“โดรน” เราอาจเห็นคนนำมาใช้ประโยชน์มากมาย ครั้นทำจะให้ Unique มีเอกลักษณ์ ต้องมีการสร้างซิกเนเจอร์ของตัวเอง ! ไอเดียคนไทยไม่ธรรมดา Thai PBS Sci & Tech พาไปรู้จัก “โดรน SAT-VT200” และพูดคุยแบบเอ็กซ์คลูซีฟกับ “ธีรวัติ ศรีประโชติ” นักวิจัยจาก “สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ” หนึ่งในทีมวิจัยเจ้าของผลงาน ซึ่งโดรนลำนี้จะมีทีเด็ดอย่างไร ? จนคว้ารางวัลจากต่างประเทศ ตามมาอ่านกันได้เลย
คิดแตกต่าง..อย่างเข้าใจ พัฒนา “โดรน” ให้ไม่เหมือนใคร
นักวิจัยของสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ “ธีรวัฒน์ ศรีประโชติ” อธิบายให้เห็นภาพว่า จากการที่เราได้เห็นว่า “โดรน” นั้นมีทีมวิจัย คณะ รวมถึงบุคคล วิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างประโยชน์มากมาย ดังนั้น ทีมนักวิจัยของสมาคมฯ จึงได้มีการตกผลึกกันว่าจะทำอย่างไรให้ “โดรน” มีความแตกต่าง Unique เป็นซิกเนเจอร์ที่สำคัญสามารถใช้งานได้จริง นำไปสู่การคิดค้น “โดรน SAT-VT200” ซึ่งเป็นอากาศยานไร้คนขับที่มีภารกิจในการทำแผนที่ทางอากาศ และถ่ายแผนที่ 3 มิติ
โดยสามารถควบคุมได้ด้วยระบบ 4G ซึ่งระบบ 4G แตกต่างจากโดรนทั่วไปที่ควบคุมโดยใช้สัญญาณวิทยุ ที่มีรัศมีประมาณ 7-10 กิโลเมตร แต่การจะเก็บข้อมูลภูมิประเทศซึ่งเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ “โดรน” ต้องบินไปในพื้นที่ที่หลากหลาย ขณะที่นักบินก็ต้องคอยติดตามอากาศยานไปเรื่อย ๆ ทำให้เกิดความยากลำบาก
จึงเกิดไอเดียพัฒนาเรื่องของการส่งสัญญาณแบบ 4G หมายความว่าจุดใดที่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต “โดรน SAT-VT200” จะสามารถส่งข้อมูลกลับมาได้ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ หรือว่าการส่งคำสั่งเรียลไทม์ก็ดี ซึ่งขณะนี้ได้มีการนำ “โดรน” มาใช้งานเก็บข้อมูลจริงที่โครงการร้อยใจรักษ์ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
บินไกล ไม่ต้องห่วง “แบตฯ” หมด
จากความร่วมมือระหว่าง สมาคมฯ โครงการร้อยใจรักษ์ และกองทัพ “ธีรวัติ” กล่าวว่า ด้วยความที่เป็นการจับมือหลายหน่วยงาน ทำให้แม้ “โดรน” ต้องบินไกล แต่ “แบตเตอรี” ไม่ใช่ปัญหา เนื่องจาก ทางทีมพัฒนาโดรน ได้นำแบตฯ ไปประจำตามหน่วยของทหารตามพื้นที่ต่าง ๆ ในป่า พร้อมกันนี้ได้มีการให้ความรู้ในเรื่องการชาร์จแบตฯ ด้วย ดังนั้นก็เพียงตั้งค่าให้ “โดรน” บินสำรวจแล้วไปลงจอดที่ป้อมทหารต่าง ๆ อธิบายให้เห็นภาพก็คือ ให้โดรนบินจากจุด A ไปถึง B แล้วให้ทางเจ้าหน้าที่ทหารเปลี่ยนแบตฯ ให้ ด้วยเหตุนี้นักบินจึงสามารถนั่งคอนโทรลโดรนอยู่ห้องควบคุมโดยไม่ต้องเคลื่อนที่ไปไหน
ทั้งนี้การให้ “โดรน” บินเก็บข้อมูล จะทำเป็นประจำ เช่น ทุก 1 สัปดาห์, 1 เดือน หรือทุก 3 เดือน เพื่อนำข้อมูลแผนที่มาเปรียบเทียบ ซึ่งจะทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศ เช่น การลักลอบตัดไม้ทำลายป่า เป็นต้น
การทำงานของ “โดรน” เหมือนกับหุ่นยนต์เคลื่อนที่ในโรงงาน
ในเรื่องนี้ “ธีรวัติ” ให้ความรู้ว่า ลักษณะการทำงานนั้นจะมีความคล้ายคลึงกับหุ่นยนต์เคลื่อนที่ไปมาในโรงงาน โดยทางทีมฯ อาจจะตีกรอบพื้นที่ประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร แล้วจากนั้นกำหนดในซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นมาว่าจุดไหนเป็นจุด A, B, C, D หรืออื่น ๆ อยากให้จุดสิ้นสุดที่ตรงไหนอากาศยานก็จะบินเก็บภาพตามที่เรากำหนด ส่วนเรื่องของความละเอียดภาพ เช่น ภาพที่ 1 กับภาพที่ 2 อยากให้ห่างกันกี่วินาทีในการช็อตภาพ 1 ภาพ เราแค่ตั้งค่าเอาไว้ ส่วนที่เหลือโดรนจะทำการบินไปเอง
แผนในอนาคต สำหรับ “โดรน SAT-VT200”
“ธีรวัติ” กล่าวว่า ในอนาคต “โดรน SAT-VT200” จะถูกนำไปช่วยเหลือเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมอุทยานฯ เป็นต้น เพื่อร่วมมือกันเก็บข้อมูลผืนป่าในเมืองไทย ป้องปรามการตัดไม้ทำลายป่า นอกจากนี้ ทางทีมมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตโดรนให้มากขึ้น โดยอาจเป็นความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและเอกชน เพื่อใช้โดรนกระจายไปตามจุดต่าง ๆ เพื่อเก็บข้อมูลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือแม้ “โดรน” จะมีจำนวนหลักร้อยหรือหลักพันลำ ก็สามารถควบคุมได้ด้วยคนเดียว คอมพิวเตอร์เครื่องเดียว จากนั้นนำมา Generate แผนที่ 3 มิติ รวมกันโดยอัตโนมัติ
จากจุดสูงสุด กลับไปจุดเริ่มต้น
ต้องย้อนไปเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว จุดเริ่มต้นการวิจัยและพัฒนา “โดรน” เริ่มจาก โครงการ “หนูน้อยจ้าวเวหา” ซึ่งทางสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ได้ร่วมมือกับ Thai PBS ธีรวัติเล่าความหลังให้ฟัง โดยเริ่มจากประดิษฐ์เครื่องบินโฟม จากนั้นได้รับการสนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ก่อนพัฒนาต่อยอดมาจนเป็น “โดรน SAT-VT200” ในปัจจุบัน
“ธีรวัติ” ทิ้งท้ายให้กำลังใจ “นวัตกรไทย” ว่า อยากให้ทุกทีมทุกคนที่กำลังพัฒนา “โดรน” หรือนวัตกรรมต่าง ๆ อยู่ในเวลานี้ พยายามสร้างโอกาส ทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเห็น ขณะที่องค์กรต่าง ๆ ก็ควรมีการสนับสนุนผลงานของคนไทยที่สามารถใช้งานได้จริงให้มากขึ้น เพราะไอเดียคนไทยไม่ธรรมดา สามารถสู้กับต่างชาติได้ แต่ที่ยังขาดคือ “โอกาส” ถ้าได้รับการผลักดันจุดนี้ เราจะได้เห็นว่าอุตสาหกรรม “นวัตกรรม” บ้านเรายังเติบโตได้อีกมาก สามารถพัฒนาไปได้อีก เกิดเป็น “Creative Economy” พาเศรษฐกิจไทยก้าวไกลสู่สากลในอนาคต
“โดรน SAT-VT200” รางวัลที่ได้รับ :
- Bronze MEDAL Award จาก Taiwan Innotech Expo 2023
- Special Prize จาก Korea Invention Promotion Association
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech