ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อเล็กซานเดอร์ เฟลมิง ผู้คิดค้นยา "เพนิซิลิน" จากความไม่ระมัดระวัง สู่แนวทางการรักษาสมัยใหม่


Logo Thai PBS
แชร์

อเล็กซานเดอร์ เฟลมิง ผู้คิดค้นยา "เพนิซิลิน" จากความไม่ระมัดระวัง สู่แนวทางการรักษาสมัยใหม่

https://www.thaipbs.or.th/now/content/910

อเล็กซานเดอร์ เฟลมิง ผู้คิดค้นยา "เพนิซิลิน" จากความไม่ระมัดระวัง สู่แนวทางการรักษาสมัยใหม่
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

“เซอร์ อเล็กซานเดอร์ เฟลมิง” เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ จากการค้นพบยาเพนิซิลิน ยาที่เป็นดั่งรุ่งอรุณแห่งยุคของยาปฏิชีวนะ

เซอร์ อเล็กซานเดอร์ เฟลมิง (Sir Alexander Fleming) เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1881 ที่ดาร์เวล อีสเตอร์แอร์เชอร์ ประเทศสกอตแลนด์ เป็นทั้งแพทย์ นักเภสัชวิทยา และนักพฤกษศาสตร์ มีความฉลาดหลักแหลมมาตั้งแต่เด็ก และถูกชักชวนให้เข้าศึกษาวิชาแพทย์โดยพี่ชายซึ่งเป็นแพทย์เช่นกัน ผลงานอันโด่งดังของเฟลมิงคือการค้นพบเอนไซม์ไลโซไซม์ และยาเพนิซิลิน (Penicillin) จากเชื้อรา ก่อนจะเสียชีวิตลงในวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 1995

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เฟลมิงได้เข้าร่วมสงครามในฐานะแพทย์สนามในแนวรบด้านตะวันตก ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งในช่วงสงครามนี้เองที่ทำให้เฟลมิงเห็นทหารจำนวนมากเสียชีวิตจากภาวะพิษจากการติดเชื้อ โดยในตอนนั้นยังไม่มีการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากพอสำหรับการติดเชื้อ แพทย์ทำได้เพียงรักษาโดยใช้ยาฆ่าเชื้อโรค ที่ทำให้แผลบาดเจ็บมีสภาพแย่ลง ซึ่งเฟลมิงค้นพบว่ายาฆ่าเชื้อใช้ได้ผลดีเฉพาะระดับผิวหนัง แต่สำหรับแผลลึกยาฆ่าเชื้อจะเข้าไปทำลายแบคทีเรียที่มีประโยชน์

หลังจากสงครามจบลงเฟลมิงได้กลับมาทำงานที่โรงพยาบาลเซนต์เมรี และค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับสารต้านแบคทีเรีย ทำให้ในปี ค.ศ. 1921 เฟลมิงค้นพบไลโซไซม์ (Lysozyme) ซึ่งเป็นสารยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรียในสารคัดหลั่งทางจมูก จากนั้นเฟลมิงเริ่มทำการศึกษาคุณสมบัติของสตาฟิโลคอคคัส (Staphylococcus) แบคทีเรียที่ทำให้เกิดฝี และอาการเจ็บคอ โดยทำการเพาะเลี้ยงไว้ในจานเพาะเลี้ยงเชื้อ

เฟลมิงมักถูกขนานนามว่าเป็นช่างเทคนิคในห้องปฏิบัติการที่ไม่ระมัดระวัง ในช่วงที่เขาเพาะเลี้ยงสตาฟิโลคอคคัสไว้ในจานเพาะเลี้ยงเชื้อ หลังจากที่เขากลับมาจากพักร้อนเป็นเวลา 2 สัปดาห์ พบว่าจานเพาะเลี้ยงเชื้อที่วางเอาไว้บนม้านั่งมุมห้องมีเชื้อราปนเปื้อน และในบริเวณที่เกิดเชื้อราขึ้นแบคทีเรียถูกทำลายไป เฟลมิงจึงนำจานเพาะเชื้อที่มีเชื้อราขึ้นนั้นไปเพาะเลี้ยงต่อ และพบว่าเชื้อราได้ฆ่าแบคทีเรียสตาฟิโลคอคคัสที่ก่อให้เกิดโรคหลายชนิด ซึ่งเฟลมิงได้ตั้งชื่อสารตัวนี้ว่า “เพนิซิลิน” ในปีค.ศ. 1928

การค้นพบยาเพนิซิลิน จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนของการแพทย์สมัยใหม่ เข้าสู่ยุคแห่งการใช้ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาคนนับล้านจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการค้นพบนี้เองทำให้เฟลมิงได้รับ "รางวัลโนเบล" สาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ในปี ค.ศ. 1945 และได้รับการแต่งตั้งเป็นอัศวินจากพระเจ้าจอร์จที่ 6 อันเป็นที่มาของยศเซอร์ที่นำหน้าชื่อ

ที่มาข้อมูล: healio, acs, britannica, nobelprize
ที่มาภาพ: healio
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Alexander FlemingScienceThai PBS Sci & Tech Thai PBS Sci And Tech ThaiPBSOnThisDayเพนิซิลิน
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด