ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้จัก “โลกแห่งการกู้ภัย” หนึ่งปัจจัยแห่งการช่วยเหลือ


Insight

3 เม.ย. 68

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
แชร์

รู้จัก “โลกแห่งการกู้ภัย” หนึ่งปัจจัยแห่งการช่วยเหลือ

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2546

รู้จัก “โลกแห่งการกู้ภัย” หนึ่งปัจจัยแห่งการช่วยเหลือ
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

หนึ่งในคำที่มักได้ยินกันในช่วงเวลาที่เกิดอุบัติภัย นั่นคือ “การกู้ภัย” ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่มีส่วนในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย Thai PBS ชวนทำความรู้จัก “โลกแห่งการกู้ภัย” หลักการ - ขั้นตอนของการปฏิบัติงาน ตลอดจนเรื่องราวน่ารู้ของกู้ภัย มีอะไรบ้าง...

รู้จัก “การกู้ภัย”

กู้ภัย หรือ Rescue คือ การช่วยชีวิตผู้ที่ประสบภัย ให้รอดพ้นจากภัยพิบัติต่าง ๆ อาทิ น้ำท่วม ไฟป่า หรือแผ่นดินไหว รวมถึงอุบัติเหตุบนท้องถนน ทั้งนี้ การปฏิบัติหน้าที่ของกู้ภัย เกิดขึ้นทั้งในระหว่างที่เกิดภัย หรือหลังจากเกิดพิบัติภัยขึ้นแล้ว 

คำว่า กู้ภัย มักคู่ขนานมากับคำว่า กู้ชีพ ซึ่งกู้ชีพ คือ การปฏิบัติการช่วยชีวิตผู้ที่กำลังเสียชีวิต ประกอบไปด้วยทีมงานแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่เวชกิจฉุกเฉิน ที่ถูกฝึกมาโดยฉพาะ

การทำงานของ “ทีมกู้ภัย”

ทีมกู้ภัยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ คือ 

  1. ทีมค้นหาและกู้ภัยขนาดเบา (Light Team) ส่วนใหญ่เป็นปฏิบัติการระดับชุมชน ที่มีผู้บาดเจ็บพียเล็กน้อย
  2. ทีมค้นหาและกู้ภัยขนาดกลาง (Middle Team) ลักษณะเป็นทีมที่สามารถเคลื่อนย้ายและยกวัตถุได้ทุกรูปแบบ รวมทั้งสามารถทำงานในพื้นที่ประสบภัยได้ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นระยะเวลามากกว่า 7 วัน
  3. ทีมค้นหาและกู้ภัยขนาดหนัก (Heavy Team) ลักษณะเป็นทีมที่สามารถปฏิบัติการในเหตุประสบภัยได้ 2 แห่งขึ้นไป ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นระยะเวลามากกว่า 10 วันขึ้นไป
     

โดยหลักการทำงานของทีมกู้ภัย มีขั้นตอนการปฏิบัติที่สำคัญ คือ  

  1. ขั้นตอนการรับแจ้งและการรายงาน เป็นขั้นที่รับแจ้งเหตุจากผู้ประสบภัยหรือหน่วยอื่น ๆ เพื่อให้เข้าช่วยเหลือ ขั้นตอนนี้ต้องทราบข้อมูลที่จำเป็นในการช่วยชีวิตขั้นต้นให้ได้มากที่สุด
  2. ขั้นตอนในการวางแผนขั้นต้น เป็นการวางแผนการปฏิบัติการให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
  3. ขั้นตอนการเข้าสู่พื้นที่ โดยมีปัจจัยสำคัญคือ สภาพแวดล้อมที่เกิดเหตุ ส่งผลให้การเข้าพื้นที่มีความแตกต่างกันไป อาทิ ต้องข้าพื้นที่ด้วยการเดินเท้าเข้าไป หรือต้องขึ้นหรือลงจากที่สูง รวมถึงการใช้รถยนต์ การใช้การเดินทางทางอากาศ ทางน้ำ หรือแม้แต่เป็นการเดินทางผสมผสานกัน
  4. ขั้นตอนการเข้าถึงการช่วยหลือ โดยในขั้นตอนนี้ เป็นการผสมผสานทั้ งการใช้ทรัพยากร การใช้เครื่องมือ ตลอดจนทักษะความชำนาญของทีมกู้ภัย เพื่อให้เข้าถึงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้ไดมากที่สุด 
  5. ขั้นตอนการช่วยเหลือและปฐมพยาบาล โดยเป็นการดูแลด้านการแพทย์ ณ พื้นที่เกิดเหตุ ลักษณะเป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อให้ผู้ประสบภัยรอดพ้นจากวิกฤติ หากไม่มีอาการบาดเจ็บเพิ่มเติม หรือไม่มีอาการรุนแรงจากที่เป็นอยู่ ก่อนจะทำการเคลื่อนย้าย (Transition) ออกจากพื้นที่ประสบภัยให้เร็วที่สุด

รู้จักอุปกรณ์ “กู้ภัย”

เครื่องมือที่ใช้ในการกู้ภัย ช่วยทำให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กู้ภัย เป็นไปด้วยความสะดวกยิ่งขึ้น ทั้งนี้ในระดับอุปกรณ์พื้นฐานที่ต้องมีในการกู้ภัย ประกอบไปด้วย

  • เปลสนาม ช่วยเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย 
  • ระบบสื่อสารเคลื่อนที่ อาทิ โทรโข่ง ไซเรน เพื่อใช้สื่อสารในที่เกิดเหตุ
  • แสงสว่างเคลื่อนที่ ควรเป็นไฟฉายที่มีประสิทธิภาพสูง จำเป็นอย่างมากสำหรับสถานที่ประสบภัยที่ถูกตัดไฟ หรือไม่มีไฟฟ้าใช้
  • วิทยุสื่อสาร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารที่รวดเร็วของหน่วยงานกู้ภัย
  • หมวกนิรภัย เพื่อรักษาและป้องกันร่างกายของหน่วยกู้ภัยให้ปลอดภัย รวมไปถึงการใส่รองเท้าที่เซฟตี หรืออุปกรณ์ป้องกันการเกิดอันตรายต่อร่างกายส่วนอื่น ๆ ของหน่วยกู้ภัย
  • อุปกรณ์ช่วยในการโรยตัว ช่วยให้เข้าถึงผู้ประสบเหตุได้ง่ายขึ้น และเกิดความปลอดภัยต่อตัวทีมกู้ภัย
  • ถังออกซิเจน เนื่องจากภายในพื้นที่ประสบภัย อาจเป็นพื้นที่อับ มีปริมาณออกซิเจนต่ำ หน่วยกู้ภัยจำเป็นต้องพกถังออกซิเจนออกไปปฏิบัติงานด้วยเสมอ
  • ถังดับเพลิง เพลิงไหม้คือภัยพิบัติรูปแบบหนึ่ง และมักเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ทีมกู้ภัยจำเป็นต้องเตรียมถังดับเพลิงไว้ด้วยเสมอ
     

นอกจากเครื่องมือในการกู้ภัยที่จำเป็นเบื้องต้น หากสถานการณ์ของภัยพิบัติมีความรุนแรง การช่วยเหลือมีอุปสรรคค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอุปสรรคในเรื่องของซากสิ่งก่อสร้างที่ต้องขุด เจาะ หรือต้องทำลายเข้าไป ทีมกู้ภัยจึงมีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะทางมากยิ่งขึ้น

  • เครื่องตัด (Cutter) สำหรับตัดโครงสร้างต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคกีดขวางการเข้าถึงผู้ประสบภัย เครื่องตัดส่วนใหญ่มีกำลังในการตัด 320 กิโลนิวตัน เพื่อให้สามารถตัดสิ่งกีดขวางที่มีขนาดใหญ่ และมีความหนาลงได้
  • เครื่องถ่าง (Spreader) ใช้ถ่างหรือบีบโลหะที่เป็นอุปสรรคกีดขวางในการช่วยเหลือ มีกำลังในการถ่างและบีบ 90 กิโลนิวตัน
  • เครื่องค้ำยัน (Rammer) สำหรับค้ำยันโครงสร้างที่กีดขวางและเป็นอุปสรรคในการช่วยเหลือ มีกำลังในการค้ำยัน 120 กิโลนิวตัน
  • เครื่องต้นกำลังไฮดรอลิก (Power pack) เป็นเครื่องต้นกำลังสำหรับสร้างความดันน้ำมันไฮดรอลิก ให้มีความดันสูง เพื่อใช้กับเครื่องมือกู้ภัยต่าง ๆ เช่น เครื่องตัด เครื่องถ่าง เครื่องค้ำยัน

รู้จัก “ทีมกู้ภัยในเขตเมือง”

ในโลกที่วิวัฒน์ไป กระบวนการการกู้ภัยได้รับการยกระดับมากขึ้นทุกขณะ แต่ที่มากไปกว่านั้น คือการสร้างมาตรฐานการกู้ภัยที่มีร่วมกัน เป็นที่มาของ การค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง หรือ Urban Search and Rescue (USAR) 

โดยเป็นปฏิบัติการกู้ภัยในเขตเมือง อันเนื่องมาจากแผ่นดินไหว หรือการพังทลายของโครงสร้างอาคารและตึก รวมไปถึงสงคราม การก่อการร้าย หรืออุบัติเหตุจากการยุบตัวของพื้น 

การค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง (USAR) มีข้อปฏิบัติร่วมกัน โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของคณะที่ปรึกษาด้านการค้นหาและกู้ภัยระหว่างประเทศ  International Search and Rescue Advisory Group (INSARAG) ภายใต้การควบคุมขององค์กรสหประชาชาติ 

โดยมีสาระสำคัญ คือ เป็นปฏิบัติการที่เกิดจากการรวมตัวกันของบุคลากรในด้านต่าง ๆ ที่มารวมตัวกันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ บุคลากรการแพทย์ฉุกเฉิน วิศวกร แพทย์ สุนัขค้นหาและกู้ภัย

นอกจากนี้ยังมีการออกแบบให้มีการฝึกหน่วยงานกู้ภัยภายในท้องถิ่น เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในประเทศไทย มีทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองเช่นกัน หรือที่เรียกว่า USAR Thailand อยู่ภายใต้การดูแลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย มีการจัดกำลังในรูปแบบของหน่วยเฉพาะกิจ ประกอบไปด้วยกองกำลังจากหลายส่วน มาปฏิบัติการร่วมกัน ในยามที่เกิดเหตุภัยพิบัติ ตลอดจนภาวะฉุกเฉินต่าง ๆ 

ลักษณะการทำงานของทีม USAR 

  • ปฏิบัติการได้อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง 
  • ดำรงชีพอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่น้อยกว่า 7-10 วัน 
  • ประเมินภัยอันตรายของโครงสร้างและค้ำยัน ไม่ให้โครงสร้างเกิดความเสียหายและถล่มซ้ำ
  • ตรวจสอบภัยอันตรายและสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในพื้นที่รวมถึงวัตถุอันตราย
  • ปฏิบัติการค้นหาผู้ประสบภัย โดยวิธีการทางกายภาพและเชิงเทคนิค เช่น การใช้สุนัขค้นหา การใช้อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ในการค้นหาตรวจสอบความร้อนของร่างกาย การตรวจจับด้วยเสียง
  • ให้การรักษาปฐมพยาบาลในกรณีที่ผู้บาดเจ็บมีอาการไม่คงที่ ไม่สามารถลำเลียงหรือเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่อาคารถล่ม

อยากเป็น “กู้ภัย” ต้องรู้อะไร ?

แม้ประเทศไทยจะมีทีมกู้ภัยหลากหลายสังกัด แต่หน่วยงานหลักที่กำกับดูแลด้านสาธารณภัยในประเทศโดยตรง นั่นคือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีหน้าที่ในการจัดทำแผนแม่บท วางมาตรการ ส่งเสริมสนับสนุน การป้องกัน บรรเทาและฟื้นฟูจากสาธารณภัย 

ปัจจุบัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมี ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จำนวน 18 ศูนย์ ทั่วประทศไทย และมีหน่วยงานย่อยเป็นสาขากระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งประเทศอีกด้วย

สำหรับผู้ที่อยากก้าวเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะการเป็น “กู้ภัย” คุณสมบัติสำคัญที่ควรมี คือ การมีอุปนิสัยเป็นจิตอาสา รักในการช่วยเหลือ และเสียสละเพื่อสังคม นอกจากนี้ยังมีคุณลักษณะส่วนบุคคลที่จำเป็น เช่น

  • ไม่เป็นผู้มีกายทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้  
  • ไม่เป็นผู้มีจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ
  • ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี
  • มีความรู้ กฎ ระเบียบ และสามารถใช้งานเครื่องวิทยุสื่อสารคมนาคมได้ดี 
  • มีความรู้ด้านระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน
  • เข้าเวรเป็นผลัดได้ตลอด 24 ชั่วโมง
  • มีจิตอาสาและใจรักในงานกู้ชีพ-กู้ภัย

ประชาชนสามารถติดต่อ “กู้ภัย” ได้ทางไหน ?

สายด่วนสำหรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กู้ชีพ – กู้ภัย ได้แก่ 

  • ศูนย์ประชาบดี โทร. 1300
  • ศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติการฉุกเฉินสารเคมี โทร.1650
  • สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โทร.1669
  • ศูนย์ส่งกลับและรถพยาบาล โรงพยาบาลตำรวจ โทร.1691
  • ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โทร.1860

การบรรเทาสาธารณภัย เป็นหน้าที่ของทีมกู้ภัย – กู้ชีพ ทว่าประชาชนทุกคนสามารถช่วยเป็นหูเป็นตา และช่วยแบ่งปันข้อมูลอันเป็นประโยชน์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้เหตุการณ์ร้ายผ่านพ้นไปให้เร็วที่สุด…

แหล่งข้อมูล

แท็กที่เกี่ยวข้อง

กู้ภัยการกู้ภัยหลักการกู้ภัยอุปกรณ์กู้ภัยทีมกู้ภัยUSAR Thailand
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด