แชร์

Copied!

คลิปช่วยผู้รอดชีวิตตึก สตง. พบเป็นเพียงคลิปเก่า

12 เม.ย. 6809:57 น.
สิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ#ข่าวปลอม
คลิปช่วยผู้รอดชีวิตตึก สตง. พบเป็นเพียงคลิปเก่า

คลิปอ้างว่าพบผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ตึก สตง. ถล่ม คนล่าสุด แต่จากการตรวจสอบพบเป็นเพียงคลิปเก่า พบคนหลงเชื่อเข้าไปดูแล้วเกือบ 3 แสนครั้ง

Thai PBS Verify ตรวจสอบพบคลิปการพบผู้สูญหายที่ถูกรับชมไปเกือบ 3 แสนครั้ง ตรวจสอบพบเป็นเพียงคลิปเก่าเมื่อ 28 มี.ค. 68 ขณะที่คนหลงเชื่อแชร์คลิปเกือบ 600 ครั้ง เตือนอย่าหลงเชื่อ

Thai PBS Verify พบผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ "วาสนา รักเมืองไทย" โพสต์คลิป Reels ระบุข้อความว่า "นาทีชีวิตพบผู้รอดชีวิตเพิ่ม 1 คน เร่งกู้ชีพนำส่งโรงพยาบาล" ได้ถูกโพสต์หลังจากที่วันนี้ (11 เม.ย. 68) มีข่าวการพบไฟสัญญาณ ที่คาดว่าจะเป็นของผู้สูญหายที่ติดอยู่ภายใต้ซากตึก สตง.

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงคลิปปลอม

 

อย่างไรก็ตามการค้นหาด้วยคำสำคัญทาง google ยังพบการโพสต์คลิปเดียวกันในโซเชียลมีเดียอื่น ๆ เช่น นี่ และ นี่ อีกด้วย

เราได้นำคลิปดังกล่าวมาทำการตรวจสอบด้วยการค้นหาภาพย้อนหลัง โดยใช้คีย์เฟรมจากเครื่องมือตรวจสอบดิจิทัล InVid-WeVerify และการค้นหาย้อนหลังด้วยคำสำคัญ พบวิดีโอเดียวกันปรากฏอยู่ในยูทูบของ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ที่ได้มีการโพสต์ข่าวการรายงานสด การให้ความช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากตึก สตง. ถล่มรายแรก ที่สามารถนำตัวออกมาได้เมื่อเวลา 19.50 น. เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 68 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ขณะที่มีการลำเลียงผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตออกมาจากซากตึก จำนวน 3 คน (ลิงก์บันทึก)

การตรวจสอบด้วยการค้นหาภาพย้อนหลังโดยใช้คีย์เฟรมจากเครื่องมือตรวจสอบดิจิทัล InVid-WeVerify

ภาพบันทึกการรายงานสดของช่องยูทูบ CH7HDNews

ขณะที่การค้นหาด้วยคำสำคัญทาง google ยังพบการรายงานข่าวดังกล่าวจาก สำนักข่าวไทย ในเหตุการณ์เดียวกันอีกด้วย (ลิงก์บันทึก)

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงการรายงานการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568

อย่างไรก็ตามวันที่ 11 เม.ย. 68 บัญชีเฟซบุ๊กของกรุงเทพมหานคร ได้ไลฟ์สดการแถลงข่าวของ นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อเวลา 19.30 น. ซึ่งการแถลงข่าวดังกล่าวระบุว่า กรณีพบสัญญาณตอบรับ ที่เชื่อว่าอาจมีผู้รอดชีวิตนั้น ในขณะนี้ยังคงอยู่ระหว่างการเร่งค้นหา เพื่อเข้าให้ถึงจุดที่พบแสงไฟ ซึ่งล่าสุดยังคงมีอุปสรรคจากเศษซากของอาคาร ทำให้เชื่อว่าการจะไปถึงยังจุดดังกล่าวน่าจะใช้เวลาถึงช่วงเช้า (ลิงก์บันทึก)

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แถลงข่าวยังไม่พบผู้รอดชีวิตเพิ่มเติม

ส่วนการค้นหาขณะนี้มีการดำเนินการ 2 จุด คือจุดที่พบสัญญาณไฟ แต่ขณะนี้ยังไม่ถึงจุดที่คาดว่า จะมีผู้ติดค้างอยู่ ส่วนจุดที่ 2 คือโซน C ที่ล่าสุดพบร่างของผู้สูญหายแล้ว และอยู่ระหว่างการนำร่างออกมา ซึ่งในจุดที่ 2 นี้เป็นเคสดำ (เสียชีวิต)

สำหรับยอดของผู้ประสบเหตุอาคาร สตง. ถล่ม ตลอดวันที่ 11 เม.ย. 68 ณ เวลา 10.00 น. มีผู้ประสบเหตุ 103 คน เสียชีวิตรวม 27 ราย มีผู้บาดเจ็บ 9 คน และอยู่ระหว่างการติดตาม 67 คน

กระบวนการตรวจสอบ

  1. ใช้การค้นหาด้วยคำสำคัญทาง google ด้วยคำว่า "ผู้รอดชีวิต" ในการค้นหาคลิปดังกล่าว
  2. การค้นหาภาพย้อนหลังด้วยคีย์เฟรมจากเครื่องมือตรวจสอบภาพดิจิทัล InVid-WeVerify
  3. การยืนยันจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้

ผลกระทบของข้อมูลเท็จนี้เป็นอย่างไร ?

ในช่วงที่หลายคนกำลังให้ความสนใจกับการค้นหาสัญญาณของผู้รอดชีวิต และเมื่อมีการเผยแพร่คลิปปลอมนี้เกิดขึ้น ทำให้คลิปดังกล่าวถูกแชร์ไปอย่างรวดเร็ว จนก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ว่ามีการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตในพื้นที่เกิดเหตุออกมาได้ ซึ่งถือเป็นการเผยแพร่ข่าวปลอมสู่สาธารณะ โดยเราพบว่ามีผู้หลงเชื่อคลิปดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

ภาพแสดงความคิดเห็นของประชาชนบางส่วนที่หลงเชื่อคลิปปลอมดังกล่าว

ข้อแนะนำเมื่อได้ข้อมูลเท็จนี้ ?

1. เช็กแหล่งที่มา – ดูว่าใครเป็นผู้เผยแพร่ และเชื่อถือได้หรือไม่

2. ดูวันที่ – ตรวจสอบว่าคลิปเป็นเหตุการณ์ล่าสุดหรือเก่าแล้ว

3. ใช้เครื่องมือออนไลน์ – เช่น InVID, Google Reverse Image Search

4. เปรียบเทียบกับสื่อหลัก – ดูว่ามีสื่อที่เชื่อถือได้รายงานเหตุการณ์นี้หรือไม่

5. ระวังอารมณ์ – ถ้าคลิปกระตุ้นอารมณ์แรง ๆ อาจเป็นการจงใจหลอก

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ตรวจสอบ “ข่าวบิดเบือน” ช่วงแผ่นดินไหวเขย่ากรุง !
สิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ#ข่าวปลอม

ตรวจสอบ “ข่าวบิดเบือน” ช่วงแผ่นดินไหวเขย่ากรุง !

28 มี.ค. 68