"อารมณ์" หลักจิตวิทยาสำคัญที่มิจฉาชีพใช้ในการหลอกเหยื่อ
เราพูดคุยกับ รศ.ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ รองคณบดี วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งให้ความคิดเห็นถึงหลัก "จิตวิทยา" ที่มิจฉาชีพนิยมใช้ว่า กลุ่มมิจฉาชีพตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยังคงใช้เทคนิคการควบคุม "อารมณ์" เป็นหลักในการเพื่อหลอกลวงเหยื่อ โดยอารมณ์ที่คนร้ายใช้นั้นมี 4 รูปแบบ ได้แก่
ความรัก (Love)
Romance Scam หรือ Love Scam ซึ่งเป็นกลโกงที่คนร้ายใช้สร้างความสัมพันธ์ทางอารมณ์กับเหยื่อ เพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเงิน โดยมิจฉาชีพมักแสร้งทำเป็นคนรักหรือคู่ครองที่แสนดี จากนั้นจึงค่อย ๆ หลอกล่อให้เหยื่อโอนเงินหรือให้ข้อมูลสำคัญแก่พวกเขา ซึ่งการหลอกลวงลักษณะนี้จะไม่เน้นในเรื่องของระยะเวลาที่สั้นหรือรวดเร็ว แต่จะใช้ความรู้สึกหรือความเชื่อใจของเหยื่อ ซึ่งถ้าหากคนร้ายมั่นใจแล้วว่า
ความกลัว (Fear Tactics)
มิจฉาชีพมักใช้ความกลัวเป็นตัวกระตุ้นให้เหยื่อตื่นตระหนก เช่น อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐ เช่น ตำรวจ แจ้งว่ามีคดีความเกี่ยวข้องกับเหยื่อที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน หากไม่ดำเนินการทันทีอาจถูกดำเนินคดี ซึ่งในส่วนของความกลัวนั้น ผู้ที่ถูกหลอกลวงมักจะจะเป็นผู้ที่มีพื้นฐานความกลัวอยู่แล้ว หรือเป็นผู้ที่มีความผิดติดตัวอยู่ลึก ๆ หรือมีความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่มีบอกใครและเมื่อถูกมิจฉาชีพใช้ความกลัวเข้ามาเล่นงาน จึงทำให้เหยื่อเกิดความรู้สึกกลัวเกิดขึ้น และหลงเชื่อคำขู่ของเหล่ามิจฉาชีพ
ความเสียดาย (Sunk Cost Fallacy Scam)
ความเสียดายถือว่าสร้างความเสียหายให้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากเมื่อเหยื่อหลงกลจ่ายเงินไม่ว่าจะเป็นจากความกลัวหรือความโลภไปแล้ว และเกิดความเสียดายเงินก้อนดังกล่าว มิจฉาชีพก็มักจะใช้กลลวงต่อด้วยการปลอบประโลม ว่าหากต้องการเงินคืน ก็จะต้องโอนเงินเข้าไปเพิ่มเพื่อเป็นค่าธรรมเนียมสำหรับการถอนเงิน ซึ่งคนร้ายจะใช้การพูดในลักษณะเป็นพวกเดียวกันกับเหยื่อ การใช้ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจหากเหยื่อยังคงรู้สึกสงสัย เพื่อให้เหยื่อรู้สึกว่ากำลังได้รับความช่วยเหลือจริง ๆ และด้วยอารมณ์ของคนที่สูญเสียเงินและต้องการได้คืนนั้น ก็มักที่จะยินยอมทำทุกอย่าง จนสุดท้ายต้องกลายเป็นเหยื่อซ้ำสอง
ความโลภ (Greed & Reward Promises)
แม้ในส่วนของจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกด้วยกลลวงจากอารมณ์โลภ จะมีจำนวนไม่มาก หรือเกิดขึ้นบ่อยกว่ากลลวงอื่น ๆ แต่ความโลภ ถือเป็นกลลวงที่ทำให้มูลค่าความเสียหายมีจำนวนสูงมากที่สุด เพราะเหยื่อส่วนใหญ่ที่ถูกหลอกมักจะเป็นคนมีฐานะ มีวิธีคิดในด้านการลงทุน ซึ่งมักจะเชื่อหรือดำเนินชีวิตด้วยการลงทุนต่าง ๆ เป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันมิจฉาชีพก็ยังคงใช้เทคนิคเดิม ๆ คือการล่อเหยื่อด้วยข้อเสนอที่ดูดีเกินจริง เช่น ลงทุนแล้วจะได้ผลตอบแทนที่สูงในระยะเวลาอันสั้น โดยเทคนิคนี้มักดึงดูดให้เหยื่อตัดสินใจลงทุนและได้ผลตอบแทนในช่วงแรก ๆ ซึ่งเมื่อเหยื่อหลงเชื่อลงทุนเพิ่มด้วยความโลภ ท้ายที่สุดก็จะถูกโกงจนสูญเสียเงินทั้งหมดไป คงเหลือเพียงเงินเล็กน้อยเท่านั้นที่ได้รับกลับมา
แนวทางในการป้องกันตัวจากนักอาชญาวิทยา
การมีสติ อย่าใช้อารมณ์ และอย่ารีบตัดสินใจ ยังถือเป็นสิ่งสำคัญเสมอ ซึ่งด้วยระยะเวลาที่คนไทยอยู่กับแก๊งคอลเซนเตอร์มาอย่างยาวนาน จึงเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่เริ่มมีภูมิคุ้มกันกับเรื่องเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการไม่รับเบอร์โทรศัพท์แปลกปลอม การใช้เทคโนโลยีคัดกรอง หรือการตรวจสอบเบื้องต้นด้วยตนเอง
แม้การรู้เท่าทันจะมีความสำคัญ แต่สิ่งสำคัญกว่าคือการรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง เพราะแต่ละคนมีอารมณ์ความรู้สึกในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกัน
หากจะให้ยกตัวอย่าง เช่น นายเอ อาจเคยทำความผิดเช่นการขายบุหรี่ไฟฟ้า และเป็นช่วงจังหวะที่คนร้ายโทรศัพท์เข้ามาข่มขู่ด้วยความกลัว จนทำให้นายเอกลัวจะถูกดำเนินคดีและยอมโอนเงินให้กับคนร้ายที่อ้างว่าเพื่อทำการตรวจสอบหรืออายัด จนท้ายที่สุดสูญเสียเงิน หรือ นางสาวบี อยู่ในช่วงอกหัก และเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่คนร้ายเข้ามาหลอกลวงด้วยความรัก ก็อาจทำให้เกิดความรู้สึกคล้อยตามหรือหลงรัก จนท้ายที่สุดถูกหลอกว่าจะมาอยู่ด้วย หรือส่งสิ่งของมีมูลค่าสูงมาให้ แต่ต้องเสียเงินค่าภาษีซึ่งเมื่อเหยื่อหลงรักไปแล้วก็อาจจะหลงเชื่อจนนำมาสู่การสูญเสียทรัพย์สินด้วยเช่นเดียวกัน
ดังนั้นนอกจากการมีความรู้เท่าทันภัยคุกคามทางไซเบอร์แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีสติรู้ทันอารมณ์ของตนเอง เพราะแม้จะมีความรู้มากมายเท่าใด ก็ไม่พ้นเงื้อมมือเหล่ามิจฉาชีพเหล่านี้ไปได้ หากขาดสติและการรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง