นักวิทยาศาสตร์พัฒนา "เม็ดปุ๋ยแก้ว" ที่ย่อยสลายได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกและลดมลพิษทางดินและน้ำ โดยเม็ดปุ๋ยจะปล่อยธาตุอาหารอย่างช้า ๆ และสม่ำเสมอ ทำให้พืชได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างต่อเนื่อง
เม็ดปุ๋ยแก้ว พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกและลดมลพิษทางดินและน้ำ ซึ่งสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ โดยไม่ทิ้งสารเคมีตกค้างในสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีนี้จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการใช้ปุ๋ยเคมีแบบเดิมที่มักก่อให้เกิดมลพิษและสูญเสียสารอาหารไปโดยเปล่าประโยชน์
งานวิจัยนี้เป็นของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรัทเกอร์ส (Rutgers University) ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร American Chemical Society (ACS) ระบุว่า เม็ดปุ๋ยแก้วนี้ทำจากวัสดุที่เรียกว่า "โซเดียมซิลิเกต" ซึ่งเป็นสารประกอบที่พบในแก้วทั่วไป เม็ดปุ๋ยนี้สามารถปล่อยสารอาหารหลัก เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ให้พืชอย่างช้า ๆ และสม่ำเสมอ ทำให้พืชสามารถดูดซึมสารอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่สูญเสียสารอาหารไปกับดินหรือน้ำ

นอกจากนี้ เม็ดปุ๋ยแก้วยังช่วยลดปัญหาการปนเปื้อนของสารเคมีในสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปุ๋ยเคมีแบบเดิมมักละลายน้ำเร็วและถูกชะล้างไปกับน้ำฝนหรือการรดน้ำ ส่งผลให้สารเคมีปนเปื้อนในแหล่งน้ำและดิน ในขณะที่เม็ดปุ๋ยแก้วย่อยสลายได้จะค่อย ๆ ปล่อยสารอาหารตามความต้องการของพืช และย่อยสลายไปจึงไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
จากการพัฒนาพบว่าเม็ดปุ๋ยแก้วสามารถปรับแต่งให้ปล่อยสารอาหารในอัตราที่แตกต่างกันได้ โดยการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมีของแก้ว ซึ่งทำให้เหมาะกับพืชแต่ละชนิดและสภาพดินที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น พืชที่ต้องการไนโตรเจนสูงสามารถใช้เม็ดปุ๋ยที่ปล่อยไนโตรเจนได้นานขึ้น ในขณะที่พืชที่ต้องการฟอสฟอรัสมากก็สามารถใช้เม็ดปุ๋ยที่ออกแบบมาเฉพาะได้
เทคโนโลยีนี้ยังช่วยลดต้นทุนการเกษตรในระยะยาว เนื่องจากเกษตรกรไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยบ่อยครั้งเหมือนการใช้ปุ๋ยเคมีแบบเดิม และการใช้เม็ดปุ๋ยแก้วยังช่วยลดปริมาณปุ๋ยที่ต้องใช้ในแต่ละครั้ง ซึ่งหมายถึงการลดต้นทุนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ในเวลาเดียวกัน
การทดลองในห้องปฏิบัติการและในแปลงทดลองแสดงให้เห็นว่า เม็ดปุ๋ยแก้วมีประสิทธิภาพในการเพิ่มผลผลิตพืชได้ไม่น้อยกว่าปุ๋ยเคมีแบบเดิม และยังช่วยปรับปรุงคุณภาพดินในระยะยาว เนื่องจากไม่ทิ้งสารเคมีตกค้าง ทีมวิจัยกำลังพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีนี้เพื่อให้สามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคตอันใกล้
เรียบเรียงโดย ขนิษฐา จันทร์ทร
ที่มาข้อมูล: newatlas, acs, technologynetworks, realclearscience
ที่มาภาพ: acs, ภาพ 1
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech