แชร์

Copied!

2 เมษายน “วันตรวจสอบข่าวลวงโลก”

2 เม.ย. 6808:18 น.
2 เมษายน “วันตรวจสอบข่าวลวงโลก”

สารบัญประกอบ

    วันตรวจสอบข่าวลวงโลก หรือ วันตรวจสอบข้อเท็จจริงสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 2 เมษายนของทุกปี ถือเป็นอีกหนึ่งวันที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะกับยุคที่ใครก็สามารถเป็นผู้ผลิตข้อมูลข่าวสารได้แค่ปลายนิ้ว

    2 เมษายนของทุกปี ถือเป็นวัน Fact-Checking Day หรือ วันตรวจสอบข้อเท็จจริงสากล ซึ่งในยุคที่ใครก็สามารถเป็นผู้ผลิตข้อมูลข่าวสาร ทำให้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแยกแยะให้ออกว่า ข่าวไหนจริง ข่าวไหนปลอม ? ความสำคัญของการตรวจสอบข้อเท็จจริงสำคัญอย่างไร และมีที่มาอย่างไร อ่านได้จาก Thai PBS Verify

     

    วันที่ 2 เมษายน Fact-Checking Day สำคัญอย่างไร ?

    ในยุคที่ข้อมูลต่าง ๆ แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและเข้าถึงได้ง่าย ๆ แค่ปลายนิ้ว และไม่ว่าใครก็สามารถเป็นผู้ผลิตข้อมูลข่าวสาร การแยกแยะว่าข้อมูลใดเป็นข้อเท็จจริงและข้อมูลใดเป็นข่าวลวง (Fake News) จึงกลายมาเป็นทักษะสำคัญสำหรับทุกคน วัน Fact-Checking Day หรือ วันตรวจสอบข้อเท็จจริงสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 2 เมษายนของทุกปี จึงถูกกำหนดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนแชร์ข้อมูล

    ที่มาของวัน Fact-Checking Day

    วัน Fact-Checking Day ถูกริเริ่มโดย "เครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงระหว่างประเทศแห่งสถาบันพอยน์เตอร์" (International Fact-Checking Network at Poynter) ในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ที่ได้ตั้งเครือข่ายตรวจสอบความจริงนานาชาติ (The International Fact-Checking Network) เมื่อปี 2558 โดยทำการรวบรวมเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทั่วโลกเข้ามาเป็นสมาชิก และได้เลือกให้วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี เป็นวัน Fact-Checking Day เนื่องจากเป็นวันถัดจาก วันโกหกโลก (April Fool’s Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายน โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาข่าวปลอมและข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ที่มักแพร่กระจายในช่วงวันดังกล่าว

    ความสำคัญของวัน Fact-Checking Day

    วัน Fact-Checking Day มีความสำคัญอย่างยิ่งในโลกปัจจุบัน เพราะข้อมูลเท็จสามารถสร้างผลกระทบที่ร้ายแรงได้ ไม่ว่าจะเป็นข่าวปลอมที่เกี่ยวกับสุขภาพ, สังคม, การเมือง, ภัยพิบัติ หรือเศรษฐกิจ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคมและนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ มากมาย

    การให้ความรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงในวันสำคัญนี้มีประโยชน์ในหลายด้าน เช่น

    ✅ เสริมสร้างความรู้เท่าทันสื่อ

    ผู้คนจะได้รับการส่งเสริมให้พิจารณาข้อมูลอย่างรอบคอบก่อนแชร์หรือเชื่อข้อมูลใด ๆ

    ✅ ลดการแพร่กระจายของข่าวปลอม

    การมีสำนึกในการตรวจสอบข้อเท็จจริงช่วยลดโอกาสที่ข้อมูลเท็จจะแพร่กระจาย

    ✅ สร้างวัฒนธรรมการรับรู้ข้อมูลอย่างมีวิจารณญาณ

    ทำให้สังคมมีการรับรู้ข่าวสารบนพื้นฐานของความเป็นจริง ไม่ใช่อารมณ์หรือความเชื่อส่วนตัว

    ✅ ส่งเสริมความโปร่งใสในการสื่อสาร

    ทั้งสื่อมวลชน องค์กร และประชาชนทั่วไป เพื่อจะได้เป็นแรงกระตุ้นให้มีความรับผิดชอบต่อข้อมูลที่เผยแพร่

    เราจะมีส่วนร่วมในวัน Fact-Checking Day ได้อย่างไร ?

    ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของวัน Fact-Checking Day ได้ง่าย ๆ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ :

    ✅ ตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูล ก่อนแชร์ข่าวหรือบทความใด ๆ ควรพิจารณาว่ามาจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือหรือไม่

    ✅ ใช้เครื่องมือตรวจสอบข้อเท็จจริง เช่น Google Fact Check Tools, เว็บไซต์ที่ได้รับการรับรองจาก IFCN หรือเพจ Thai PBS Verify

    ✅ ตั้งคำถามกับข้อมูลที่ดูน่าสงสัย หลีกเลี่ยงการแชร์ข้อมูลที่ยังไม่มีการยืนยันข้อเท็จจริง

    ✅ ร่วมแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบข่าวปลอม ไปยังเพื่อน ครอบครัว และเครือข่ายสังคมออนไลน์ของคุณ

    สำหรับปีนี้ Cofact Thailand พร้อมด้วย ภาคี Fact Checkers ได้ร่วมกันจัดวันตรวจสอบข่าวลวงโลก 2568 (International Fact-Checking Day 2025) สงครามข้อมูล 2025 : โจทย์แห่งความจริงในยุควิกฤตความเชื่อมั่น The Battle for Truth: Reclaiming Information Integrity in the Age of Distrust ในวันพุธที่ 2 เมษายน 2568 ตั้งแต่เวลา 10:00-19:00 ณ หอศิลป์วัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BAAC) ซึ่งภายในงานมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงภาคี Fact Checkers ขึ้นให้ความรู้และร่วมเสวนาภายในหัวข้อต่าง ๆ โดย รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ร่วมเสวนาเรื่อง "สงครามข้อมูล 2025: สื่อจะช่วยสังคมเข้าถึงข้อเท็จจริงได้อย่างไร" ภายในงานดังกล่าว

    ขณะที่ น.ส.กนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส จะร่วมเสวนา ​Lightning Talks ‘ยกระดับ รับมือ ข้อมูลบิดเบือน 4.0’ ในเวลา 14.45 น. อีกด้วย โดยประชาชนทั่วไปสามารถเข้าร่วมรับฟังเสวนาหรือร่วมกิจกรรมต่าง ๆ กับบูทของ Thai PBS Verify ที่ร่วมให้ความรู้พร้อมกับกิจกรรมแจกของรางวัลภายในงาน รวมถึงรับชมผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่เฟซบุ๊กของ Thai PBS ได้อีกช่องทางหนึ่งด้วยเช่นเดียวกัน

    📌ติดตามชมการถ่ายทอดสดทางออนไลน์
    • Facebook : Thai PBS, Cofact โคแฟค
    • YouTube : www.youtube.com/ThaiPBS

    #ThaiPBS #ThaiPBSVerify

    สารบัญประกอบ