ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชวนรู้ วันไตโลก ! กินเค็มมากไป ทำไมเสี่ยง “โรคไต”


Thai PBS Care

12 มี.ค. 67

สุพัตรา ผาบมาลา

Logo Thai PBS
แชร์

ชวนรู้ วันไตโลก ! กินเค็มมากไป ทำไมเสี่ยง “โรคไต”

https://www.thaipbs.or.th/now/content/922

ชวนรู้ วันไตโลก ! กินเค็มมากไป ทำไมเสี่ยง “โรคไต”
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ในวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือน มีนาคม ของทุกปี ถูกจัดให้เป็นวันไตโลก (World Kidney Day) ปีนี้ตรงกับ 14 มีนาคม 2567  โดย องค์การอนามัยโลก หรือ (WHO) มีจุดประสงค์เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนทั่วโลกตระหนักถึง ภัยอันตรายของโรคไตจากการกินเค็ม ทั้งยังเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต 

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคไต ประกอบไปด้วย

  • โรคเบาหวาน
  • โรคเกาต์
  • โรคอ้วน
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคไตอักเสบ
  • โรคทางเดินปัสสาวะอุดกั้น
  • การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะซ้ำหลายครั้ง
  • รับประทานยาไม่เหมาะสม เช่น ยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด ยาชุด
  • รับประทานอาหารรสเค็ม อาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารแปรรูป อาหารหมักดอง อาหารกึ่งสำเร็จรูป

เหตุผลที่ทำไม “รสเค็มมีผลต่อไต” แล้วควรกินเท่าไรถึงจะเหมาะสม

“ไต” เป็นอวัยวะที่มีหน้าที่สำคัญ คือ กรองของเสียและน้ำออกจากเลือดออกมาทางปัสสาวะ สร้างฮอร์โมนหลายชนิด และควบคุมระดับเกลือแร่ในร่างกายให้ปกติ ดังนั้นกินเค็มมาก ๆ ย่อมส่งผลให้ไตทำงานหนัก ทำให้มีเกลือคั่งในร่างกายเยอะ เกลือจะดูดน้ำเข้ามาในเลือดมากขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตสูง และโรคอื่น ๆ ตามมา และถ้าไตเสื่อมอยู่แล้ว ไตจะขับเกลือออกได้น้อย ยิ่งทำให้ไตทำงานหนักและเสื่อมมากขึ้น ดังเห็นได้จาก ผลการศึกษาจากงานวิจัยโดยความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เผยแพร่ใน Journal of Clinical Hypertension เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2564 พบว่า คนไทยบริโภคโซเดียม "เกลือ" เฉลี่ยสูงที่สุดในภาคใต้ ภาคกลาง ภาคเหนือ กรุงเทพมหานคร และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามลำดับ ทั้งนี้ยังมีการศึกษาว่า คนที่กินอาหารที่มีโซเดียมสูงเป็นประจํา มีโอกาสเป็นโรคหัวใจและเสียชีวิตสูงกว่า คนที่กินอาหารที่มีโซเดียมในปริมาณที่เหมาะสม ดังนั้น เราจึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับโซเดียมว่า ควรกินในปริมาณเท่าไหร่เพื่อให้เหมาะสมต่อร่างกาย ร่างกายเราจะได้รับโซเดียมจากอาหาร ซึ่งมักมาในรูปแบบเกลือโซเดียมคลอไรด์ ที่ "ทำให้มีรสเค็ม" ซึ่งการรับโซเดียมสูงจะส่งผลให้ร่างกาย เกิดการคั่งของเกลือและน้ำในอวัยวะต่าง ๆ ทําให้ความดันโลหิตสูง และเกิดผลเสียต่อไต เช่นเดียวกัน

ตัวอย่างประเภทอาหารที่มีโซเดียมแฝงอยู่ 

  • อาหารแปรรูป
  • เครื่องปรุงรสชนิดต่าง ๆ และผงชูรส
  • อาหารกระป๋อง
  • อาหารกึ่งสําเร็จรูป
  • ขนมต่าง ๆ ที่มีการเติมผงฟู (Baking Powder หรือ Baking Soda)
  • น้ำและเครื่องดื่ม

ลดปริมาณโซเดียมในการบริโภคสามารถทำได้ โดยไม่ควรกินเกิน 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน เทียบเป็นปริมาณเกลือโซเดียมคลอไรด์หรือเกลือแกงได้ 1 ช้อนชา หรือเทียบเป็นปริมาณโซเดียมในเครื่องปรุงอื่น ๆ ได้ดังตัวอย่าง ในตาราง

หากกินอาหารที่มีปริมาณโซเดียมเหล่านี้ 3 มื้อต่อวัน จะทําให้ได้รับโซเดียมมากเกินความต้องการของร่างกาย ดังนั้น ชวนมารู้จัก 5 วิธี ในการลดปริมาณโซเดียมที่รับประทาน

  1. หลีกเลี่ยงใช้เกลือในการปรุงอาหาร อาจเลือกกินอาหารที่มีรสชาติหลากหลาย เช่น แกงส้ม ต้มยํา ให้รสหวาน เปรี้ยว หรือเผ็ด เพื่อช่วยเพิ่มรสชาติ
  2. หลีกเลี่ยงอาหารประเภทดองเค็ม เช่น ไข่เค็ม ปลาเค็ม ปลาแดดเดียว อาหารหมักดอง ปลาส้ม แหนม และอาหารแปรรูปจําพวกไส้กรอก กุนเชียง หมูหยอง
  3. ไม่เติมผงชูรส
  4. น้ำซุปต่าง ๆ เช่น ก๋วยเตี๋ยว มักมีปริมาณโซเดียมสูง ควรกินแต่น้อย หรือเทน้ำซุปออกบางส่วนแล้วเติมน้ำเพื่อเจือจางลง
  5. ตรวจดูปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคบนฉลากของอาหารสําเร็จรูปและขนมถุง เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูงได้ถูกต้อง

ผลของการกินเค็มจัด ทำให้ขาบวม ตาบวม หากกินติดต่อกันในระยะยาว จะส่งผลให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงในที่สุด และถ้าหากสูงมาก ๆ จะทำให้เป็นโรคหัวใจ อัมพาตตามมา รวมถึงโรคกระดูกพรุน เพิ่มความเสี่ยงโรคไต เพราะฉะนั้นหลีกเลี่ยงการกินรสเค็มง่าย ๆ เพื่อช่วยให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น และอย่าลืมให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อรู้เท่าทันโรคภัยรอบตัว

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล , SDG MOVE

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ลดกินเค็มโซเดียมวันไตโลกไตโรคไตไตวายเรื้อรังไตเรื้อรังปัสสาวะเกลือWorld Kidney Day
สุพัตรา ผาบมาลา
ผู้เขียน: สุพัตรา ผาบมาลา

นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สาขาวิชา ภาษาเพื่อการสร้างสรรค์สื่อ ผู้รักในการเขียนและการเล่าเรื่อง

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด