ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กะเทาะมุมคิด “ไพฑูรย์ ธัญญา” กับการเป็น “นักเขียน” ยุคดิจิทัล


วันสำคัญ

23 ก.พ. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

กะเทาะมุมคิด “ไพฑูรย์ ธัญญา” กับการเป็น “นักเขียน” ยุคดิจิทัล

https://www.thaipbs.or.th/now/content/846

กะเทาะมุมคิด “ไพฑูรย์ ธัญญา” กับการเป็น “นักเขียน” ยุคดิจิทัล
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เชิญลิ้ม ชิมรส “วรรณศิลป์” เนื่องใน “วันศิลปินแห่งชาติ” วันที่ 24 ก.พ. ของทุกปี โอกาสอันดีนี้ Thai PBS และ Thai PBS Sci & Tech ขอพาไปกะเทาะมุมมอง “ไพฑูรย์ ธัญญา” รศ. ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2559 กับการเป็น “นักเขียน” ในยุคดิจิทัล กลั่นสกัดออกมาเป็น “แนวความคิด” ให้ผู้อ่านได้นำประโยชน์ไปประยุกต์และต่อยอด ผลิดอกออกผลงานบนถนนเส้นทางสาย “คอนเทนต์” ยุคเทคโนโลยีก้าวล้ำ

บทนำ : ขยายความย่อ-ต่อยืด คำนิยาม “นักเขียน”

“นักเขียน” ผู้ประพันธ์งานเขียนต่าง ๆ หรือคำเรียกที่รู้จักมักคุ้นในยุคนี้ อาทิ Content Creator, Creative Content ฯลฯ ก็เปรียบได้ดั่ง “เชฟ” หรือ “คนทำอาหาร” ที่จะเนรมิตรส “วรรณศิลป์” ออกมาอย่างไร เปรี้ยว หวาน มัน เผ็ด เด็ดดวง จะใช้กลยุทธ์ฉุดใจเยี่ยงไร บทสัมภาษณ์นี้จะพาไปลิ้ม..ชิมรสแนวคิด “ไพฑูรย์ ธัญญา” กัน

“ศิลปิน” คืออัตลักษณ์ ที่บ่งบอกความเป็น “อารยะ”

จุดประเด็นเริ่มต้นการพูดคุยด้วยคำถามถึงการมี “วันศิลปินแห่งชาติ” “ไพฑูรย์ ธัญญา” จึงบรรยายความคิดให้เห็นภาพคล้อยตามว่า ในประเทศที่มีอารยธรรม-วัฒนธรรม สิ่งที่จะแสดงถึงความเป็น “อัตลักษณ์” ของชาติของสังคมประเทศนั้น ๆ ก็คือเรื่องของ “ศิลปะ” ซึ่งทุกประเทศให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ขณะที่เมืองไทยก็เป็นประเทศที่มีความเป็นมา มีอารยธรรมเก่าแก่ มั่งคั่งร่ำรวยด้วยศิลปวัฒนธรรมแขนงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านวรรณศิลป์ ศิลปะการแสดง จิตรกรรม ประติมากรรม หรือแม้แต่ศิลปินพื้นบ้าน

จะเห็นได้ว่ารัฐบาลทุกยุคทุกสมัยให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ซึ่งเบื้องหลังของงานศิลปกรรม ไม่ว่าแขนงใดก็ตามจะมีที่มาก็คือ “ศิลปิน” คนทำงานด้านศิลปะตามความถนัดความเชี่ยวชาญของตัวเอง กระทรวงวัฒนธรรมได้เล็งเห็นความสำคัญตรงนี้ จึงเกิดแนวคิดเชิดชูยกย่องคนที่ทำงานด้านศิลปกรรมในทุกแขนง ให้กำลังใจคนที่ทำงานด้านศิลปะ ก่อนกลายเป็น “วันศิลปินแห่งชาติ” อีกหนึ่งตัวชี้วัดที่บ่งบอกว่าประเทศของเรานั้นมีความเป็นอารยประเทศในด้านศิลปะ

ความแตกต่างระหว่าง “ศิลปิน” กับ “ศิลปินแห่งชาติ”

ในเรื่องนี้ “ไพฑูรย์ ธัญญา” ได้อรรถาธิบายว่า จริง ๆ คำว่า “ศิลปิน” เป็นคำที่กว้างโดยเฉพาะในบ้านเรา มีเรียกกันในหลายระดับ แต่คิดว่าทั้งนี้ทั้งนั้นเกิดจากความยกย่อง-การให้เกียรติ ดังนั้นแม้จะเป็นนักเขียน-นักร้อง ซึ่งอาจจะเขียนหรือร้องเพลงมาไม่มาก แต่มีคนชื่นชอบเขาก็จะเรียกว่า “ศิลปิน”

ซึ่งในความหมายของศิลปินแห่งชาติแล้ว ศิลปินแห่งชาติก็ไม่ได้วิเศษวิโสหรือว่ามีอะไรพิสดารกว่าคนอื่น ๆ แต่สิ่งที่ทำให้ได้รับการเชิดชูยกย่องเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” ก็คือเป็นคนที่มีผลงานทางด้านศิลปะในสาขาที่ตัวเองถนัดมาเป็นเวลายาวนาน และสม่ำเสมอต่อเนื่อง

งานได้รับการยอมรับว่าถึงขั้นของความเป็น “ศิลปะ” ซึ่งศิลปะนั้นก็มีองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น มีแนวความคิดในเชิงสร้างสรรค์-จรรโลงใจ กลวิธีหรือชั้นเชิงต่าง ๆ ความสุนทรียภาพทางด้านศิลปะ ที่สำคัญคือมีผลกระทบต่อ “ผู้เสพ”

“ศิลปินแห่งชาติ” จะเห็นได้ว่าทำไมจึงต้องเป็นผู้ที่ค่อนข้างอาวุโส เนื่องจากเป็นผู้ที่ทำงานด้านนั้นมานานตั้งแต่วัยหนุ่มสาวสืบต่อเนื่องมา งานของบางคนก็อาจเป็นเหมือนกับหมุดหมาย เป็น “Milestone” ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านศิลปะวรรณกรรม หรือแม้แต่ในระดับศิลปินพื้นบ้าน เช่น หมอลำ หนังตะลุง มโนราห์ ลิเก ที่ได้ทุ่มเทให้กับการสร้างสรรค์ผลงานด้านการแสดง แล้วเผยแพร่ถ่ายทอดออกมาเพื่อให้ดำรงอยู่ได้ เมื่อมีความจัดเจนและที่สำคัญก็คือ งานนั้นมี “ผลกระทบต่อสังคม” ในด้านใดด้านหนึ่ง จึงนำไปสู่การยกย่องว่าเป็น “ศิลปินแห่งชาติ”

สะท้อนมุมมอง “นักเขียนยุคเก่า” บอกเล่า “นักเขียนยุคใหม่” นำประโยชน์ไปปรับใช้

เริ่มต้นในการพูดคุยประเด็นนี้ “ไพฑูรย์ ธัญญา” ได้เล่าว่า ก่อนอื่นอยากจะทำความเข้าใจก่อนว่า “วรรณกรรม” หรืองานเขียนนั้นไม่ได้สร้างขึ้นในสุญญากาศ แต่ถูกสร้างขึ้นในสังคม ยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ หรือบริบทของสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง ดังนั้นเมื่อยุคสมัยเปลี่ยน “วรรณกรรม” ก็จะเปลี่ยนตาม ซึ่งจะเปลี่ยนในด้านใดบ้างก็เช่น สไตล์การเขียน รูปแบบ แพลตฟอร์ม การใช้ภาษา ในสมัยก่อนนิยมเขียนบทร้อยกรองยาว ๆ อาทิ “สุนทรภู่” จะเล่าเรื่องยาว ๆ แต่ปัจจุบันคนอาจไม่ค่อยอ่านเรื่องยาวแบบนั้นแล้ว หันไปอ่านนิยายซึ่งเป็นร้อยแก้วหรือเป็นบทกวีสั้น ๆ มากกว่า

นอกจากนี้การเสนอแนวคิดงานเขียน หรือที่เรียก “คอนเทนต์” ในปัจจุบัน ก็เปลี่ยนไปจากยุคก่อน แม้แต่เรื่องภาษาอย่างเช่น สมัยก่อนจะมีศัพท์แสงทางวรรณคดี แต่ปัจจุบัน “วรรณกรรม” ใกล้ชิดกับชีวิตของผู้คนในสังคมมากขึ้น คนทำคอนเทนต์ได้รับประสบการณ์จากตรงนี้โดยตรง ดังนั้น ภาษาในยุคนี้จึงเป็นภาษายุคของโซเชียลมีเดียหรือยุคดิจิทัล จะเห็นได้ว่าไปอ่านวรรณกรรมรุ่นใหม่ ๆ ของนักเขียนหนุ่มสาว บางทีจะเห็นกลิ่นอายของถ้อยคำที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ

วรรณกรรมเปลี่ยนไปตามพลวัต ตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วรรณกรรมบางยุคอาจให้ความสำคัญกับเนื้อหาทางการเมือง เช่นในยุคสมัย 14 ตุลาคม 2516 เนื่องจากผู้คนกำลังตื่นตัวในเรื่องแนวคิดแบบเสรีนิยม-ประชาธิปไตย วรรณกรรมก็จะคึกคักแล้วปลุกเร้าให้คนเกิดสำนึกอะไรเหล่านี้

“นักเขียนยุคเก่า” กับการปรับตัว-สไตล์เข้ากับ “ยุคดิจิทัล”

ด้วยความที่ “สไตล์” คือท่วงทำนองหรือลีลาของนักเขียนแต่ละคน ซึ่งมีสไตล์แตกต่างกัน เปรียบให้เห็นภาพก็ดังเช่น เรามีสไตล์ในการแต่งตัว รูปแบบ-ท่วงทำนองที่ทำอยู่เป็นประจำ พอผู้เสพเห็นก็จะรู้ว่าเป็นของเรา ยกตัวอย่าง เช่น นักเขียนคนหนึ่งที่ผู้คนมักจะจดจำเรื่องสไตล์การเขียนได้ดี อย่างเช่น “รงค์ วงษ์สวรรค์” เพราะว่าท่านมีสไตล์ในการใช้ภาษาที่ไม่เป็นไปตามไวยากรณ์ ไม่เป็นไปตามที่คนทั่วไปใช้กัน แต่ถามว่าอ่านรู้เรื่องไหม “อ่านรู้เรื่อง” แต่อาจจะรู้สึกแปลก ซึ่งบางทีก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง เมื่อเราอ่านไปหลาย ๆ เรื่อง หรือเจอคอนเทนต์แนวนี้แบบไม่เห็นชื่อคนแต่ง ก็จะรู้เลยว่าคนเขียนคือ “รงค์ วงษ์สวรรค์”

แต่เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน คนทำงานศิลปะจะต้องรู้จักปรับตัว มีการศึกษาอย่างเช่น “รสนิยมการอ่าน” ในยุคดิจิทัลเป็นอย่างไร จะเห็นว่ามีวรรณกรรมรุ่นใหม่ ประเภทใหม่ ๆ เกิดขึ้น อย่างเช่น นิยายวาย แต่ครั้นจะให้ “นักเขียนยุคเก่า” ปรับมาเขียนนิยายวายบ้าง ก็คงอาจไม่ถึงขั้นนั้น เพราะว่าประสบการณ์แต่ละคนแต่ละยุคสมัยที่สั่งสมมาไม่เหมือนกัน

ดังนั้น “นักเขียนยุคเก่า” อย่างเช่น “ไพฑูรย์ ธัญญา” เอง ก็จะเขียนในแนวทางที่ถนัด-จากประสบการณ์ที่มี แล้วเฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคม จากนั้นตั้งประเด็น แล้ว “ก่อกอง Sci*” ก่อร่างสร้างแรงบันดาลใจแล้วทำ (เขียน) ในสิ่งที่ถนัดซึ่งน่าจะดีกว่า แต่ต้องรู้จักปรับสไตล์ให้เข้ากับรสนิยมคนยุคปัจจุบัน เช่น ไม่ชอบอ่านอะไรยาว ๆ การใช้คำต่าง ๆ ดูเทรนด์กำลังเป็นที่นิยมในขณะนั้น แล้วหยิบฉวยสิ่งที่เรียกว่า “เทคโนโลยี” สมัยใหม่ มาใช้ประโยชน์ อย่างเช่นอยากได้ข้อมูลเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพื่อนำมาเขียน ก็อาจไม่ต้องเดินทางไปลงพื้นที่จริงก็ได้ในบางครั้ง เพียงแค่ใช้ Google Search ก็ออกมาเป็นข้อมูลให้พอที่จะประติดประต่อได้ หรือการใช้พจนานุกรมออนไลน์เพื่อตรวจสอบคำที่ถูกต้องก็ดี ไปจนถึงการใช้โปรแกรม InDesign, Word Processor สิ่งเหล่านี้สามารถช่วย “นักเขียน” ได้เยอะมาก

ขณะที่ช่องทางการเผยแพร่ “คอนเทนต์” ก็เปลี่ยนไป เมื่อก่อนต้องเล่าผ่านกระดาษ ปัจจุบันเขียนเสร็จสามารถโพสต์ Facebook ผู้คนก็เข้ามาเสพได้เลย “นักเขียนรุ่นเก่า” ไม่ควรปฏิเสธหรือกลัวเทคโนโลยี เพราะว่ามีแต่จะช่วยให้ทำงานง่าย-สะดวกขึ้น ที่สำคัญไม่สูญเสีย “อัตลักษณ์” ในงานเขียนของตัวเอง เพียงแต่ต้องยืนหยัดในแนวทางว่าจะเขียนเรื่องอะไร จะเล่าเรื่องอย่างไร

“นักเขียน” กับการใช้ประโยชน์จาก AI

เรื่องนี้ “ไพฑูรย์ ธัญญา” เอ่ยว่าเป็นคำถามที่ดี เหมาะกับสถานการณ์ “นักเขียน” และ “เทคโนโลยี” ยุคปัจจุบัน ก่อนยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ตนเองเพิ่งประสบมาในตอนนั้น ที่ค่าย Story Hub Thailand ณ โรงละครมรดกใหม่ ซึ่งเปิดโอกาสให้คนที่สนใจใน “การเขียน” ไม่จำกัดเพศวัย เข้ามาศึกษาหาประสบการณ์ตรง เช่น การเขียนเรื่องสั้น บทกวี สารคดี รวมถึงบทละคร เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์-ต่อยอด ปรับแต่ง “งาน” ให้ออกมาแล้วเป็นที่นิยม มีที่ยืนในถนนสาย “วรรณกรรมยุคดิจิทัล” ซึ่งการจะทำให้ขายได้นั้นอาจต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มดิจิทัล

“ไพฑูรย์ ธัญญา” เล่าต่อว่า ตนเองเป็นวิทยากรประจำกลุ่มเรื่องสั้น จากนั้นมีการข้ามศาสตร์ว่า “เรื่องสั้น” ที่เขียนนั้นจะนำไปทำอะไรต่อยอดได้บ้าง สู่ไอเดียการทำ “หนังสั้น” แล้วเชิญทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านการทำหนังสั้นจาก HBO มาให้ความรู้ในการทำ Video Art ซึ่งใช้ AI ผลิต เปลี่ยนเรื่องสั้นให้กลายเป็น Video Art สั้น ๆ 3 นาที นำเสนอผ่านเทคโนโลยีของ AI กลายเป็นลูกเล่นใหม่ที่ให้เราได้ฝึกและเรียนรู้ นำไปต่อยอดจากประสบการณ์การเขียนที่มี ซึ่ง “ไพฑูรย์ ธัญญา” หล่นความเห็นว่าเป็นอะไรที่ใหม่สำหรับเขาซึ่งสุดยอดมาก

จาก “ประโยชน์” สู่ “ข้อควรระวัง” ในการใช้ AI

ทุกวันนี้ AI เป็นเหมือนดาบ 2 คม “ไพฑูรย์ ธัญญา” เอื้อนเอ่ยหลังจากได้ยินคำถาม ก่อนอธิบายเพิ่มเติมอย่างน่าสนใจว่า ดาบ 2 คมมีทั้งคุณและโทษ อย่างเช่น อยากเขียนบทกวี ก็พิมพ์บอก AI ไป จากนั้นก็จะประมวลผลมาให้เราเสร็จสรรพ สามารถทำแทนคนได้ในระดับที่สูงมากในปัจจุบัน น้อง ๆ “จินตนาการ” เลยทีเดียว จึงไม่แปลกที่หลายคนหันมาใช้ประโยชน์ ให้ AI เขียนหนังสือ ซึ่งตรงนี้เกิดเป็นปัญหากับเวทีประกวดวรรณกรรม บรรณาธิการสำนักพิมพ์ และอื่น ๆ ว่าคนที่ส่งผลงานมาเขียงเองหรือให้ AI เขียน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น “ไพฑูรย์ ธัญญา” ยังมีความเชื่อลึก ๆ ว่า AI สามารถทำได้ดีมากในระดับหนึ่ง แต่เอาเข้าจริงในเรื่องของ “จินตนาการ-ความคิดสร้างสรรค์” เป็นศักยภาพของมนุษย์ที่มีความซับซ้อน เกี่ยวข้องกับภูมิหลัง-ชีวิตของแต่ละคน อันเป็นเหตุผลให้ AI เลียนแบบได้ยาก อาจจะทำได้ในระดับหนึ่งแต่เป็นความคิดที่เป็นเชิงนามธรรมมาก ๆ เพราะในเรื่องของสิ่งที่เราเรียกว่า คุณธรรม จริยธรรม จิตใต้สำนึก มีความลึกซึ้งเป็นพลังอย่างหนึ่งของงานเขียน การทำงานศิลปะ ด้วยเหตุนี้ “ไพฑูรย์ ธัญญา” จึงย้ำหนักแน่นว่า ณ ขณะนี้ ยังมีหลายส่วนที่ AI ไม่สามารถแย่งศักยภาพของมนุษย์ได้เพราะยังไงมนุษย์ก็เป็นผู้ออกแบบ

ส่วนการใช้ AI เขียนงานให้ อยากให้คุณในฐานะ “ศิลปิน” คิดในมุมนี้ว่า หากคุณเป็นนักเขียน นักประพันธ์ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ผู้ผลิตคอนเทนต์ต่าง ๆ “ความภาคภูมิใจ” ในงานเขียนอยู่ตรงไหน ซึ่งก็คือตรงที่เราสร้างสรรค์ผลงานออกมาเป็น Original ในแบบฉบับของเราเองใช่หรือไม่ ? ถึงแม้จะมีบางคนอาจบอกว่า “นักเขียน” ก็เพียงแค่ไปเก็บรวบรวมข้อมูลที่มีอยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้ AI ก็ทำแบบเดียวกันก็ตาม

แต่สิ่งหนึ่งที่ควรตระหนักคือ เมื่อสังคมยังมีมาตรฐานอย่างเช่นเรื่อง จริยธรรม จรรยาบรรณ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเราควรจะรักษาเอาไว้ นอกจากนี้ อยากจะให้คิดตามว่า AI จะคิดแทนเราได้ไหม ในวัฒนธรรม-ค่านิยมของเราที่มีมาตั้งแต่โบราณ เรื่องที่ซับซ้อนซึ่งถูกถ่ายทอดส่งต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

AI อาจเขียนงานได้และอาจจะดูเท่มากด้วย แต่ “ไพฑูรย์ ธัญญา” มองว่า ในการให้คุณค่าหรือท่วงทำนองแบบไทย ๆ ในงานเขียน เราจะไม่เห็นรากเหง้า-กลิ่นอายของวัฒนธรรมไทย รวมถึงร่องรอยสีสันของท้องถิ่นในงานเขียนของ AI นี่เป็นความแตกต่างของ “คน” กับ “AI”

อนาคต..เส้นทางของ “นักเขียน” จะเป็นอย่างไร ในยุคดิจิทัล

ห้วงท้ายไคลแมกซ์การสัมภาษณ์ “ไพฑูรย์ ธัญญา” เปลือยใจในประเด็นนี้ว่า ในอนาคตคนทำคอนเทนต์-นักเขียน จะไม่มีวันหมดสิ้น ยืนยันได้จากประสบการณ์ตรงของตนเองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากขณะนี้ยังมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ-เอกชนจำนวนไม่น้อย มีการจัดอบรมด้านนี้ทั้งรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ รวมถึงการประกวดวรรณกรรมด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีคนรุ่นใหม่เข้าร่วม-ให้ความสนใจเยอะ

แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้วงการ “วรรณกรรม” เติบโตอย่างแข็งแกร่งและมั่นคง ก็คือการสนับสนุนในการสร้าง “ระบบนิเวศ” วงการวรรณกรรมอย่างจริงจัง เช่น อาจจะมีการตั้งสถาบันหนังสือแห่งชาติขึ้นมา มีการส่งเสริมการแปลวรรณกรรมไทยเป็นภาษาอังกฤษอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อขยายไปสู่ต่างประเทศให้เป็นที่รู้จัก สู่การเป็นวงวรรณกรรมระดับสากล โดยที่รัฐบาลต้องให้การสนับสนุน-วางรากฐานเป็นระบบอย่างจริงจัง ตนเองอยากเรียกร้องตรงนี้ อยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน ผลักดัน “วรรณกรรมไทย” ไปสู่ “วรรณกรรมสากล” ซึ่งจะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับวงการนักเขียน-คนทำคอนเทนต์บ้านเรา กลายเป็นอีกหนึ่ง Soft Power ของไทยที่สำคัญมากในอนาคต

“ไพฑูรย์ ธัญญา” รางวัลที่ได้รับ :
• ซีไรต์ ปี 2530 เรื่องสั้น “ก่อกองทราย”

*หมายเหตุ : “ก่อกอง Sci” คำพ้องเสียง “ก่อกองทราย” ชื่อรายการออนไลน์ใหม่ของ Thai PBS Sci & Tech ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้

อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วันศิลปินแห่งชาติศิลปินแห่งชาติศิลปินไพฑูรย์ ธัญญานักเขียนยุคดิจิทัลวรรณศิลป์วรรณกรรมThai PBSThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Thai PBS On This Dayวันสำคัญ
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

(เซบา บาสตี้ : 0854129703) : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด