มหาวิทยาลัยอีสต์ลอนดอนร่วมมือกับบริษัทผลิตน้ำตาลในประเทศอังกฤษ พัฒนาคอนกรีตชานอ้อย วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การันตีด้วยรางวัล Climate Positive Award ระดับนานาชาติ
"อ้อย" เป็นพืชที่มีประโยชน์มากมาย นอกจากเป็นสารให้ความหวานแล้ว เส้นใยของอ้อยที่เรียกว่า "ชานอ้อย" ยังสามารถนำมาอัดแข็งใช้แทนคอนกรีตได้ด้วย ซึ่งอ้อยเป็นพืชเกษตรที่มีการปลูกทั่วโลกเกือบ 2 พันล้านตันต่อปี การนำเอากากอ้อย หรือชานอ้อย มาแปรรูปเป็นคอนกรีตถือเป็นการลดของเหลือทิ้งให้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยังถือเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ด้วย
“คอนกรีตชานอ้อย” ทำมาจากชานอ้อยที่ผสมกับสารยึดเกาะ ซึ่งส่วนผสมทั้งหมดจะถูกบีบอัดและปล่อยให้แข็งตัว จนกลายเป็นบล็อกที่มีความแข็งแรงสูงซึ่งสามารถใช้แทนดินเหนียวหรืออิฐคอนกรีตแบบดั้งเดิมได้ ซึ่งข้อดีของบล็อกที่ทำจากชานอ้อย คือ แข็งตัวได้เร็วกว่า มีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า มีน้ำหนักเบากว่าถึง 4 เท่า และที่สำคัญคือปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยกว่าคอนกรีตแบบเดิม ๆ ถึง 20 เท่า
หลังการเก็บเกี่ยวอ้อย แทนที่จะทิ้งหรือฝังกลบชานอ้อยโดยไม่เกิดประโยชน์ การนำชานอ้อยมาทำคอนกรีต ทำให้เกษตรสามารถขายชานอ้อยที่มีให้กับบริษัทผู้ผลิตเพื่อนำไปทำคอนกรีตชานอ้อยได้ ซึ่งคอนกรีตชานอ้อยจะเป็นวัสดุทางเลือกในการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ที่อาจมีงบประมาณไม่มากพอหากจะเลือกใช้คอนกรีตอย่างเดียว
การประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ กลุ่มสิ่งแวดล้อม Green Cross UK ได้เลือกคอนกรีตชานอ้อยให้เป็นผู้ชนะสาขาเศรษฐกิจหมุนเวียนของรางวัล Climate Positive Awards ซึ่งรางวัลดังกล่าวเชิดชูความคิดริเริ่มที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในส่วนของเศรษฐกิจหมุนเวียนมุ่งเป้าไปที่โครงการที่ช่วยลดขยะโดยการนำวัสดุที่มีอยู่กลับมาใช้ใหม่
ที่มาข้อมูล: newatlas, uel, dezeen
ที่มาภาพ: uel
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech