ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

33 ปี รัฐประหาร รสช. ศึกชิงอำนาจที่นำไปสู่ "พฤษภาทมิฬ"


ประวัติศาสตร์

23 ก.พ. 67

Thai PBS Digital Media

Logo Thai PBS
แชร์

33 ปี รัฐประหาร รสช. ศึกชิงอำนาจที่นำไปสู่ "พฤษภาทมิฬ"

https://www.thaipbs.or.th/now/content/848

33 ปี รัฐประหาร รสช. ศึกชิงอำนาจที่นำไปสู่ "พฤษภาทมิฬ"
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 คณะนายทหารซึ่งเรียกกลุ่มตนเองว่า “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” (รสช.) นำโดยนายทหารผู้ใหญ่ 5 คน คือ พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก พลเรือเอกประพัฒน์ กฤษณจันทร์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ พลเอกอิสระพงษ์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการทหารบก ได้ร่วมกันยึดอำนาจจากรัฐบาลประชาธิปไตยของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ในเวลาต่อมาคณะรสช.ได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ และได้ตั้งคณะที่ปรึกษา ตั้งคณะรัฐบาล และตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้น ภายหลังจากที่ได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 ต่อมาคณะรสช.ได้เปลี่ยนชื่อเป็นสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือสภารสช.โดยมีพลเอกสุนทร คงสมพงษ์เป็นประธานสภา และพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นรองประธานสภาฯ
พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ , พลเอก สุจินดา คราประยูร ,พลเอก สุนทร คงสมพงษ์, /ภาพ AFP : PONGSAK CHAIYANUWONG

การรัฐประหารของคณะรสช.มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งที่สั่งสมมาระหว่างคณะรัฐบาลและฝ่ายกองทัพ กล่าวคือ ฝ่ายรัฐบาลถือว่าตนเองมีที่มาอันชอบธรรมจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่ฝ่ายกองทัพรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของบ้านเมืองและไม่พอใจนักการเมืองที่มุ่งเข้ามาบริหารประเทศแล้วทำการทุจริต 

นอกจากนี้ฝ่ายผู้นำกองทัพนั้นยังคาดหมายว่ารัฐบาลควรจะต้องรับฟังเมื่อฝ่ายทหารตักเตือน แต่พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณไม่ได้ปฏิบัติเช่นนั้น นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากการขยายบทบาทของพล.อ.สุจินดา คราประยูร และนายทหารรุ่น 5 กล่าวคือ พล.อ.อิสระพงษ์ หนุนภักดี พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล และพล.อ.วิโรจน์ แสงสนิทมีความปรารถนาที่จะมีบทบาททางการเมือง แต่ไม่ต้องการที่จะตั้งพรรคการเมืองและลงสมัครรับเลือกตั้ง หากแต่ต้องการที่จะขึ้นสู่อำนาจทางอ้อม การรัฐประหารจึงเป็นวิถีทางที่นายทหารเหล่านี้เลือก

วิกฤตการณ์ที่นำมาสู่การรัฐประหารของคณะรสช.เริ่มมาจากความขัดแย้งในวงการตำรวจ จากการที่รัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณได้ตั้งให้ พล.ต.ต.เสรี เตมียเวส มารับตำแหน่งผู้บัญชาการกองปราบปราม และจะต้องอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของพล.ต.ท.บุญชู วังกานนท์ ผู้บัญชาการสอบสวนกลางซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกัน พล.ต.ท.บุญชู เป็นนายตำรวจร่วมรุ่นกับนายทหารรุ่นที่ 5 และเป็นผู้รับผิดชอบคดีลอบสังหารบุคคลสำคัญ ซึ่งก็คือ คดีที่กลุ่มยังเติร์กพยายามสังหารพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และพล.อ.อาทิตย์ กำลังเอกตั้งแต่ 2524 ต่อมาในเดือน กุมภาพันธ์ 2535 รัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณได้เปลี่ยนตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจและเลื่อนตำแหน่งพล.ต.ท.บุญชูขึ้นเป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ อย่างไรก็ตาม พล.ต.ท.บุญชู ชะลอเรื่องไม่ยอมส่งมอบสำนวนคดีให้กับพล.ต.ต.เสรี ที่ได้รับแต่งตั้งให้มารับผิดชอบแทน และจากนั้นได้มีใบปลิวออกมาโจมตีว่า กรณีลอบสังหารนี้มีเป้าหมายอยู่ที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถ โดยมีพล.ต.มนูญ รูปขจร กับนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณเป็นเป้าหมายของการกล่าวหา กรณีนี้จะถูกเรียกว่า กรณีลอบสังหารเบื้องสูง

การสร้างข่าวเรื่องกรณีลอบสังหารเบื้องสูงนี้ สร้างความงุนงงสับสนให้กับประชาชนทั่วไป รัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณพยายามแก้ปัญหาโดยออกประกาศในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2534 และตั้งพล.อ.อาทิตย์ กำลังเอกเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเพื่อคลี่คลายปัญหา ในฐานะที่พล.อ.อาทิตย์เคยเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในฐานะเป็นเป้าหมายของการลอบสังหาร แต่วิกฤตกลับขยายตัวเพราะในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ มีข่าวลือว่า พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณจะปลดตำแหน่งพล.อ.สุนทร คงสมพงษ์และพล.อ.สุจินดา คราประยูร กองทัพจึงสั่งเตรียมพร้อม แต่ก็ไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น

ภารกิจรักษาความสงบเรียบร้อยหลังการยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ พ.ศ. 2534 / AFP : KRAIPIT PHANVUT

จนถึงเวลา 11.00 น. ของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2535 พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณได้นำพล.อ.อาทิตย์ กำลังเอกและคณะผู้ติดตามไปขึ้นเครื่องบินที่กองทัพอากาศ เพื่อไปเข้าเฝ้าถวายสัตย์ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ คณะของพล.อ.ชาติชาย ชุณ หะวัณทั้งคณะถูกหน่วยจู่โจมของกองทัพอากาศควบคุมตัวทั้งหมดบนเครื่องบินในเวลา 11.15 น. และถูกนำตัวกลับมาที่กองบัญชาการกองทัพอากาศ ต่อมาเวลา 11.30 น. กำลังทหารหน่วยต่าง ๆ ก็ได้เคลื่อนเข้ายึดสถานที่สำคัญในกรุงเทพฯ 

จากนั้นคณะทหารซึ่งเรียกตนเองว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ก็ประกาศยึดอำนาจไว้ได้ ลงนามโดยพล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ เป็นหัวหน้าคณะ พล.อ.สุจินดา คราประยูร พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล และพล.ร.อ.ประพัฒน์ กฤษณจันทร์ เป็นรองหัวหน้าคณะ พล.อ.อิสระพงษ์ หนุนภักดีเป็นเลขาธิการ

คณะทหารได้ประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศตั้งแต่เวลา 11.30 น.เป็นต้นไป และออกประกาศห้ามการชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน แต่ไม่มีการประกาศเลิกพรรคการเมืองต่าง ๆ ประกาศของคณะรสช.อ้างเหตุผล 5 ข้อที่ต้องยึดอำนาจ คือ

1. รัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ มีการกระทำทุจริตคอรัปชั่นอย่างมาก
2. รัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณรังแกข้าราชการประจำ
3. รัฐบาลรวบรวมเสียงในสภาไว้มากจนมีแน้วโน้มเผด็จการรัฐสภา
4. รัฐบาลมุ่งทำลายสถาบันทหาร
5. มีการบิดเบือนคดีลอบสังหารเบื้องสูง

คณะทหารจึงได้มีความพยายามจับกุมบุคคล 3 คนในวันที่ก่อการรัฐประหาร คือ พล.ต.มนูญ รูปขจรนายไกรศักด์ ชุณหะวัณ และร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง แต่ทั้ง 3 คนหลบหนีได้โดย ลี้ภัยไปต่างประเทศ และเพื่อย้ำความชอบธรรมในการรัฐประหารในหมู่ประชาชน คณะรสช.ได้จัดฉากให้พ.อ.บุลศักดิ์ โพธิเจริญ หนึ่งในผู้ต้องหาคดีลอบสังหารมาให้การทางโทรทัศน์เผยแพร่ไปทั้งประเทศ เรื่องราวที่พ.อ.บุลศักดิ์เล่า จึงทำให้เหตุผลการยึดอำนาจของรสช.ที่อ้างเกี่ยวกับคดีลอบสังหารเบื้องสูงมีความชอบธรรม ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ปี 2534 พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบกได้แถลงว่า กองทัพต้องเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศเพราะต้องการขจัดการทุจริตและปกป้องสถาบันกษัตริย์ และสัญญาว่าจะคืนอำนาจให้กับประชาชนโดยเร็ว

ภารกิจรักษาความสงบเรียบร้อยหลังการยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ พ.ศ. 2534 / AFP : KRAIPIT PHANVUT

ในประกาศของคณะรสช. ฉบับที่ 3 กำหนดให้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2521 สิ้นสุดลง และรัฐสภาก็สิ้นสุดลงด้วย จากนั้นในวันที่ 1 มีนาคม 2534 ก็ได้มีการประกาศธรรมนูญชั่วคราว 23 มาตราขึ้นมาใช้แทน ธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีบทบัญญัติใดที่กล่าวถึงสิทธิ เสรีภาพของประชาชน แต่มีมาตรา 18 ที่กำหนดให้สภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ซึ่งก็คือ คณะนายทหารที่ยึดอำนาจทำหน้าที่ดูแลการบริหารบ้านเมือง และมีมาตรา 27 ที่ให้อำนาจอย่างไม่จำกัดแก่นายกรัฐมนตรีและประธานสภารสช. เพื่อป้องกัน ระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงแห่งชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศหรือราชการแผ่นดิน นอกจากนี้ในมาตรา 7 ของธรรมนูญชั่วคราวฉบับของรสช.ได้มีการกำหนดให้ตั้งสภานิติบัญญัติขึ้นจำนวนหนึ่งเพื่อทำหน้าที่รัฐสภา การแต่งตั้งสมาชิกสภานี้ ให้ประธานคณะรสช.เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ คณะรสช.จึงแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติจำนวน 292 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนายทหารและข้าราชการ และให้สภานิติบัญญัตินี้ตั้งกรรมการ 20 คนไปร่างรัฐธรรมนูญมาเสนอภายในปี 2534 คณะกรรมการนี้มีนายมีชัย ฤชุพันธ์เป็นประธาน ดังนั้นจึงได้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมาอีก

รสช.ได้ออกประกาศรสช.ฉบับที่ 26 ให้มีการตั้งกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาตรวจสอบและอายัดทรัพย์นักการเมืองที่เชื่อว่าทุจริตจำนวน 25 คน โดยมีพล.อ.สิทธิ จิรโรจน์เป็นประธาน นักการเมืองเหล่านี้ เช่น พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายบรรหาร ศิลปอาชา นายประมาณ อดิเรกสาร นายมนตรี พงษ์พานิช นายเสนาะ เทียนทอง พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ นายณรงค์ วงษ์วรรณ นายเฉลิม อยู่บำรุง เป็นต้น แต่ท้ายที่สุดคณะกรรมการชุดนี้แทบจะไม่สามารถเอาผิดใครได้ และเพื่อผ่อนคลายกระแสความไม่พอใจจากประชาชนและกระแสการปฏิเสธจากต่างประเทศ ในวันที่ 2 มีนาคม 2534 คณะรสช.จึงได้แต่งตั้งให้นายอานันท์ ปันยารชุนมาเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ

ในเดือนสิงหาคม 2534 รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างขึ้นได้นำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ พิมพ์เขียวของร่างธรรมนูญมี 230 มาตรา และกลายเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นรัฐธรรมนูญปูทางให้แก่คณะทหาร เพราะมีมาตราจำนวนมาก เช่น การยอมให้ข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งทางการเมือง การให้อำนาจอย่างมากแก่วุฒิสมาชิก การกำหนดบทเฉพาะกาลรักษาอำนาจของสภารสช. และการคงมาตรา 27 ไว้ให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีและประธานสภารสช. นอกจากนี้ คือ การกำหนดวิธีการเลือกตั้งแบบเลือกเบอร์เดียวยกเขตทั้ง 3 คน และให้คณะกรรมการรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ดูแลการเลือกตั้ง และประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ การเปิดทางให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง ฯลฯ รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงได้รับฉายาว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับร่างทรงรสช.

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงทำให้องค์กรประชาธิปไตยต่าง ๆ ทั้งคณะทำงานรณรงค์เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย (ครป.) กลุ่มนักวิชาการ สมาพันธ์นักศึกษา สหภาพแรงงาน และพรรคการเมืองต่าง ๆ แทบทุกพรรคต่างก็คัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยมุ่งประเด็นไปที่เรื่องของนายกรัฐมนตรีที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งหมายถึงการเปิดทางให้แก่นายทหารในคณะรสช.ที่จะมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ ส่วนในทางการเมือง พรรคการเมืองฝ่ายทหารก็ปรากฎขึ้นโดยใช้ชื่อว่าพรรคสามัคคีธรรม โดยมีน.ต.ฐิติ นาครทรรพ ผู้ใกล้ชิดของพล.อ.อ.เกษตร โรจนนิลเป็นผู้ประสานงานรวบรวมเอาอดีตส.ส.หลายกลุ่มมารวมกัน และพรรคนี้ได้จดทะเบียนให้ นายณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรค ส่วนพรรคชาติไทย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณได้ลาออกจากหัวหน้าพรรค สมาชิกพรรคจึงได้เลือกพล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ เป็นหัวหน้าพรรคและมีความสนิทสนมกับ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล จึงเป็นทางเลือกที่จะสามารถประสานระหว่างฝ่ายพรรคชาติไทยและรสช. ส่วนพรรคกิจสังคม แม้ว่านายมนตรี พงษ์พานิชได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค แต่พล.ท.เขษม ไกรสรรณ์ ซึ่งเป็นนายทหารรุ่นเดียวกับพล.อ.สุจินดา คราประยูร ได้มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค

ในเดือนตุลาคม 2534 เมื่อมีการโยกย้ายนายทหาร พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเกษียณอายุ คงเหลือแต่ตำแหน่งประธานสภารสช.ตำแหน่งเดียว พล.อ.สุจินดา คราประยูร จึงดำรงตำแหน่งทั้งผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุด นอกจากนี้พล.ต.ชัยณรงค์ หนุนภักดียังได้รับตำแหน่งแม่ทัพกองร้อยที่ 1

ในเดือนพฤศจิกายน 2534 สภานิติบัญญัติพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่สอง ฝ่ายรัฐสภาได้พยายามแก้ไขปรับปรุงเรื่องที่ถูกต่อต้านคัดค้านอย่างหนักหลายเรื่อง เช่น เรื่องการยกเลิกวิธีการเลือกตั้งแบบเลือกเบอร์เดียวยกเขตทั้ง 3 คน โดยให้เลือกเรียงเบอร์ 3 คนในลักษณะเดิม การยกเลิกมาตรา 27 ในบทเฉพาะกาลที่ให้ลดจำนวนวุฒิสมาชิกจาก 360 คน เหลือ 270 คน เป็นต้น 

แต่อย่างไรก็ตามยังคงเหลือข้อกังขาอีกหลายเรื่อง เช่น การเปิดทางให้คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีได้ หรือให้ประธานคณะรสช.เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เป็นต้น ต่อมาในวันที่ 6 ธันวาคม 2534 ได้มีการชุมนุมต่อต้านรัฐธรรมนูญครั้งใหญ่ที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่จังหวัดต่าง ๆ เช่น เชียงใหม่ สงขลา โดยมุ่งโจมตีในประเด็นที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะเปิดทางให้นายทหารในคณะรสช.ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนนตรี ดังนั้นพล.อ.สุจินดา คราประยูร และพล.อ.อ.เกษตร โรจนนิลจึงออกมาให้สัตย์ปฏิญาณว่า เมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้จะไม่มีใครในคณะรสช.เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญจึงผ่านวาระที่สามด้วยคะแนนเสียง 262 ต่อ 7

ก่อนการเลือกตั้ง สื่อมวลชนได้สอบถามพล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ประธานสภารสช. ซึ่งจะต้องเป็นผู้ลงนามโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีว่า ใครเหมาะสมที่จะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้ง พล.อ.สุนทรตอบว่า “ถ้าสุไม่เป็น ก็ให้เต้เป็น” ซึ่งหมายถึงพล.อ.สุจินดา คราประยูร และ พล.อ.เกษตร โรจนนิล คำแถลงดังกล่าวจึงถูกโจมตีอย่างหนัก

ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎรได้ร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาล และได้ประกาศว่าจะสนับสนุนให้นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีเสียงสนับสนุน 195 เสียง แต่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาออกมาประกาศว่า นายณรงค์เป็นหนึ่งในบัญชีดำที่ไม่สามารถขอวีซ่าเดินทางเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาได้ เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับการค้ายาเสพติด ทำให้นายณรงค์มีมลทินไม่สามารถที่จะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้โดยชอบธรรม

เมื่อเป็นเช่นนี้ พรรคการเมืองทั้ง 5 พรรค จึงได้เชิญพล.อ.สุจินดา คราประยูรมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยอ้างว่าได้พยายามที่จะให้มีนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งแล้ว แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เมื่อเป็นเช่นนี้พล.อ.สุจินดา จึงได้อ้างว่าจำเป็นต้อง “เสียสัตย์เพื่อชาติ” โดยลาออกจากตำแหน่งในกองทัพเพื่อเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งในวันที่ 7 เมษายน 2535 หลังจากนั้นพล.อ.อิสระพงษ์ หนุนภักดี เข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาหารทหารบกแทน และพล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดอีกตำแหน่งหนึ่ง

ผลจากการที่พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายทหารหนึ่งในคณะรสช.เข้ารับตำแหน่งก็เผชิญกับการประท้วงอย่างกว้างขวาง ภายหลังจากนั้นการประชุมประท้วงก็ดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง และการประท้วงของประชาชนลุกลามขยายตัวหลังจากที่พล.ต.จำลอง ศรีเมืองหัวหน้าพรรคพลังธรรมเข้ามาเป็นผู้นำการประท้วง ต่อมาเหตุการณ์ได้ตึงเครียดมากขึ้นเพราะประชาชนมาร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลมากขึ้นทุกที จนในที่สุดมีผู้ชุมนุมต่อต้านพล.อ.สุจินดา คราประยูรนับแสนคน และเหตุการประทุรุนแรงขึ้นในวันที่ 18 พฤษภาคม 2535 เมื่อพล.อ.สุจินดาส่งกองทหารเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ร่วมชุนนุม ต่อมาในวันที่ 23 พฤษภาคม พล.อ.สุจินดาออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการในเหตุการณ์ครั้งนี้ทั้งหมดหรืออีกนัยหนึ่งคือการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อให้ตนเองพ้นจากความผิด 

และในวันที่ 24 พฤษภาคม พล.อ.สุจินดาได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ ทำให้ความตึงเครียดผ่อนคลายลง ผลที่ตามมาจากการยึดอำนาจของคณะรสช.และนายกรัฐมนตรีที่มาจากคณะรสช.ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง คือ การต่อต้านของประชาชนที่เห็นว่าคณะรสช.ได้อำนาจมาโดยไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยและเป็นการรักษาอำนาจด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งสุดท้ายได้นำไปสู่ความขัดแย้งและการใช้กำลังปราบปรามประชาชนจนทำให้เกิดเหตุการณ์นองเลือด คือ ประชาชนบาดเจ็บ ล้มตาย และสูญหาย ซึ่งส่งผลให้เหตุการณ์นี้ถูกเรียกกันต่อมาว่า เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

ที่มา :  
รัฐประหาร 2534 (รสช.)
23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 : รัฐประหารและสถาบันการเมือง 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

รัฐประหารในไทยวันสำคัญวันนี้ในอดีต
ผู้เขียน: Thai PBS Digital Media

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด