันท่ามกลางสงครามข้อมูลข่าวสาร ความเชื่อมั่นในข้อมูลจึงลดลง จากสำนักข่าวต่าง ๆ หรือข่าวโฆษณาชวนเชื่อ สร้างข้อมูลเท็จ บิดเบือน ดังนั้น ทุกคนต้องสามารถมีส่วนร่วมที่จะมีความรู้เท่าทันสื่อ และในการตรวจสอบข้อมูล

    “ความเชื่อมั่นของข่าวกรองอาจยังไม่กลับมา ต้องมีกระบวนการทำซ้ำ ตรวจสอบอย่างต่อเนื่องจึงจะสามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้”

    เจฟฟ์ กัว ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง แอปพลิเคชัน Whoscall กล่าวว่า AI มีทั้งความท้าทายในการสร้างนวัตกรรม ขณะเดียวกันถูกใช้เป็นเครื่องมือมิจฉาชีพ

    โดย 1 ใน 4 ของคนไทยถูกหลอกจากมิจฉาชีพ เฉลี่ย 36,000 บาทต่อคน ความเชื่อมั่นถูกบั่นทอน บริษัทโกโกลุก เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ร่วมมือกับหน่วยงานรัฐเอกชนในการดักจับข้อมูลสแกมทางโทรศัพท์

    “เทคโนโลยี ไม่ได้สร้างความเชื่อมั่น แต่มนุษย์ต่างหากที่จะสร้างความเชื่อมั่น หากทุกคนร่วมกันตรวจสอบข้อมูล”

    ทั้งนี้ ในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย เช่น การเสวนา เรื่อง สงครามข้อมูล 2025 : สื่อจะช่วยสังคมเข้าถึงข้อเท็จจริงได้อย่างไร จากคนในวงการสื่อมวลชนระดับแถวหน้า วงเสวนา Lightning Talks ยกระดับ รับมือ ข้อมูลบิดเบือน 4.0 โดยเหล่า fact-checkers เช่น โคแฟคไต้หวัน สำนักข่าว AFP, ไทยพีบีเอส และชัวร์ก่อนแชร์ อสมท. นำเสนอพัฒนาการจากยุคโทรเลขถึงยุคเอไอ รับมืออย่างไรให้เท่าทัน โดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)

    สารบัญประกอบ