ในแวดวงผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะ เรื่องราวของวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่มีอิทธิพลต่อ วินเซนต์ แวนโก๊ะ หรือ ฟินเซนต์ ฟัน โคค อาจเป็นที่รับรู้กันดี แต่สำหรับเราทั่ว ๆ ไป อาจแค่เคยผ่านหูไม่บ่อยนัก การที่สารคดี Great Art : Van Gogh & Japan พาเราไปรับรู้ความรักอันยิ่งใหญ่ที่แวนโก๊ะมีต่อญี่ปุ่นจึงชวนให้ตื่นเต้นได้ไม่น้อย
และยิ่งน่าทึ่งเข้าไปใหญ่เมื่อเราได้รู้ด้วยว่า ไม่เฉพาะแวนโก๊ะ แต่ศิลปินตะวันตกยุคศตวรรษที่ 19 จำนวนมากต่างได้รับแรงบันดาลใจจากญี่ปุ่น อย่างกว้างขวางและลึกซึ้งระดับ “คลั่งไคล้” จนถึงกับต้องบัญญัติคำว่า Japonism (ภาษาไทยใช้ว่า “คตินิยมศิลปะญี่ปุ่น” หรือแปลง่าย ๆ ได้ว่าความนิยมอย่างสูงที่มีต่อศิลปะญี่ปุ่น) ขึ้นในปี ค.ศ. 1872 เลยทีเดียว
ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ ? และเกิดได้อย่างไร ? เราจะเข้าใจก็ต่อเมื่อย้อนเวลากลับไปสู่บริบททางสังคมการเมืองช่วงกลางศตวรรษที่ 19 กันก่อน
ในเวลานั้น ญี่ปุ่นดำเนินนโยบายปิดประเทศมายาวนานกว่าสองศตวรรษ ด้วยการไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้าสู่ดินแดนเพื่อป้องกันการรุกล้ำของอิทธิพลตะวันตก แต่แล้วสภาวะนี้ต้องสิ้นสุดลงอย่างกะทันหันในปี ค.ศ. 1853 เมื่อสหรัฐฯ นำกองเรือแล่นเข้าสู่อ่าวเอโดะ และบีบบังคับให้ญี่ปุ่นต้องเปิดประตูสู่การค้าขายสากล นับจากนั้นเอง สินค้าญี่ปุ่นรวมถึงศิลปวัตถุอันหลากหลายก็หลั่งไหลเข้าสู่ยุโรป จุดประกายให้ชาวตะวันตกเกิดความตื่นตะลึงในวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว
“ภาพพิมพ์อุกิโยเอะ” หรือภาพพิมพ์ด้วยบล็อกไม้ในยุคเอโดะ กลายเป็นงานศิลปะที่ได้รับความนิยมมากเป็นอันดับต้น ๆ ทั้งเพราะการจัดวางองค์ประกอบละเอียดบรรจง การใช้สีสันสะดุดตา และการบอกเล่าเนื้อหาวิถีชีวิตประจำวันของชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับศิลปินตะวันตกผู้กำลังพยายามแสวงหาวิธีใหม่ ๆ เพื่อจะหลุดพ้นจากขนบทางศิลปะอันเคร่งครัด เพราะอย่างนี้เองจึงไม่แปลกที่ศิลปินแนวอิมเพรสชันนิสม์ดูจะเปิดรับอิทธิพลใหม่นี้มากกว่าใคร ตัวอย่างเช่น ภาพ “Water Lilies and Japanese Bridge by” (ค.ศ. 1899) ของ โคลด โมเนต์ ที่ใช้เส้นสายภาพภูมิประเทศลักษณะเดียวกัน รวมถึงการสร้างมิติของภาพให้แบน เน้นแสงเงา จัดองค์ประกอบแบบไม่สมมาตร จัดวางตำแหน่งของศิลปะในฐานะส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และเน้นการเก็บเกี่ยว “ความรู้สึกแห่งห้วงเวลารื่นรมย์” มากกว่ารายละเอียด
แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าศิลปินตะวันตกตั้งหน้าตั้งตาลอกสไตล์ญี่ปุ่น ความจริงแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นต้องเรียกว่าเป็นการผสมผสานงานศิลปะสองสายที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ศิลปินยุโรป (โดยเฉพาะฝรั่งเศส) ยังคงได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากแนวทางสัจนิยมแบบนีโอคลาสสิก ทว่าได้นำเอาความเรียบง่ายของศิลปะภาพพิมพ์อุกิโยเอะและเรื่องราวของผู้คนธรรมดา เข้ามาใช้แทนที่รายละเอียดหรูหราและเรื่องราวชีวิตบุคคลชั้นสอง เป็นการปลดปล่อยศิลปินสู่อิสรภาพแบบใหม่
ผลงานปี ค.ศ. 1863 ของ เอดัวร์ มาแน เป็นภาพผู้หญิงเปลือยกายที่ท้าทายมุมมองดั้งเดิมต่อภาพวาดสตรีในศิลปะตะวันตก องค์ประกอบแบนราบและสายตาเฉียบคมของนางแบบเป็นอิทธิพลที่ได้รับจากภาพพิมพ์อุกิโยเอะอย่างชัดเจน
ในภาพปี ค.ศ. 1872–1875 นี้ เจมส์ แม็กนีล วิสต์เลอร์ ศิลปินชาวอเมริกันก็ยังแสดงความหลงใหลต่อภาพพิมพ์อุกิโยเอะ ด้วยการนำสีและองค์ประกอบมาประยุกต์ใช้ บรรยากาศยามราตDe_pruimenboomgaard_te_Kameido-Rijksmuseum_RP-P-1956-743.jpegรีถูกเน้นด้วยโทนสีน้ำเงินและทอง
ในผลงานปี ค.ศ. 1887 แวนโก๊ะวาดภาพต้นพลัมดอกบาน อุทิศให้แก่ภาพ "Plum Garden at Kameido" (ค.ศ. 1857) ของศิลปิน อันโดะ ฮิโรชิเงะ การใช้สีสันสดใสและกิ่งก้านสไตล์ญี่ปุ่น บ่งบอกความชื่นชมอย่างลึกซึ้งที่แวนโก๊ะมีต่อศิลปะแดนอาทิตย์อุทัย
เมื่อศตวรรษที่ 19 ล่วงเลยไป อิทธิพลของศิลปะญี่ปุ่นก็ผันแปรไปสู่ขบวนการศิลปะใหม่ ๆ อาทิ อาร์ตนูโว ซึ่งโดดเด่นด้วยรูปทรงจากธรรมชาติ และรายละเอียดอ่อนช้อยงดงาม ตัวอย่างชิ้นสำคัญก็เช่น "Portrait of Adele Bloch-Bauer I" (ค.ศ. 1907) ของ กุสทัฟ คลิมท์ ศิลปินชาวออสเตรีย ซึ่งใช้พื้นหลังเป็นทองคำอร่ามและมีองค์ประกอบที่เห็นได้ชัดถึงความรักที่เขามีต่อภาพพิมพ์อุกิโยเอะและศิลปะแบบริมปะ (Rinpa) จากเกียวโต หรือภาพ "Divan Japonais" (ค.ศ. 1892-3) ที่ อ็องรี เดอ ตูลูซ-โลแทร็ก นำสไตล์ภาพพิมพ์ภาพนักแสดงคาบุกิมาประยุกต์ใช้ ทั้งด้วยการใช้สี การเน้นเส้นเข้ม และมุมมองแบนราบ
กระเถิบเข้าสู่ยุคสมัยใกล้ตัวอีกสักนิด ในผลงาน “Echo: Number 25" (ค.ศ. 1951) แจ็กสัน พอลล็อก ก็แสดงความหลงใหลต่อศิลปะการเขียนตัวอักษรของญี่ปุ่นให้เราได้เห็น ขณะที่ "Mahoning" (ค.ศ. 1956) ของ ฟรานซ์ ไคลน์ เลือกใช้สไตล์รอยแปรงกวาดกว้างซึ่งสะท้อนถึงอิสรภาพของการเขียนตัวอักษรแบบญี่ปุ่น (และจีน) เช่นกัน
ทั้งหมดนี้ทำให้เรากล่าวได้ว่า "Japonism" ต่อศิลปะตะวันตกในศตวรรษที่ 19 นั้นไม่ใช่แค่กระแสแฟชั่นทางศิลปะ แต่มันคือผลแห่งการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่ลึกซึ้ง และอิทธิพลนี้ก็ยังคงทอดยาวมาถึงศิลปะสมัยใหม่ สานต่อเป็นสะพานเชื่อมระหว่างตะวันออกกับตะวันตกอย่างงดงาม
VIPA ชวนรับชม สารคดี Great Art: Van Gogh & Japan แวนโก๊ะกับศิลปะญี่ปุ่น หนึ่งในนิทรรศการที่ได้รับความสนใจจากผู้ชมจำนวนมาก “นิทรรศการแวนโก๊ะกับญี่ปุ่น” นอกจากเป็นการแสดงผลงานของศิลปินชื่อดัง “วินเซนต์ แวนโก๊ะ” แล้ว สารคดีนี้จะพาไปรู้จักเบื้องลึกเบื้องหลังของผลงานภาพวาดของแวนโก๊ะที่มีความสัมพันธ์กับประเทศญี่ปุ่น รับชมทาง www.VIPA.me