ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“กวีวัยเก๋า” กับความเข้าใจ “วรรณกรรม” ยุคดิจิทัล


วันสำคัญ

20 มี.ค. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

“กวีวัยเก๋า” กับความเข้าใจ “วรรณกรรม” ยุคดิจิทัล

https://www.thaipbs.or.th/now/content/952

“กวีวัยเก๋า” กับความเข้าใจ “วรรณกรรม” ยุคดิจิทัล
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านเรื่องราวมานับไม่ถ้วน จนกลายเป็น “วัยเก๋า” ที่ไม่ได้เก่าเฉพาะอายุ แต่แก่กล้าด้วยประสบการณ์ ผู้ซึ่งจัดเจนในด้านการแต่ง “บทกวี” เนื่องในวันกวีนิพนธ์สากล (World Poetry Day) 21 มี.ค. ของทุกปี Thai PBS และ Thai PBS Sci & Tech ขอพาเข้าไปใน “ใจ” เพื่อประจักษ์ในแนวคิด “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” ศิลปินแห่งชาติ ปี 2536 สาขาวรรณศิลป์ สาขาย่อยกวีนิพนธ์ และกวีซีไรต์ ปี 2523 จากบทกวี “เพียงความเคลื่อนไหว” ว่าวัยเก๋าเข้าใจโลก “วรรณกรรม” ในยุคนี้อย่างไรบ้าง

วันกวีนิพนธ์สากล World Poetry Day

“บทกวี” บอกเล่า “ความหมาย” เปลือยใจให้เห็นภาพผ่านตัวอักษร

ทำไม ? ต้อง “บทกวี” คำถามแรกที่ยิงตรงไปยัง “กวีวัยเก๋า” ก่อนจะเล่าให้เห็นภาพที่มาพร้อมกับใบหน้าเปื้อนยิ้มว่า บทกวีมีความสำคัญในตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าขึ้นอยู่กับกาลเทศะ สังคม หรือชุมชนนั้น ๆ เพราะบทกวี เป็นงานศิลปะเหมือนกับรูปเขียน ดนตรี หรืองานปั้นสถาปัตยกรรมต่าง ๆ แต่เป็นศิลปะที่ใช้ภาษา ซึ่งมีจังหวะจะโคนมีท่วงทำนองในตัวเอง ซึ่งการถูกยกย่องให้เป็น “วันกวีนิพนธ์สากล” 21 มี.ค. ของทุกปี โดยยูเนสโก (UNESCO) ถือเป็นสิ่งที่ดีที่มนุษย์ควรรักษาเอาไว้เหมือนกับงานศิลปกรรมอื่น ๆ

บทกวี เปรียบดั่งงานศิลปะที่อธิบายความหมายออกมาผ่านตัวอักษร ทำให้เกิด ‘ความรู้สึก นึก คิด’ อยู่ในนั้น ซึมซับเป็นอารมณ์ก่อร่างสร้างตัวเป็น ‘ศิลปะ’ ขึ้นในใจของเรา

 

“เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” ศิลปินแห่งชาติ ปี 2536 สาขาวรรณศิลป์ สาขาย่อยกวีนิพนธ์

เริ่มจากการ “ท่อง” นำร่องซึมทราบ “บทกวี”

ในเรื่องนี้ “ศิลปินแห่งชาติ ปี 2536” เล่าว่า แรกเริ่มตั้งแต่ยังเด็กไม่รู้ว่าสิ่งที่อ่านคือ “บทกวี” แต่ชอบเพราะได้ “ท่อง” พ่อสอนให้อ่านโดยแปะไว้ข้างฝา แล้วให้ตนเองท่องซ้ำ ๆ ซึ่งการท่องทำให้เกิดมิติของภาษาที่เราได้ยินเสียงแม้อาจจะไม่ค่อยเข้าใจความหมาย แต่ว่าการสัมผัสด้วยเสียงมีความคล้องจอง จังหวะของเสียงทำให้ชอบ พอเข้าโรงเรียนแล้วได้ท่องบทอาขยานยิ่งเกิดการซึมซับโดยไม่รู้ตัว แล้วเมื่อได้ทดลองเขียนมาก ๆ เข้า เกิดเป็นความสุขที่ได้แต่ง “บทกวี” ออกมาเป็นผลงานศิลปะ ได้สะท้อนความไพเราะ คุณค่า ความหมายของภาษาไทยให้กับผู้ที่ได้อ่าน ก่อเกิดเป็น “ความรู้สึก นึก คิด” สร้างเสริม “ปัญญา” เพราะอ่านบทกวีก็เหมือนกับอ่านหนังสือประเภทหนึ่ง

สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มสนใจใน “บทกวี” อยากให้อ่าน “ขุนช้างขุนแผน” และ “พระอภัยมณี” เพื่อซึมซับการเป็นนักกวีด้วยตนเอง โดย “พระอภัยมณี” จะเด่นเรื่องจังหวะจะโคน มีแบบแผนในการแต่ง ส่วน “ขุนช้างขุนแผน” จะนอกแบบแผน แต่ได้ความรู้สึกตรง ๆ โดย “กวีวัยเก๋า” เสริมว่า ไม่จำเป็นต้องไปอ่านศัพท์ยาก ๆ ที่ทำให้เข้าใจยาก เพราะ “บทกวีที่ดี” แทบไม่ต้องอธิบาย

บทกวี "นั่นแหละ"

“กลอน” กับ “บทกวี” แตกต่างอย่างไร ?

“กลอนคือคำสัมผัสคำ แต่กวีคือคำสัมผัสใจ” คำตอบหลังจาก “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” ได้ยินคำถาม โดยได้อธิบายเพิ่มเติมว่า สำหรับ “บทกวี” การแต่งหรือประพันธ์นอกจากคล้องจองแล้วต้องคล้องใจด้วยจึงจะเป็นบทกวีที่สมบูรณ์ ต้องเอาคำคล้องจองมาใช้กับเนื้อหาที่ดี แล้วบทกวีไทยมีความเป็นพิเศษกว่าภาษาอื่น คือมีเสียงของคำ สามัญ เอก โท ตรี จัตวา เป็นเสียงที่กำหนดแน่นอน ซึ่งยังไม่ได้รวมถึงสำเนียงของพื้นถิ่น เอาเฉพาะภาษาที่เป็นพื้นฐาน ถ้าคุณจัดลำดับได้ดีจะมีความไพเราะ ดังเช่น “กลอนสุนทรภู่”

ถึงยามค่ำย่ำฆ้องจะร้องไห้ ร่ำพิไรรัญจวนหวนละห้อย
โอ้ยามดึกดาวเคลื่อนเดือนก็คล้อย น้ำค้างย้อยเย็นฉ่ำชื่นอัมพร
หนาวอารมณ์ลมเรื่อยเฉื่อยเฉื่อยชื่น ระรวยรื่นรินรินกลิ่นเกสร
แสนสงสารบ้านเรือนเพื่อนที่นอน จะอาวรณ์อ้างว้างอยู่วังเวง

จะเห็นได้ว่าครบทั้งเสียง จังหวะ อารมณ์ความรู้สึก “จินตนาการความนึก” เพื่อให้ “ความคิด” ได้ด้วย สมบูรณ์พร้อมนี่คือคำกวี ส่วนคำกลอนจะเคร่งสัมผัส แต่เสียงของคำจะยังมีความเหลื่อมล้ำไม่เป็นดนตรี ซึ่งบทกวีที่ดีจะเป็นดนตรีที่ไร้ทำนอง แต่มีเสียงของตัวอักษรเหลื่อมล้ำต่ำสูง มีจังหวะจะโคนก็คือคำสัมผัส เปรียบได้ดั่งลายไทยผูกเป็นเกลียวกนก ถ้าอ่านแล้วหมั่นดู-สังเกต บทกวีที่ดีจะเห็นได้ว่ามีเรื่องเหล่านี้ครบ

วันกวีนิพนธ์สากล World Poetry Day

ส่งต่อแนวคิดการเขียน “บทกวี” ให้กับคนรุ่นใหม่

กวี-กลอนดี ๆ แทบไม่ต้องอธิบาย “กวีวัยเก๋า” ย้ำให้ซึมซับอีกครั้ง เพราะว่ายิ่งอธิบายยิ่งผิดยิ่งอธิบายยิ่งทำให้รสชาติของความเป็นกวีลดน้อยลง ลองหาบทกวีดี ๆ มาอ่านเพื่อซึมซับด้วยตัวเอง เพราะ “บทกวี” เป็นเรื่องของสัมผัสใจ รู้สึกเองโดยไม่ต้องอธิบาย ซึ่งบ้านเรายังส่งเสริมเรื่องนี้อย่างจริงจังน้อย ขณะที่ผู้คนก็อ่านหนังสือกันน้อย จึงทำให้เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ อยากจะฝากว่าทำอย่างไรที่จะช่วยกัน ให้คนสนใจเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น โดยเริ่มต้นจากการ “รักการอ่านหนังสือ”

“เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” ศิลปินแห่งชาติ ปี 2536 สาขาวรรณศิลป์ สาขาย่อยกวีนิพนธ์

บอกเล่าความเข้าใจ “ยุคดิจิทัล” ผ่านมุมมอง “กวีวัยเก๋า”

“ศิลปินแห่งชาติ ปี 2536” เอื้อนเอ่ยถึงประเด็นนี้ว่า โลกยุคดิจิทัลมีทั้งด้านดีและด้านด้อย เพราะโลกยุคดิจิทัลนั้นมากด้วยข้อมูล คนมั่งมีข้อมูล เรียกได้ว่าความรู้ท่วมหัว แต่ว่าเวลาจะคิดรังสรรค์หรือสรรค์สร้างอะไรก็ตาม ต้องคิดให้พ้นจากบ่วงของข้อมูลเหล่านั้น มีความเข้าใจข้อมูลแล้วนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์โดยการประยุกต์-ต่อยอด แต่หากเราทำตามข้อมูลที่ได้โดยไม่คิดพิเคราะห์ใช้ข้อมูลต่อยอดต่อเติม อาจกลายเป็นเราที่ตกเป็นเหยื่อของข้อมูลได้

ตนเองเคยไปงานกวี ณ ประเทศเบลเยียม ที่งานมีการใช้ AI แต่งบทกวี ซึ่งในเมืองไทยก็มี แต่ AI แต่งกวีแบบเทิ่ง ๆ ไม่มีรส ไม่มีความเป็นกวี มีแต่ความคิดดุ้น ๆ  เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า AI สามารถให้ข้อมูลเราได้มากกว่าสมัยก่อน แต่ข้อด้อยบางทีเราอาจตกเป็นเหยื่อ AI เนื่องจากไม่รู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์เท่าที่ควรในการนำมาสร้าง “ปัญญา” ใหม่ ๆ เช่น แต่งบทกวีไม่มีรสของกวีเป็นเหมือนหุ่นยนต์ ซึ่งแล้วแต่ใครจะป้อนข้อมูลเข้าไป นอกจากนี้หากเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องบางทีเราก็อาจตกเป็นเหยื่อ นำข้อมูลผิด ๆ นั้นไปเผยแพร่ต่อได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ในอนาคตหากมนุษย์สามารถให้ข้อมูล ป้อนความรู้สึกให้ AI ได้ AI เหล่านี้อาจกลายเป็นมนุษย์พันธุ์ใหม่ และเราอาจจะกลายเป็นทาสของ AI เนื่องจากต้องพึ่งพา “เทคโนโลยี” ทุกอย่าง ตกเป็นเหยื่อของความทันสมัย

ขณะที่การปรับตัวในยุคดิจิทัล “กวีซีไรต์ ปี 2523” เปลื้องใจว่า ส่วนใหญ่จะใช้เทคโนโลยีในการหาข้อมูลในโลกออนไลน์เป็นหลัก ว่าสิ่งนี้หมายถึงอะไร แล้วนำข้อมูลนั้นมาใช้ เช่น คำศัพท์ต่าง ๆ ทั้งภาษาอังกฤษและไทย ซึ่งบางคำเราอาจไม่แตกฉานเนื่องจากภาษาไทยเป็นทั้งภาษาบาลีและสันสกฤตซึ่งมีจำนวนมาก คำ ๆ เดียวอาจมีความหมายหลากหลาย ก็เป็นเรื่องดีที่ได้นำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ ขณะที่เทคโนโลยีใดที่ต้องใช้เทคนิคเยอะ เกิดความไม่เข้าใจ ก็จะขอความรู้จากมิตรสหาย รวมถึงสอบถามผู้รู้ พยายามปรับตัว-สร้างความเข้าใจเทคโนโลยียุคดิจิทัล ซึ่งมีความสำคัญช่วยอำนวยความสะดวกทำให้ชีวิตง่ายขึ้น

อินเทอร์เน็ตอยากรู้อะไรก็กด เปรียบเสมือน ‘โลกในเรือน เพื่อนในมือ’ มีความรู้พร้อมให้เราค้นหา เพียงแต่เราจะใช้เป็น-รู้เท่าทันหรือเปล่า

สำหรับ “คนรุ่นเก่า” อย่าไปกลัวเทคโนโลยีควรมีประสบการณ์กับมัน แต่อย่าเป็นทาสเสียทีเดียว ที่ต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีทุกอย่าง ในโลกยุคใหม่เราต้องรู้จักปรับตัว-เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่รู้ เพื่อจะได้ค้นพบความรู้ใหม่ ๆ ในทุก ๆ วัน หากเรานิ่งเกาะแต่กับความรู้ที่มีอยู่เราก็จะล้าหลัง แต่ถ้าเข้าใจ-รับรู้สิ่งใหม่ เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์กับตัวเองและคนอื่นได้

การ “อ่านหนังสือ” เป็นวัฒนธรรมทางความคิด

การ “อ่านหนังสือ” เป็นวัฒนธรรมทางความคิด
การ “เขียนหนังสือ” เป็นอารยธรรมทางปัญญา

สิ่งที่อยากฝากถึงคนยุคนี้ของ “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” คือ อยากให้ตระหนักถึงความสำคัญของการ “อ่านหนังสือ” ดังคำของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่พูดกับนักศึกษาว่า “นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร” เพราะหนังสือเป็นที่รวมของ “ความรู้สึก นึก คิด” ซึ่ง “ใจคน” ทำหน้าที่ 3 อย่างคือ “รู้สึก นึก แล้วก็คิด” โดยรู้สึกเป็นปัจจุบัน เช่น รู้สึกได้ยิน ตาได้เห็นภาพ รู้สึกเย็นร้อน เป็นต้น นึกเป็นอดีต เช่น นึกย้อนกลับไปเมื่อกี้เราพูดถึงเรื่องอะไร เป็นต้น ส่วนคิดเป็นเรื่องอนาคต คิดจะทำนู่นนี่ ซึ่งการ “รู้สึก นึก คิด” จะมีกาละของมัน มีทั้งปัจจุบัน อดีต และอนาคต ประกอบกันเป็นองค์รวมของ “ปัญญา”

หากเข้าใจตรงนี้ จะเข้าใจสัจธรรมดังกล่าวว่าการ “อ่านหนังสือ” จะได้ “ความเข้าใจในตัวเอง” นอกจากเข้าใจผู้อื่น เราต้องเข้าใจ “ใจ” ของตัวเราเองด้วย เราเรียกร้องให้แต่คนอื่นเข้าใจ แต่เรากลับไม่เคยเข้าใจ “ใจ” เราเลย เข้าไปใน “ใจ” ของตัวเอง เพราะฉะนั้นการ “อ่านหนังสือ” การได้ “อ่านบทกวี” ดี ๆ จะทำให้จิตของเราได้ “ปัญญา”

การให้ความสำคัญกับบทกวี เป็นการเจียระไน ‘ใจ’ ของเราเอง ดั่งคำนิยามที่ว่า ‘บทกวีคือเพชรพลอยของถ้อยคำ ที่เจียระไนมาจากผลึกของความคิด’

“งานศิลปะ” เป็นองค์รวมของ “ความรู้สึก นึก คิด” และยังเป็นที่พักผ่อนของจิตใจ เราไปดูรูปเขียนดี ๆ ฟังเพลงเพราะ ๆ แล้วเข้าถึงจิตวิญญาณของมัน คนทุกวันนี้ไม่พักผ่อนเพื่อเข้าถึง “จิตวิญญาณ” ถ้าเข้าถึง “จิตวิญญาณ” จะรู้สึกได้พักผ่อน งานศิลปะทั้งปวงเป็นที่พักผ่อนของจิตใจ เช่นถ้าแต่ง “บทกวี” คุณจะรู้สึกได้ค้นพบตัวเอง


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วันกวีนิพนธ์สากล World Poetry Dayบทกวีกวีเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech วันสำคัญThai PBS On This Day
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

(เซบา บาสตี้ : 0854129703) : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด