แชร์

Copied!

ตรวจสอบ “ข่าวบิดเบือน” ช่วงแผ่นดินไหวเขย่ากรุง !

28 มี.ค. 6820:46 น.
สิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ#ข่าวบิดเบือน
ตรวจสอบ “ข่าวบิดเบือน” ช่วงแผ่นดินไหวเขย่ากรุง !

ช่วงเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมียนมา ซึ่งส่งผลให้ประชาชนในประเทศไทยจนสามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้นั้น Thai PBS Verify พบข่าวลือต่าง ๆ แพร่สะพัดจำนวนมาก แต่จากการตรวจสอบพบเป็นเพียงแค่การบิดเบือนเพียงเท่านั้น

ในช่วงเหตุการณ์ แผ่นดินไหวเมียนมา ขนาด 8.2 ความลึก 10 กิโลเมตร ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ 326 กิโลเมตร เมื่อเวลา 13:20 น. ซึ่งส่งผลให้ประชาชนในประเทศไทย สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ตั้งแต่ กรุงเทพมหานคร, ภาคเหนือ และภาคกลาง รวมถึงยังมีอาฟเตอร์ช็อกขนาดใหญ่ตามมานั้น (ลิงก์บันทึก)

ข่าวลือแพร่สะพัด

Thai PBS Verify พบข่าวลือต่าง ๆ แพร่สะพัดจำนวนมาก โดยข่าวลือที่พบได้แก่

สะพานภูมิพลกำลังสลิงขาด (ลิงก์บันทึกที่ นี่ นี่ และ นี่)

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงโพสต์จากเพจและผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก อ้างว่าสะพานภูมิพลกำลังจะขาด

เราตรวจสอบกรณีของสะพานภูมิพล พบว่า มีเพียงการปิดสะพานเพื่อตรวจสอบเพียงเท่านั้น เนื่องจากทางเขตราษฎร์บูรณะแจ้งว่า ปิดเนื่องจากมีเศษหินหล่น

ภายหลังเพจเฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร ได้โพสต์แจ้งว่า #update ใช้เส้นทางการจราจรได้ปกติ สะพานพระราม 3 สะพานภูมิพล
#แผ่นดินไหว (ลิงก์บันทึกที่ นี่ และ นี่)

 

ส่วนกรณีที่มีการแชร์ว่า สลิงของสะพานกำลังจะขาด สถานีโทรทัศน์ Thai PBS ได้รายงานยืนยันว่า นายมนตรี เดชาสกุลสม อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า จากกระแสข่าวที่ปรากฏทางสื่อ Social หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว กรณีสลิงบนสะพานภูมิพลขาด และปิดการจราจรนั้น กรมทางหลวงชนบท (ทช.) โดยหมวดบำรุงทางหลวงชนบทวงแหวนอุตสาหกรรม สำนักบำรุงทาง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลสะพานดังกล่าว ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและขอยืนยันว่าสลิงบนสะพานภูมิพลยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ และประชาชนยังสามารถใช้สะพานในการสัญจรได้ตามปกติ

จึงขอเรียนแจ้งมาเพื่อให้ประชาชนรับทราบ เพื่อไม่ให้เกิดข่าวสารบิดเบือนไปจากความเป็นจริง โดยสามารถติดตามข่าวสารที่ถูกต้องได้ทาง Facebook กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม หรือโทรสายด่วน ทช. 1146 (ลิงก์บันทึก)

ตึกใบหยกเอียง

 

นอกจากนี้ เรายังพบข่าวลือเกี่ยวกับกรณีของ "ตึกใบหยกเอียง" จากโพสต์ต่าง ๆ อีกด้วย (ลิงก์บันทึกที่ นี่ นี่ และ นี่)

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงโพสต์จากผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กที่อ้างตึกใบหยกเอียง

กรณีดังกล่าว "เบียร์ ใบหยก" ได้โพสต์ข้อความผ่าน Beerbaiyoke ระบุว่า "สวัสดีครับ หลายคนคงรอโพสนี้อยู่ ที่โพสช้าเพราะ ผมกำลังดูแลแขก ตรวจเช็คความเรียบร้อยกับวิศวกรที่ตึก ข้อความส่งมาเยอะมาก ขอบคุณที่ห่วงใยกันนะครับ

นี่ไม่ใช่แผ่นดินไหวครั้งแรกครับ เราจึงมีความชำนาญเรื่องความปลอดภัยและดูและแขก ปล.ที่มีข่าวว่าตึกร้าวตึกเอียงไม่เป็นความจริงนะครับ สีมันแตกเป็นเรื่องปกติครับ (ก่อนหน้านี้ก็สีแตก)  ตึกนี้มีติดสติ๊กเกอร์โฆษณา พอลองบางทีมันก็สีหลุด เดี๋ยวไปทาให้สวยนะ 😅

ตอนที่ผมรู้ว่าแผ่นดินไหวแรง ผมอยู่ข้างนอก ผมมองไปรอบๆ ไม่มีตึกใกล้เคียงได้รับความเสียหาย ผมไม่ได้ห่วงว่าตึกใบหยกจะเป็นอะไรนะ เพราะเรามั่นใจ แต่ผมห่วง ความรู้สึกแขก พนักงานทุกคนมากกว่า เลยแคนเซิลประชุม แล้วก็เลยนั่งมอไซกลับมาครับ  รถติดสุดโลก วันนี้

ปล.ตึกใบหยก สร้างขึ้นเพื่อรองรับแผ่นดินไหวแรงมากเป็นพิเศษกว่าตึกอื่นๆอยู่แล้ว  ครั้งนี้ ศูนย์กลางไม่ใช่กรุงเทพ เข้าใจว่า กรุงเทพไม่ได้มีรอยเลื่อน ส่วนใหญ่จะเกิดจากประเทศพม่าซึ่งเหมือนครั้งนี้ ขอบคุณในความห่วงใยครับ ขอให้ทุกคนปลอดภัยนะ ผมนักเรียกญี่ปุ่น ประเทศที่เจอวันแผ่นดินไหวเยอะมาก

ผมเคยเจอไหวหนักกว่านี้หลายเท่า ครั้งแรกก็ตกใจ แต่คนเค้าปลูกฝังไว้ตั้งแต่เด็กๆ หาที่หลบของที่จะร่วงลงมา ออกจากอาคาร ปิดน้ำ ปิดแก๊ส และอย่าตกใจจนขาดสติครับ

ขอบคุณพนักงานที่ตึกใบหยก ทั้งเครือที่ช่วยกันดูแลแขกอย่างดีที่สุด เหนือสิ่งอื่นใด เรารักลูกค้าและห่วงความปลอดภัยของลูกค้าที่สุดครับ ฉะนั้น แขกที่เจอแผ่นดินไหวเมื่อกี้ จัดข้าวจัดน้ำ ฟรี!!! ไปเลยยยยยย

ปล บุฟเฟ่ต์วันนี้ปิดก่อนนะครับ ขอรีเช็ค ระบบลิฟต์โดยผู้เชี่ยวชาญ อย่างละเอียดก่อนนะครับ
ปล.ก็ไม่แปลกครับที่คนจะห่วงตึกใบหยก ผมดีใจนะที่ตึกใบหยก ยังเป็นสัญลักษณ์ของตึกสูงที่สุดอยู่
ปล. สุดท้าย ตึกเนี๊ย โครงสร้าง เจาะลึกไปข้างล่างจนมองไม่เห็นเลยนะ เสาเข็ม เว่อเกินตึกทั่วไปครับผม กระจกยังไม่มีแตกเลยครับ (กระจกคือส่วนที่อ่อนแอที่สุด)

ชีวิตต้องเดินต่อนะ สู้ๆ ไทยแลนด์ รักนะครับ ขอบคุณครับ จากทีมงานตึกใบหยก 😊❤️ แอดมินเบียร์ พิม" (ลิงก์บันทึก)

 

ตึกใบหยกสีลอก หรือ รอยร้าว

 

เราได้นำภาพที่มีการอ้างว่าเป็นรอยร้าวของตึกใบหยกไปเปรียบเทียบกับภาพในอดีต พบว่า ตึกใบหยกมีสภาพของสีที่แตกตั้งแต่ปี 2011ที่เริ่มมีการบันทึกภาพของ Google map เป็นต้นมา

 

ภาพที่มีการอ้างว่าตึกใบหยกเกิดรอยร้าว

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงโพสต์ที่มีการอ้างว่าตึกใบหยกเกิดรอยร้าว

ภาพตึกใบหยก จากแผนที่ Google map เมื่อปี 2011

ภาพของตึกใบหยกจากแผนที่ Google mapเมื่อปี 2020

ภาพของตึกใบหยก ปี 2024

นอกจากนี้ทางเพจ "Baiyoke sky" ยืนยันว่า ตึกไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด โดยระบุผ่านโพสต์ว่า
ภาพบันทึกหน้าจอแสดงโพสต์ของเพจใบหยกสกายยืนยันว่าตึกไม่ได้รับความเสียหาย
เรียน คุณลูกค้าที่เคารพทุกท่าน
ตามที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ในวันที่ 28 มีนาคม 2568 ช่วงเวลา 13.20 น. ที่ผ่านมานั้น
ขณะนี้สถานการณ์ที่โรงแรมใบหยกสกาย (ตึกใบหยก 2) เรียบร้อยดี จากการตรวจสอบ “ไม่พบร่องรอยความเสียหายที่กระจกของอาคาร“ (ซึ่งกระจกเป็นส่วนที่บอบบางที่สุด) รวมถึงอาคารใบหยก 2 ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับแผ่นดินไหวอยู่แล้ว
และขณะเกิดแผ่นดินไหว ทางโรงแรมฯ ได้ทำการอพยพ รวมถึงดูแลลูกค้าทุกท่านออกจากอาคารอย่างปลอดภัย ตามขั้นตอนและมาตรการทึ่กำหนดไว้
จึงเรียนมาเพื่อทราบ
ขอแสดงความนับถือ
โรงแรมใบหยกสกาย
***Edit เพิ่มเติมข้อมูล***
ทางโรงแรมได้ทำการตรวจสอบแล้ว ไม่มีความเสียหายแม้แต่น้อย
ส่วนที่เปราะบางที่สุด คือกระจก ซึ่งสำรวจแล้วไม่มีแม้แต่รอยร้าว
ผู้ออกแบบได้ออกแบบให้รับแรงแผ่นดินไหวที่ระดับรุนแรงกว่าตึกทั่วไป
โครงสร้างตึกที่รองรับแผ่นดินไหวถูกออกแบบให้สามารถ “ยืดหยุ่น” หรือ “โยก” ได้ในระดับที่ควบคุมได้เมื่อเกิดแผ่นดินไหว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายรุนแรงหรือพังถล่ม (ลิงก์บันทึก)

Thai PBS Verify ขอเป็นกำลังใจให้ประชาชนทุกคนผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้อย่างปลอดภัย และขอให้ร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ เพื่อป้องกันภัยจากข่าวลวงที่แฝงมาในช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้