“Flight Recorder” หรือที่ทุกคนจะรู้จักกันในชื่อ “กล่องดำ” แม้มันจะไม่ได้มีสีดำตามชื่อ แต่มันเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดในด้านความปลอดภัยของการบินในปัจจุบัน เมื่อเกิดเหตุ “เครื่องบินตก” หลายคนก็อาจจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับการค้นหากล่องดำเพื่อนำมาใช้สืบสวนสอบสวนสาเหตุการตกของเครื่องบิน แล้วกล่องดำมันคืออะไรกันแน่
ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าเหตุใดจึงเรียก Flight Recorder หรือแปลตรงตัวว่าเป็นเครื่องบันทึกข้อมูลการบินว่า “กล่องดำ” บ้างก็ว่าเพราะ Flight Recorder ในยุคแรก ๆ มีสีดำ บ้างก็ว่าเพราะการบันทึกข้อมูลนั้นกระทำโดยการใช้ฟิล์มแสง จึงจำเป็นต้องทำให้ภายในกล้องนั้นมืดสนิท เป็นที่มาของ “กล่องดำ”
แม้ในปัจจุบัน Flight Recorder ทั้งหมดจะถูกทาสีให้เป็นสีส้มแล้ว หลาย ๆ ครั้งมันก็ยังถูกเรียกว่ากล่องดำอยู่ดีด้วยความคุ้นชินกับการใช้กันมาในแวดวงการข่าวเป็นเวลานาน เหตุที่ทาสีเป็น “สีส้ม” เพราะว่า นอกจากผลไม้ที่ให้สีส้มแล้ว ในธรรมชาติแทบไม่มีสิ่งอื่นใดที่มีสีส้มอีกเลย ทำให้ Flight Recorder ที่มีสีส้มนั้นเด่นและเห็นได้ชัด ซึ่งช่วยในการค้นหาเมื่อเกิดเหตุการณ์เครื่องบินตก
Flight Recorder นั้นแบ่งได้เป็นสองชนิด ได้แก่
Flight Data Recorder (FDR)
Cockpit Voice Recorder (CVR)
หน้าที่ของ FDR คือการบันทึกข้อมูลการบินต่าง ๆ เช่น ความเร็ว ความสูง ทิศทาง และความเร็วในการเปลี่ยนแปลงระดับการบิน โดยที่แต่ละรุ่นมีความสามารถในการบันทึกข้อมูลได้ไม่เท่ากัน บางรุ่นอาจจะบันทึกข้อมูลหลายชุดในความละเอียดต่อเวลาที่สูง บางรุ่นอาจจะบันทึกเพียงแค่ข้อมูลไม่กี่อย่างและไม่ละเอียดมากพอ
ส่วนหน้าที่ของ CVR คือการบันทึกเสียงในห้องนักบิน ซึ่งเมื่อนำข้อมูลของ FDR และ CVR มารวมกันจะทำให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในห้องนักบินและนักบินกำลังทำอะไรอยู่หรือตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินอย่างไร
FDR และ CVR นั้นอาจจะแยกกันอยู่เป็นกล่องสองใบ หรืออาจจะรวมอยู่ในกล่องเดียวกันก็ได้ ภายนอกของกล่องดำนั้นคือเหล็กกล้าไร้สนิมหรือไทเทเนียมซึ่งมักจะห่อหุ้มไว้ถึงสองชั้นพร้อมกับชั้นของฉนวนความร้อน ซึ่งทำให้กล่องภายนอกของ FDR และ CVR นั้นทนต่ออุณหภูมิได้สูงถึง 1,000 องศาเซลเซียส และทนต่อแรงกระแทกได้มากถึง 3,400 g ดังนั้น FDR และ CVR จึงมักจะไม่เสียหายหลังเหตุการณ์เครื่องบินตก และสามารถนำมาใช้ในการสืบสวนสอบสวนได้
ภายนอกของกล่องดำหรือ Flight Recorder นั้นยังมีสิ่งที่เรียกว่า “Underwater Locator Beacon” หรือ “ULB” ด้วย ซึ่งใช้ในการส่งเสียง Ultrasonic เพื่อระบุตำแหน่งของกล่องดำใต้ทะเลในกรณีที่เครื่องบินตกในมหาสมุทร อุปกรณ์ ULB จะทำงานเมื่อสัมผัสกับน้ำ และจะส่งคลื่นเสียงความถี่สูงที่เดินทางได้ไกลมากออกมาในทุก ๆ วินาที
ULB ทำงานด้วยแบตเตอรี และสามารถส่งเสียง Ultrasonic ได้ยาวนานถึง 30 วันติดต่อกัน โดยที่สัญญาณจาก ULB สามารถตรวจจับได้ที่ระยะประมาณ 1-2 กิโลเมตรจากจุดตก และอาจไกลถึง 4-5 กิโลเมตรในบางกรณี ดังนั้น 30 วันหลังจากเครื่องบินตกจึงเป็นช่วงระยะเวลาที่สำคัญที่สุดของการค้นหาและการเก็บกู้ ไม่เช่นนั้นแล้วอาจไม่สามารถหากล่องดำเจอได้อีกเลยเมื่อแบตเตอรีของ ULB หมด
ในยุคของการบินสมัยใหม่นั้น เหตุการณ์เครื่องบินตกมีน้อยลงมากเทียบกับอดีต ต้องขอบคุณการศึกษาด้านความปลอดภัยของอากาศยานด้วยความช่วยเหลือของ Flight Recorder ที่ทำให้เราสามารถหาสาเหตุของเครื่องบินตกแต่ละครั้งได้ และแก้ปัญหาหรือป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบเดิมซ้ำ
อย่างไรก็ตาม อุบัติเหตุทางอากาศยานหลายครั้งในปัจจุบันไม่ได้มีเหตุการณ์เครื่องบินตกเกิดขึ้น แต่เป็นอุบัติเหตุที่นักบินสามารถนำเครื่องบินลงจอดได้อย่างปลอดภัย การจะสอบสวนสาเหตุของอุบัติเหตุเหล่านี้นั้นจำเป็นจะต้องถอด Flight Recorder ออกมาจากเครื่องบินเพื่อนำข้อมูลมาอ่านด้วยเครื่องมือจำเพาะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและยากเนื่องจาก Flight Recorder นั้นมักจะอยู่ในที่มิดชิด ทำให้เกิดการพัฒนา Flight Recorder อันที่สามออกมา เรียกว่า “Quick Access Recorder” หรือ “QAR”
QAR นั้นเป็นระบบที่คล้ายหน่วยความจำถาวรในอุปกรณ์มือถือของเรา ซึ่งมีความจุและความเร็วในการบันทึกข้อมูลสูงมาก ทำให้ QAR สามารถบันทึกข้อมูลการบินได้มากถึง 2,000 ค่าด้วยอัตราการบันทึกข้อมูลที่สูงกว่า ดังนั้นหมายความว่าข้อมูลจาก QAR นั้นละเอียดมากกว่า FDR มาก นอกจากนี้ข้อมูล QAR ยังเข้าถึงได้ง่ายกว่าจาก FDR เพียงแค่ใช้สาย USB หรือแม้แต่เชื่อม Wi-Fi ก็สามารถดาวน์โหลดข้อมูลการบินออกมาวิเคราะห์ได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม QAR ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทนทานต่อการตกของเครื่องบิน ดังนั้น FDR และ CVR จึงยังมีความสำคัญอยู่ในเหตุการณ์ที่เครื่องบินตก
แม้ Flight Recorder จะถูกออกแบบมาให้ทนทานเป็นพิเศษ ในเหตุการณ์เครื่องบินตกหลายครั้ง Flight Recorder ก็อาจจะมีสภาพยับเยินได้เช่นกัน แต่หลายครั้งที่ข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ใน Flight Recorder สามารถกู้กลับมาได้ และช่วยในการหาสาเหตุการตกของเครื่องบินได้เป็นอย่างดี
เรียบเรียงโดย : โชติทิวัตถ์ จิตต์ประสงค์
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech