ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Secret Story | We Are the Zs การตื่นขึ้นของพลัง


Lifestyle

28 ก.พ. 67

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

Logo Thai PBS
แชร์

Secret Story | We Are the Zs การตื่นขึ้นของพลัง

https://www.thaipbs.or.th/now/content/860

Secret Story | We Are the Zs การตื่นขึ้นของพลัง
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

…เขาคนหนึ่งพยายามสร้างทีมฟุตบอลเพื่อช่วยเหลือเด็กยากไร้ เขาอีกคนมุ่งมั่นสอนเทคโนโลยีให้เด็กรุ่นใหม่ที่ยังขาดโอกาส เธอคนหนึ่งพากเพียรฝึกฝนภาษาอังกฤษเพื่อเพิ่มช่องทางให้อนาคต เขาอีกสองคนกำลังเรียนรู้ที่จะสืบสานอาชีพในบ้านเกิดของตัวเอง ฯลฯ

สารคดีสั้นชุด We Are the Zs ประกอบด้วย 6 ตอน ที่แยกย้ายกันเล่าเรื่องของคนหนุ่มสาวในชุมชนที่เรียกได้ว่าอยู่ห่างไกลความเจริญในแต่ละประเทศของอาเซียน ว่าตามจริงแล้วสิ่งที่แต่ละคนทำนั้นไม่ใช่วีรกรรมยิ่งใหญ่ หรือเป็นความสำเร็จระดับฟู่ฟ่าตรงไหน แต่ทั้งหมดมีจุดร่วมกันอย่างไม่บังเอิญ และเป็นจุดที่ทำให้สารคดีชุดนี้ชวนติดตาม คือมันสะท้อนตัวตน ความเชื่อ และความใฝ่ฝันของ "คนรุ่น Z" (Generation Z) ในกลุ่มชาติอาเซียนได้อย่างน่าสนใจ

เมื่อปี ค.ศ. 2021 สถาบัน HILL ASEAN เผยผลวิจัยเกี่ยวกับคนรุ่น Z (หมายถึงผู้ที่เกิดระหว่างปี 1997-2012 และมีอายุระหว่าง 9 ถึง 24 ปีในปี ค.ศ. 2021) ซึ่งน่าเรียนรู้และทำความเข้าใจมาก เพราะคนกลุ่มนี้มีจำนวนสูงถึงร้อยละ 24 ของประชากรอาเซียนทั้งหมด จึงถือได้ว่าเป็นรุ่นที่จะมีอิทธิพลต่อสังคมและเศรษฐกิจสูงในอนาคตอันใกล้ 

ยิ่งกว่านั้นคือหลาย ๆ แง่มุมในงานวิจัยชิ้นนี้ก็น่าจะทำลายมายาคติที่ “ผู้ใหญ่” มักมีต่อ “คนรุ่นใหม่” ได้หลายข้อทีเดียว

ถ้าจะสรุปอย่างรวบรัดว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คนรุ่น Z มีวิธีคิด วิธีมองโลกแตกต่างมากจากคนรุ่นพ่อแม่ คำตอบก็คือ เพราะพวกเขาเติบโตมาพร้อมสมาร์ตโฟนในมือนั่นเอง ผลสำรวจชี้ว่า พวกเขากว่าร้อยละ 60 ใช้เวลากับหน้าจอโทรศัพท์วันละเกิน 6 ชั่วโมง ซึ่งฟังแล้วอาจชวนให้ผู้ใหญ่เกิดอาการวิตกจริตว่าลูกหลานจะโดนสื่อล้างสมอง หรือกลายเป็นคนหมกมุ่นกับตัวเองแล้วเมินเฉยต่อสังคม แต่ผลสำรวจเดียวกันนี้กลับระบุว่า มีคนหนุ่มสาวแค่ครึ่งเดียวเท่านั้นที่มีแนวโน้มจะเชื่อสื่อกระแสหลัก ขณะที่อีกครึ่งหนึ่งสามารถแยกแยะข่าวปลอมได้เป็นอย่างดี

สำหรับพวกเขาแล้ว แน่นอนว่าโลกออนไลน์อาจสร้างความกังวลและความเครียดได้เช่นกัน หากมันทำให้เกิดการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น แต่ที่สำคัญกว่านั้น มันเป็นพื้นที่ให้พวกเขาได้แสดงออกถึงตัวตน ได้เชื่อมโยงกับผู้คนจากต่างวัฒนธรรมและภูมิหลัง ทำให้ได้เรียนรู้ว่าโลกแห่งความเป็นจริงอันหมายถึงโลกซึ่งพ้นไปจากอาณาบริเวณบ้านและครอบครัวของตนเองกำลังดำเนินไปอย่างไร

ความรู้สึกเชื่อมโยงกับคนอื่นในวัฒนธรรมหรือสถานะอื่นเช่นนี้ มีอิทธิพลต่อความคิดอ่านของคนรุ่น Z แบบที่พ่อแม่และผู้ใหญ่จำนวนมากก็อาจคาดไม่ถึง เพราะมันทำให้พวกเขาเกิดทัศนคติว่าชีวิตควรมีอิสระและเสรีภาพ ขณะที่การได้รับรู้ความเป็นไปของสังคมอื่นก็หล่อหลอมให้พวกเขายอมรับความหลากหลาย เชื่อเรื่องการมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า และเชื่อว่าสังคมสมควรได้รับการแก้ไขปัญหาเพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้น

มาถึงจุดนี้จะไม่ให้คนรุ่น X อย่างผู้เขียนรู้สึกทึ่งได้อย่างไร คำว่า “ยกระดับคุณภาพชีวิต” ของคนรุ่นเราหรือก่อนกว่านั้นอาจจะหมายถึงการได้เรียนสูง จบปริญญา ทำงานมั่นคง รายได้ดี มีรถมีบ้าน แต่สำหรับคนรุ่น Z มันกลับหมายถึงการที่สังคมต้องสร้างโอกาสในการศึกษาและการทำงานเพื่อนำไปสู่ความเท่าเทียมของทุกคน 

แม้พวกเขาแต่ละคนจะมีความฝันและเป้าหมายชีวิตต่าง ๆ กันไป แต่จากการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่เน้นไปที่การพัฒนาตนเองด้วยความหวังว่าจะพัฒนาสังคมไปด้วยพร้อมกัน บางคนอาจฝันจะเป็นผู้บริหารระดับสูงหรือเป็นนักการเมืองเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง บางคนฝันจะเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยเพื่อสร้างสิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ และจำนวนมากมองว่า “รัฐ” ต้องดำรงบทบาทหลักในการสร้างความเปลี่ยนแปลงนี้ให้ได้

หรืออย่างน้อยที่สุด ก็เป็นดังที่เด็กสาวคนหนึ่งบนเกาะลอมบอก ประเทศอินโดนีเซีย ในตอน “Light from the beach” ของสารคดีชุดนี้ถ่ายทอดไว้ คือขอให้เธอได้มีชีวิตที่เรียบง่าย มีความสุขความพอใจ มีคุณภาพ และมีอนาคต

หลายครั้งเมื่อคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง เราจะเห็นผู้ใหญ่บางคนเยาะเย้ยเสียดสีว่า “เลิกพึ่งพ่อแม่ให้ได้ก่อนเถอะ ค่อยมาเพ้อฝันเรื่องเปลี่ยนโลก” ซึ่งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่ความเป็นจริงที่เราไม่อาจมองข้ามได้ก็คือ การที่คนรุ่น Z ทั่วโลกเกิดความเชื่อและความฝันคล้าย ๆ กันนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากเป็นเพราะพวกเขาโตมาท่ามกลางความเน่าเฟะพังทลายของหลายสิ่งหลายอย่าง ตั้งแต่สภาพเศรษฐกิจไปจนถึงสภาพภูมิอากาศ และพวกเขาคือคนรุ่นที่ต้องใช้เวลาในชีวิตอีกยาวนานเพื่อรับผลของมัน ...ผลของสิ่งที่เห็นกันชัดเจนว่าเกิดจากการกระทำอันผิดพลาดของคนรุ่นพ่อแม่นั่นเอง

ความมุ่งมั่นอยากเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ไม่ได้มีแค่ในอาเซียน ยังมีผลสำรวจของ UNICEF ร่วมกับ Gallup เมื่อปี ค.ศ. 2021 ที่ชี้ด้วยว่า 

ประเทศซึ่งอยู่ในสถานะ “ยากจน” กลับมีคนหนุ่มสาวที่มองชีวิตอย่างมีความหวังมากกว่าประเทศร่ำรวย และก็ไม่ได้เป็นเพียงความหวังถึงอนาคตของตัวเอง แต่พวกเขาฝันถึงโลกทั้งใบที่ดีกว่านี้

ผลสำรวจดังกล่าวทำกับเป้าหมาย 21,000 คนใน 2 กลุ่มอายุ คือ 15-24 ปี และ 40 ปีขึ้นไป ใน 21 ประเทศทั่วโลก จุดที่น่าสนใจคือคนหนุ่มสาวในชาติตะวันตกส่วนใหญ่ (ซึ่งแน่นอนว่าจัดอยู่ในกลุ่มประเทศมั่งคั่ง) เชื่อว่าฐานะทางเศรษฐกิจของตนจะแย่ลงกว่าคนรุ่นพ่อแม่ ขณะที่เยาวชนในประเทศรายได้ต่ำและปานกลางกลับมีแนวโน้มเชื่อว่าพวกเขาจะสามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ทั้งในชีวิตได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น หญิงสาววัย 21 ปีคนหนึ่งในเคนยาบอกว่า “พลังในการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ใดๆ ล้วนอยู่ที่ตัวเรา”

หรือหญิงสาววัย 19 ปีอีกคนหนึ่งในยูเครนพูดไว้แบบที่ชวนให้ผู้ใหญ่อย่างผู้เขียนเจ็บจึ้ก ว่า “สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือเศรษฐกิจที่พังทลาย ผลกระทบเชิงลบของทุนนิยม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนรุ่นเราต้องเผชิญ ความโลภ-ซึ่งบรรพบุรุษของเราไม่รู้วิธีเอาชนะ- คือสิ่งที่พาเรามาสู่สภาวะนี้ ดังนั้นเราจะต้องลุกขึ้นมาจัดการแก้ปัญหาทุกอย่าง และเราต้องทำโดยเร็วที่สุด !”

โครงการความร่วมมือระหว่างไทยพีบีเอส และภาคีในภูมิภาคอาเซียน เปิดตัวภาพยนตร์สารคดี We Are the Zs จากฝีมือผู้สร้างสรรค์ 6 ประเทศอาเซียน ร่วมกันเล่าเรื่องราวของแต่ละประเทศเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคน ส่งต่อฝันสร้างแรงบันดาลใจผ่านชาวอาเซียนรุ่นใหม่ รับชมทาง www.VIPA.me  หรือ VIPA Application

“ Secret Story ” คอลัมน์จาก VIPA ที่มาพร้อมเรื่องราวเจาะลึก มุมมองในมิติที่คุณอาจไม่เคยรู้ ทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลังของผลงานสารคดีคุณภาพ ที่เราไม่อยากให้คุณพลาดใน www.VIPA.me 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

VIPAdotMeประเทศอาเซียนคนเจน ZGeneration Zเด็กและเยาวชนสารคดี We Are the Zsคนรุ่นใหม่ประเทศยากจนอินโดนีเซียเวียดนามลาวมาเลเซียกัมพูชา
ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
ผู้เขียน: ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

ผู้ก่อตั้ง Documentary Club คลับของคนรักสารคดี และหนังนอกกระแส

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด