Thai PBS On This Day | มีนาคม 2567


วันสำคัญ

28 ก.พ. 67

วิรินทร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร | จูล~Joule

Logo Thai PBS
แชร์

Thai PBS On This Day | มีนาคม 2567

https://www.thaipbs.or.th/now/content/843

Thai PBS On This Day | มีนาคม 2567
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เพราะทุกเรื่องราวมีความหมาย เราจึงรวบรวมทุกวันสำคัญ วันนี้ในอดีต เทศกาลและเหตุการณ์ที่น่าจดจำทั่วทุกมุมโลกมาให้คุณได้รู้ ผ่านการเล่าอดีต บันทึกปัจจุบัน รอบรู้ทุกวัน กับ Thai PBS On This Day ประจำเดือนมีนาคม 2567

1 มีนาคม : วันรณรงค์สากลเพื่อยุติการเลือกปฏิบัติ (Zero Discrimination Day)

โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ได้กำหนดให้วันที่ 1 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันรณรงค์สากลเพื่อยุติการเลือกปฏิบัติ (Zero Discrimination Day)” เพื่อแก้ไขปัญหาของผู้ป่วยโรคเอดส์ ที่เคยได้รับประสบการณ์การถูกสังคมรังเกียจ ทั้งจากสถานศึกษาหรือสถานที่ทำงาน รวมถึงเพื่อสร้างสังคมที่ไม่มีการตีตราและการเลือกปฏิบัติ เป็นสังคมที่ทุกคนได้รับการปฏิบัติ โดยเคารพในสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน

1 มีนาคม : วันบาริสตา (Barista Day)

“วันบาริสตา (Barista Day)” ตรงกับวันที่ 1 มีนาคม ของทุกปี เกิดขึ้นจากไอเดียของบริษัทผู้ผลิตนมอัลมอนด์รายหนึ่ง ที่อยากจะแสดงความขอบคุณเหล่าบาริสตาผู้ทำงานอย่างหนัก เพื่อรังสรรค์กาแฟแก้วโปรดให้พวกเราหอมกรุ่นและครุ่นคิดงานออกมาได้ในแต่ละวัน

คำว่า “บาริสตา (Barista)” น่าจะเป็นที่รู้จักครั้งแรกในประเทศอิตาลี ราว ๆ ปี 2481 โดยมีความหมายรวมไปถึงบาร์เทนเดอร์ที่ชงเครื่องดื่มต่าง ๆ ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และกาแฟ แต่เมื่อคำนี้เข้ามาในสหรัฐอเมริกา ความหมายจึงแคบลง โดยเป็นคำเรียกเฉพาะเจาะจงถึงคนที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องกาแฟ

2 มีนาคม 2512 : เครื่องบิน “คองคอร์ด” เครื่องบินที่เร็วที่สุดในโลก เริ่มทดลองบินวันแรก

“คองคอร์ด (Concorde)” เครื่องบินที่เร็วที่สุดในโลก เริ่มทดลองบินครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2512 ต่อมาเปิดทำการบินเชิงพาณิชย์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2519 โดยสายการบินบริติชแอร์เวย์ บินจากลอนดอนถึงบาห์เรน และสายการบินฝรั่งเศส บินจากปารีสถึงกรุงริโอ “คองคอร์ด (Concorde)” ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และยุติการให้บริการไปเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2546 เนื่องจากมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการดูแล

“คองคอร์ด (Concorde)” คือตำนานเครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียงรุ่นแรกของโลก นับเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทจากอังกฤษ บีเอซี (British Aircraft Corporation) และบริษัท อาเอร็อสปาซียาล (Aérospatiale) หรือ บริษัทแอร์บัส (Airbus) โดยสามารถทำความเร็วสูงสุด 2,180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพดานบินสูงสุด 60,000 ฟุต

3 มีนาคม : วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก (World Wildlife Day)

“วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก (World Wildlife Day)” มีจุดเริ่มต้นเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2516 ซึ่งเป็นวันที่ได้มีการก่อตั้งภาคีอนุสัญญาไซเตส เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักให้กับกลุ่มประเทศภาคีอนุสัญญาไซเตส ทั้ง 178 ประเทศ ในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อประโยชน์แห่งมวลมนุษยชาติ

3 มีนาคม 2390 : วันเกิด “อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์” ผู้ประดิษฐ์โทรศัพท์

“อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ (Alexander Graham Bell)” ผู้คิดค้นและประดิษฐ์โทรศัพท์เครื่องแรกของโลก เกิดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2390 ที่เมืองเอดินเบิร์ก (เอดินเบอระ - Edinburgh) สกอตแลนด์ (Scotland) เขายังเป็นคนแรกที่ค้นคว้าเกี่ยวกับการหาตำแหน่งภูเขาน้ำแข็งด้วยเสียงสะท้อน ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นเครื่องโซนาร์ นอกจากนี้เขายังประดิษฐ์สน็อกเกิ้ล หรือท่อสำหรับหายใจใต้น้ำอีกด้วย

“อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ (Alexander Graham Bell)” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2465 บนที่ดินของเขา “Beinn Bhreagh” ในเขต Victoria County รัฐโนวาสโกเชีย ประเทศแคนาดา

4 มีนาคม : วันปะการัง (Coral Day)

“วันปะการัง (Coral Day)” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2539 ที่เมืองโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของ “ปะการัง” ซึ่งมีส่วนช่วยให้ระบบนิเวศทางทะเลมีความสมดุลต่อสิ่งแวดล้อมใต้ทะเลมากยิ่งขึ้น ต่อมาในปี 2543 ได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยป้องกันแนวปะการัง” ที่เกาะชิระโฮะ เมืองอิชิงากิ จังหวัดโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น โดยใน “วันปะการัง (Coral Day)” นี้ ประเทศญี่ปุ่นจะมีการจัดกิจกรรมการอนุรักษ์ทางทะเลด้วย

เมืองโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น เป็นเมืองที่รู้จักกันในฐานะ “ทะเลที่มีปะการังมากที่สุดของโลก” โดยระหว่าง “เกาะอิชิงากิ” จนถึง “เกาะอิริโอโมเตะ” จะพบกับ “แนวปะการังเซคิเซโชโกะ (石西礁湖)” นับเป็นแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และยังเป็นกลุ่มปะการังสีฟ้าที่มีคุณค่าติดอันดับโลก จากการสำรวจพบว่า ปะการังประมาณ 200 ชนิดจากทั้งหมด 800 ชนิดบนโลก ได้รับการยืนยันว่ามีอยู่ที่เมืองโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น

4 มีนาคม : วันอ้วนโลก (World Obesity Day)

เนื่องจากสถิติโลกชี้ว่า ผู้คนมีแนวโน้มอ้วนมากขึ้นทุกปี สหพันธ์โรคอ้วนโลก (World Obesity Federation) ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) จึงได้กำหนดให้วันที่ 4 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันอ้วนโลก (World Obesity Day)” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้านปัญหา สาเหตุการเกิดโรค และวิธีการรักษาที่ถูกต้อง รวมทั้งให้ผู้คนได้ตระหนักว่า “ความอ้วน” เป็น “โรค” และมุ่งหวังที่จะ “หยุดวิกฤตโรคอ้วน (Obesity Crisis)” ที่มีผู้ป่วยอยู่ทั่วทุกมุมโลก ให้ได้ภายในปี 2568

4 มีนาคม 2332 : สหรัฐอเมริกา ประกาศใช้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2332 สหรัฐอเมริกาได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ โดย 2 ใน 3 ของมลรัฐทั้งหมด ได้ให้สัตยาบันรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งได้แนวคิดในการแบ่งแยกอำนาจการปกครองมาจากหนังสือเจตนารมณ์แห่งกฏหมาย (The Spirit of Laws) ของมองเตสกิเออร์ รัฐธรรมนูญจึงมีการแบ่งอำนาจการปกครองเป็นสามฝ่าย คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ มีลักษณะเป็นระบบคานอำนาจ (Checks And Balances) นับเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

5 มีนาคม : วันนักข่าว

วันที่ 5 มีนาคมของทุกปี ได้รับการยกย่องให้เป็น “วันนักข่าว” หรือ “วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ” ก่อตั้งขึ้นโดย “สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย” เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2498 โดย “นายโชติ มณีน้อย” นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยในขณะนั้น ได้ริเริ่มวันสำคัญนี้ร่วมกับกลุ่มนักข่าวรุ่นบุกเบิกและเหล่าบรรณาธิการหนังสือพิมพ์กว่า 16 ฉบับในเวลานั้น

เจตนารมณ์สำคัญของ “วันนักข่าว” คือการตระหนักถึงความสำคัญของข่าวสาร ทั้งในแง่มุมของคนทำงาน หรือในแง่มุมของผู้เสพข่าวสาร โดยในปัจจุบัน “วันนักข่าว” มีการมอบรางวัลให้กับสื่อสารมวลชน อาทิ รางวัลนักข่าวดีเด่น รางวัลภาพข่าวดีเด่น โดยมุ่งหวังเพื่อเป็นกำลังใจ สร้างแรงบันดาลใจกับคนทำงาน เพื่อให้สร้างสรรค์ผลงานและเป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนาสังคมต่อไป

6 มีนาคม 2480 : วันเกิด “วาเลนตินา วลาดิมิโรฟนา เทเรสโควา” นักบินอวกาศหญิงคนแรกของโลกที่ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ

“วาเลนตินา วลาดิมิโรฟนา เทเรสโควา (Valentina Vladimirovna Tereshkova)” นักบินอวกาศหญิงชาวรัสเซีย เกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2480 เธอเป็นนักบินอวกาศหญิงคนแรกของโลกที่ได้ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ เธอโดยสารไปกับยานอวกาศ “วอสตอก หก (Vostok VI)” เมื่อวันที่ 16 - 19 มิถุนายน 2506 โดยขณะนั้นเธอมีอายุเพียง 26 ปี

8 มีนาคม : วันสตรีสากล (International Women's Day)

ความเป็นมาของ “วันสตรีสากล (International Women's Day)” เกิดขึ้นจากกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้พากันลุกฮือประท้วงให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ จากนั้นก็เกิดเหตุการณ์คล้ายกันในปี 2450 กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา ไม่สามารถอดทนต่อการเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ ทารุณ ของนายจ้างที่ใช้งานพวกเธอเยี่ยงทาสได้

ในที่สุด “คลาร่า เซทคิน (CLARE ZETKIN)” นักการเมืองสตรีสายแนวคิดสังคมนิยม ชาวเยอรมัน ก็ตัดสินใจปลุกระดมเหล่ากรรมกรสตรี ด้วยการนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม 2450 ปีต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม 2451 มีแรงงานหญิงกว่า 15,000 คน ร่วมเดินขบวนทั่วเมืองนิวยอร์ก เรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก โดยมีคำขวัญการรณรงค์ว่า “ขนมปังกับดอกกุหลาบ” ซึ่งหมายถึงการได้รับอาหารที่พอเพียง พร้อม ๆ กับคุณภาพชีวิตที่ดี

จนกระทั่งในวันที่ 8 มีนาคม 2453) ความพยายามของกรรมกรสตรีกลุ่มนี้ก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อมีตัวแทนสตรีจาก 17 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยในที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี ในระบบสาม 8

  • ลดเวลาทำงานเหลือวันละ 8 ชั่วโมง
  • ให้เวลาศึกษาหาความรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพ 8 ชั่วโมง
  • เวลาพักผ่อน 8 ชั่วโมง

และรับรองข้อเสนอของ “คลาร่า เซทคิน (CLARE ZETKIN)” ด้วยการกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันสตรีสากล (International Women's Day)”

สำหรับ “คลาร่า เซทคิน (CLARE ZETKIN)” เธอคือนักการเมืองสตรีแนวคิดสังคมนิยม หรือ มาร์กซิสต์ เธอเป็นชาวเยอรมันที่ต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิและความเสมอภาคของสตรีมาตลอดชีวิต จนได้รับการขนานนามจากกลุ่มองค์กรสตรีนานาชาติว่าเป็น “มารดาแห่งการเคลื่อนไหวสตรีสากล”

  • ในปี 2457 เธอได้ร่วมกับ “โรซา ลักเซมเบอร์ก (Rosa Luxemberg)” นักคิดสายแนวคิดสังคมนิยม รณรงค์ต่อต้านสงครามโลกครั้งที่ 1 ในนามของ “กลุ่มสปาร์ตาซิสต์”
  • ในปี 2461 เธอได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมนี และได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนี หรือสภาไรซ์สตัก
  • ในปี 2463 - 2475 เธอเข้าเป็นแกนนำต่อต้าน “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์” แห่งพรรคนาซี และต่อต้านการใช้อำนาจเผด็จการ

 

9 มีนาคม 2459 : วันเกิด “อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์” อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

“อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์” เกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2459 ท่านเคยดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนที่ 10 เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวไทย ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีอายุน้อยที่สุด ด้วยวัย 43 ปี 3 เดือน และได้ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดถึง 12 ปี 2 เดือน 4 วัน เป็นสมาชิกเสรีไทย (ขบวนการต่อต้านการรุกรานไทยของกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) โดยใช้ชื่อรหัสว่า “นายเข้ม เย็นยิ่ง” ท่านได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ในปี 2508 และได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในปี 2558 อีกด้วย

“อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์” เป็นผู้ลี้ภัยในต่างแดน ภายหลังเหตุการณ์ทางการเมือง 6 ตุลาคม 2519 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2542 ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ขณะอายุได้ 83 ปี

10 มีนาคม 2529 : “ดาวหางฮัลเลย์” ปรากฏบนฟากฟ้าเมืองไทยอีกครั้ง หลังครั้งล่าสุดในสมัยรัชกาลที่ 5

ทุก 75 ปี “ดาวหางฮัลเลย์ (Halley's Comet)” จะปรากฏตัวให้เห็นบนท้องฟ้า นี่คือดาวหางที่มีความสว่างมาก สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ถือเป็นดาวที่มีการบันทึกข้อมูลไว้มากที่สุดและยาวนานที่สุด ตั้งแต่ปี 303

ในปี 2248 “เอ็ดมันด์ ฮัลเลย์ (Edmond Halley)” นักดาราศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ นักวิชาการฝนดาวตก และนายแพทย์ชาวอังกฤษ ได้คำนวณว่า จะมีดาวหางดวงเดียวกันปรากฏบนท้องฟ้า ไล่เลียงไปตั้งแต่ปี 2074 , ปี 2150 และในปี 2225

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2529 “ดาวหางฮัลเลย์ (Halley's Comet)” ได้ปรากฏบนฟากฟ้าเมืองไทยอีกครั้ง หลังจากครั้งล่าสุดในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยครั้งต่อไป “ดาวหางฮัลเลย์ (Halley's Comet)” จะกลับมาในปี 2604

11 มีนาคม 2498 : “เซอร์ อเล็กซานเดอร์ เฟลมิง” ผู้คิดค้นยาปฏิชีวนะเพนิซิลิน เสียชีวิต

“เซอร์ อเล็กซานเดอร์ เฟลมิง (Alexander Fleming)” แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักชีววิทยา นักเภสัชวิทยา และนักพฤกษศาสตร์ชาวสกอตแลนด์ เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2424 ในดาร์เวล สหราชอาณาจักร ผลงานที่มีชื่อเสียงของเขาคือ การค้นพบเชื้อราเพนิซิลเลียม (Penicillium sp.) ซึ่งนำไปสู่การค้นพบยาปฏิชีวนะเพนิซิลิน (Penicillin) ยาปฏิชีวนะตัวแรกของโลกที่สามารถช่วยชีวิตคนนับล้าน ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบล สาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ ในปี 2488

“เซอร์ อเล็กซานเดอร์ เฟลมิง (Alexander Fleming)” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2498 ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ขณะมีอายุได้ 73 ปี

12 มีนาคม 2473 : “มหาตมะ คานธี” นำขบวนชาวอินเดียเดินทางไกล “ซอลท์ มาร์ช”

“มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi)” มหาบุรุษนักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและเอกราชของอินเดีย ชื่อเต็มคือ “โมฮันทาส การามจันทร์ คานธี (Mohandas Karamchand Gandhi)” เกิดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2412 ที่จังหวัดโพรบันดาร์ (Porbandar) รัฐคุชราต ทางตะวันตกของอินเดีย ในวรรณะแพศย์ (พ่อค้า)

เขาแต่งงานตั้งแต่อายุ 13 ปี เรียนนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน (University College London) ประเทศอังกฤษ (ประเทศเจ้าอาณานิคมของอินเดียสมัยนั้น) เพื่อโอกาสก้าวหน้าทางการงานในอนาคต ตอนอายุ 18 ปี ก่อนจะเดินทางไปรับตำแหน่งที่ปรึกษาทางกฎหมายที่ประเทศแอฟริกาใต้ ประเทศอาณานิคมของอังกฤษ

เขากลับอินเดียในปี 2458 ขณะนั้นชาวอินเดียสิ้นหวังที่จะเป็นอิสระจากอังกฤษ แต่คานธีพยายามปลุกระดมชาวอินเดียให้ลุกขึ้นเรียกร้องเอกราช เมื่อเกิดการสังหารหมู่ชาวอินเดียที่อำมริสาในปี 2462 ชาวอินเดียรู้สึกโกรธแค้นมาก อยากจะแก้แค้นคืน แต่เขาได้กล่าวปราศรัยให้ประชาชนเปลี่ยนความโกรธเป็นการให้อภัย จนกลายเป็นหลัก “อหิงสา” หรือ “สัตยาเคราะห์ (Satyagraha)”

จากนั้นเขาก็หาวิธีต่อต้านอังกฤษ โดยการปฏิเสธกฎหมายอังกฤษที่ไม่เป็นธรรม เช่น กฎหมายผูกขาดเกลือ ซึ่งคานธีนำชาวอินเดียนับแสนเดินทางไกลไปผลิตเกลือที่เรียกว่า “ซอลท์ มาร์ช (Salt March)” โดยเริ่มเดินทางไกลในวันที่ 12 มีนาคม 2473 เป็นเวลา 24 วัน ระยะทาง 241 ไมล์ และชวนให้ชาวอินเดียนำเสื้อผ้าของอังกฤษมาเผาไฟ แล้วหันไปสวมเสื้อผ้าพื้นเมือง เขาทำเป็นตัวอย่างโดยการปั่นด้ายเองและนุ่งผ้าฝ้ายพื้นเมืองเนื้อหยาบ สวดมนต์และปฏิบัติธรรมเป็นกิจวัตร

“มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi)” ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2491 ขณะอายุได้ 78 ปี

13 มีนาคม : วันช้างไทย

“ช้าง” เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยมาแต่โบราณกาล ถือเป็นสัตว์มงคลที่มีความสำคัญในหลายด้าน อาทิ เป็นสัตว์คู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์ไทย โดยมีความเชื่อว่า “ช้างเผือก” เป็นสัตว์คู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์

“ช้าง” ยังถูกยกย่องว่าเป็นผู้ปกป้องเอกราชแห่งชาติไทย ดังจะเห็นได้จาก “ช้างทรง” ในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่เคยได้รับบรรดาศักดิ์เมื่อครั้งขึ้นระวาง เป็น “เจ้าพระยาไชยานุภาพ (พลายภูเขาทอง)” ซึ่งได้รับเกียรติอันสูงสุด โดยได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “เจ้าพระยาปราบหงสาวดี” เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2135 ในครั้งที่ชนะศึกยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา

นอกจากนี้ “ช้าง” ยังมีหน้าที่สร้างสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ ตัวอย่างเช่น ในสมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสสิงคโปร์ และเบตาเวีย (จาการ์ตา) ประเทศอินโดนีเซีย ได้พระราชทาน “ช้างสำริด” ให้แก่ทั้งสองประเทศนี้ด้วย

13 มีนาคม 2324 : “เซอร์ วิลเลียม เฮอร์สเชล” นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ ค้นพบดาวยูเรนัส

“เซอร์ วิลเลียม เฮอร์เชล (Sir William Herschel)” นักดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน-อังกฤษ เกิดเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2281 ที่เมืองฮันโนเฟอร์ ประเทศเยอรมนี เขาเป็นหนึ่งในนักดาราศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล จากผลงานการค้นพบดาวยูเรนัส (Uranus) และดวงจันทร์บริวาร (Titania and Oberon)  ในวันที่ 13 มีนาคม 2324 ซึ่งการค้นพบนี้นับเป็นการค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่ครั้งแรก นับตั้งแต่ยุคโบราณ ทั้งนี้คำว่า “ยูเรนัส (Uranus)” เป็นชื่อที่มาจากเทพกรีก เทพแห่งสรวงสวรรค์ บุตรของไกอา

เขายังได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นผู้ก่อตั้งศาสตร์ด้านเวลาดาราคติ (Sidereal Astronomy) และยังเป็นผู้กำหนดทฤษฎีวิวัฒนาการของดาวฤกษ์ (Theory of Stellar Evolution) สำหรับการสังเกตการณ์เทหวัตถุบนท้องฟ้า

“เซอร์ วิลเลียม เฮอร์เชล (Sir William Herschel)” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2365 ที่เมืองสลาวห์ สหราชอาณาจักร

14 มีนาคม : วันคณิตศาสตร์โลก (World Math Day) หรือ วันพาย (Pi Day)

3.14 หรือ π = 3.14 คือค่าพายสากล ซึ่งเป็นที่มาของวันนี้ ที่ใช้เดือน 3 วันที่ 14 เพื่อเป็น “วันคณิตศาสตร์โลก (World Math Day) หรือ วันพาย (Pi Day)”

นอกจากนี้ ยังลงตัวกับอีก 2 เหตุการณ์สำคัญ คือ วันที่ 14 มีนาคม 2422 วันเกิดของ “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)” นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะ เจ้าของทฤษฎีสัมพัทธภาพและสูตรสมการก้องโลก E=mc2 รวมถึงวันที่ 14 มีนาคม 2550 ที่มีการจัดการแข่งขันคณิตศาสตร์สุดยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นการจัดขึ้นครั้งแรก ผ่านเครื่องมือที่มีชื่อว่า Mathletics ของบริษัท 3P Learning ที่มีนักเรียนทั่วโลกเข้าร่วมแข่งขันมากกว่า 4 ล้านคน

14 มีนาคม : วันไวท์เดย์ (ญี่ปุ่น) (White Day)

“วันไวท์เดย์ (ญี่ปุ่น) (White Day)” เริ่มต้นขึ้นจากบริษัทขนมในประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2521 ที่ต้องการทำการตลาด โดยให้ “มาร์ชเมลโล่ (Marshmallow)” เป็นสื่อรักของหนุ่มสาว แต่ภายหลังเปลี่ยนมาเป็น “ไวท์ช็อกโกแลต (White Chocolate)” ให้เป็นตัวแทนความรักอันบริสุทธิ์ โดยมีวัฒนธรรมคือ เมื่อได้รับของขวัญจากวันวาเลนไลน์ครบ 1 เดือน ในวันที่ 14 มีนาคม จะเป็นวันที่หนุ่มสาวจะมอบความรักตอบแทนกลับไปยังเจ้าของของขวัญวันวาเลนไทน์ เพื่อบอกความในใจของกันและกัน

14 มีนาคม 2567 : วันไตโลก (World Kidney Day)

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ได้กำหนดให้วันพฤหัสบดีสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคม ของทุกปีเป็น “วันไตโลก (World Kidney Day)” เพื่อรณรงค์ให้ผู้คนได้ตระหนักถึงความสำคัญของโรคไต รวมถึงส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจในแนวทางการป้องกัน และชะลอความเสื่อมของไต

“ไต” เป็นอวัยวะภายในร่างกาย มี 2 ข้าง และลักษณะคล้ายเม็ดถั่วขนาดเท่ากำปั้น “ไต” เปรียบเสมือนเครื่องกรองชนิดพิเศษที่มีความจำเป็นอย่างมากในการดำรงชีวิต ทำหน้าที่สำคัญในการขับของเสียออกจากร่างกาย รักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ ทั้งยังผลิตฮอร์โมนหลายชนิด โดยจะทำงานควบคู่กับระบบอื่น ๆ ของร่างกาย นอกจากนั้น “ไต” ยังมีหน้าที่ในการสร้างสารที่ควบคุมความดันโลหิต และสารที่ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง

15 มีนาคม : วันสิทธิผู้บริโภคสากล (World Consumer Rights Day)

“วันสิทธิผู้บริโภคสากล (World Consumer Rights Day)” เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2505 โดย “จอห์น เอฟ. เคเนดี้ (John Federic Kennedy หรือ JFK.)” ประธานาธิบดีคนที่ 35 ของสหรัฐอเมริกา เพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้บริโภคทั่วโลกได้ตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเคารพและปกป้องสิทธิของผู้บริโภคอย่างทั่วถึง

15 มีนาคม 2567 : วันนอนหลับโลก (World Sleep Day)

สมาคมการแพทย์เพื่อการนอนหลับโลก (World Association of Sleep Medicine : WASM) ได้กำหนดให้วันศุกร์ก่อน “วันวสันตวิษุวัต” (เวลากลางวันยาวเท่ากับกลางคืน เป็นวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิในซีกโลกเหนือ : 20 มีนาคม 2567) เป็น “วันนอนหลับโลก (World Sleep Day)” ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 15 มีนาคม 2567

“วันนอนหลับโลก (World Sleep Day)” เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2551 เพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจในปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ เพื่อในไปสู่วิธีแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องต่อไป

18 มีนาคม : วันรีไซเคิลโลก (Global Recycling Day)

จุดเริ่มต้นของ “วันรีไซเคิลของโลก (Global Recycling Day)” มาจากหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม “Global Recycling Foundation” ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการรีไซเคิล จึงพยายามสร้างการตระหนักรู้ถึงความสำคัญในการใส่ใจสิ่งแวดล้อม มองสิ่งที่ทุกคนทอดทิ้งให้เป็นโอกาสของผู้คนหลายล้านคน

จนในปี 2561 “องค์การสหประชาชาติ (UNITED NATIONS : UN)” ได้กำหนดให้วันที่ 18 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันรีไซเคิลของโลก (Global Recycling Day)” เพื่อช่วยให้ผู้คนตระหนักและเฉลิมฉลองให้กับความสำคัญของการรีไซเคิล ที่สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้หลายล้านตันต่อปี ช่วยลดการใช้ทรัพยากร ทั้งยังรักษาทรัพยากรหลักอันมีค่าของเราและรักษาโลกอนาคต

18 มีนาคม 2552 : เริ่มการระบาดของ “ไข้หวัดใหญ่ 2009”

“ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009” หรือที่นิยมเรียกกันว่า “ไข้หวัดใหญ่ 2009” เป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่กลุ่ม A (H1N1) แต่จัดเป็นเชื้อสายพันธุ์ที่เพิ่งถูกค้นพบในมนุษย์ และมีการรายงานการพบในไทยครั้งแรกในเดือนเมษายน 2552 โดยเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวมีองค์ประกอบพันธุกรรมที่เป็นผลรวมจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบในนก หมู และมนุษย์ ทั้งนี้ยังไม่ทราบว่าเชื้อดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร ที่ไหน และผ่านจากสัตว์มาสู่มนุษย์ครั้งแรกเมื่อไร แต่เนื่องจากสามารถติดต่อจากมนุษย์สู่มนุษย์ได้อย่างรวดเร็ว จึงจัดเป็นโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่สำคัญในเวลานั้น

การระบาดของ “ไข้หวัดใหญ่ 2009” เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2552 โดยทางการเม็กซิโก สังเกตพบการเพิ่มจำนวนอย่างผิดปกติของผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ แต่เข้าใจว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ต่อมาในวันที่ 12 - 21 เมษายน 2552 มีรายงานผู้ป่วยปอดบวมที่ไม่ทราบเชื้อ เสียชีวิตอย่างน้อย 2 ราย และมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในเม็กซิโก รวมถึงสหรัฐอเมริกา

ช่วงเวลานั้น ประเทศไทยรู้จักไข้หวัดชนิดนี้ในชื่อ “ไข้หวัดหมู” จนเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2552 มีรายงานผู้ป่วยชาวไทยติดเชื้อ “ไข้หวัดใหญ่ 2009” เป็น 2 รายแรก ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางมาจากเม็กซิโก เกิดการแพร่ระบาดไปในพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศ จนเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2552 ได้มีผู้ป่วยเสียชีวิตจาก “ไข้หวัดใหญ่ 2009” เป็นรายแรก

ในเดือนกันยายน 2552 สถานการณ์ของ “ไข้หวัดใหญ่ 2009” เริ่มลดความรุนแรงลง และกลับมาระบาดเป็นระลอกที่สองในเดือนมกราคม 2553 จนสถานการณ์เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติในเดือนธันวาคม 2553

20 มีนาคม : วันความสุขสากล (The International Day of Happiness)

“องค์การสหประชาชาติ (UNITED NATIONS : UN)” ได้มีมติในที่ประชุม เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2555 กำหนดให้วันที่ 20 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันความสุขสากล (International Day of Happiness)” เพื่อให้ผู้คนทั่วโลกได้ร่วมกันเฉลิมฉลองและตระหนักถึงความสุข ซึ่งเป็นพื้นฐานของมนุษย์ รวมทั้งใช้โอกาสนี้ในการเรียกร้องให้แต่ละประเทศ ผลักดันนโยบายเพิ่มความสุขให้กับประชาชนด้วย

“วันความสุขสากล (International Day of Happiness)” มีต้นแบบมาจากแนวคิดของประเทศภูฏาน ซึ่งเป็นประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลก และใช้ดัชนีมวลรวมความสุข หรือ Gross National Happiness Index (GNH) แทนที่ดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ Gross Domestic Product (GDP) โดยดัชนีมวลรวมความสุข ไม่ได้ใช้ชี้วัดการพัฒนาประเทศด้วยตัวเลขทางเศรษฐกิจ หรือความร่ำรวยทางวัตถุ แต่เป็นการให้คุณค่ากับจิตใจที่ดีของประชาชนเป็นหลัก

20 มีนาคม : วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ

สืบเนื่องจาก “กระทรวงสาธารณสุข” ได้มีนโยบายที่จะให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง ตลอดจนมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน และพัฒนาสาธารณสุข จึงได้มีการจัดตั้ง “อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)” เมื่อปี 2520 ซึ่งเริ่มด้วยการเป็นโครงการทดลองใน 20 จังหวัด จากนั้นก็ได้ขยายพื้นที่ทดลองไปเรื่อย ๆ ในทุกอำเภอ

จนในปี 2537 “กระทรวงสาธารณสุข” ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ให้วันที่ 20 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ” และได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2537 เป็นต้นมา

20 มีนาคม : วันกบโลก (World Frog Day)

วันที่ 20 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันกบโลก (World Frog Day)” ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2552 แม้ว่าจะไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าองค์กรใดเป็นผู้ริเริ่ม แต่วันนี้ก็มีขึ้นเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวของเจ้าแห่งการกระโดด สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำสุดน่าทึ่งของโลก และให้ผู้คนได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์สายพันธุ์กบ รวมถึงความหลากหลายของสัตว์ในกลุ่มสะเทินน้ำสะเทินบกตัวอื่น ๆ ด้วย เช่น เขียด อึ่งอ่าง ปาด คางคก

21 มีนาคม : วันป่าไม้โลก (World Forestry Day)

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2555 “องค์การสหประชาชาติ (UNITED NATIONS : UN)” ได้มีมติในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 21 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันป่าไม้โลก (World Forestry Day)” เพื่อสร้างความตระหนักถึงคุณค่า ความสำคัญและประโยชน์ของทรัพยากรป่าไม้ รวมถึงช่วยกันอนุรักษ์ป่าไม้ไม่ให้ถูกทำลาย

21 มีนาคม : วันดาวน์ซินโดรมโลก (World Down Syndrome Day)

“องค์การสหประชาชาติ (UNITED NATIONS : UN)” ได้มีมติในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) กำหนดให้วันที่ 21 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันดาวน์ซินโดรมโลก (World Down Syndrome Day)” อย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่ปี 2555 เพื่อส่งเสริมให้ผู้มีอาการดาวน์ซินโดรมได้มีโอกาสพูดและรับฟังความคิดเห็น รวมถึงแสดงให้โลกเข้าใจว่า พวกเขาสามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้เช่นเดียวกับคนปกติ

เหตุผลของการเลือกให้ “วันดาวน์ซินโดรมโลก (World Down Syndrome Day)” เป็นวันที่ 21 มีนาคม ของทุกปี มาจากโครโมโซมคู่ที่ 21 อันเป็นที่มาของโรคดาวน์ซินโดรม ซึ่งมีสาเหตุส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการที่โครโมโซมคู่ที่ 21 เกิดความผิดปกติ เนื่องจากในคนปกติจะมีโครโมโซมคู่ที่ 21 เพียง 2 แท่ง แต่ในกลุ่มผู้มีอาการดาวน์ซินโดรมนั้นจะมี 3 แท่ง

21 มีนาคม : วันกวีนิพนธ์สากล (World Poetry Day)

ในการประชุมครั้งที่ 30 ของ “องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO)” เมื่อปี 2542 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้ประกาศให้วันที่ 21 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันกวีนิพนธ์สากล (World Poetry Day)” เพื่อร่วมส่งเสริมและสนับสนุนให้ศิลปะในแขนงของกวีนิพนธ์ยังคงอยู่ ทั้งยังเปิดโอกาสให้ความหลากหลายทางภาษา รวมถึงภาษาที่กำลังจะสูญหายไป ได้ถูกนำมาสร้างสรรค์และถ่ายทอดผ่านการแสดงออกทางกวีนิพนธ์อีกด้วย

21 มีนาคม 2449 : วันเกิด “จิม ทอมป์สัน” ผู้ได้รับการขนานนามว่า “ราชาไหมไทย”

“จิม ทอมป์สัน (Jim Thompson)” เกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2449 ที่รัฐเดลาแวร์ สหรัฐอเมริกา ในครอบครัวอเมริกันหัวเก่า บิดาเป็นเจ้าของโรงงานทอผ้า มีตาเป็นนายพลที่เคยผ่านสงครามกลางเมือง และเป็นนักเดินทางที่เชี่ยวชาญประเทศในเอเชีย

เขาได้รับการขนานนามว่า “ราชาไหมไทย” แรกเริ่มนั้น เขาเดินทางมาที่ประเทศไทยและเริ่มดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับโรงแรม ระหว่างนั้นมีหลายคนเชื่อว่า เขากำลังทำภารกิจลับทางการทหาร หลังจากนั้นเขาได้เดินทางไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เขาได้พบเห็นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม และผ้าไหมชิ้นงาม ๆ จากชาวบ้าน ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่เขาหันมาดำเนินธุรกิจด้านผ้าไหม

อย่างไรก็ตาม เขามักจะ “วางตัวเป็นกลาง” ระหว่างฝ่ายอเมริกันและฝ่ายคอมมิวนิสต์ในยุคสมัยนั้น ซึ่งไม่มีใครทราบได้ว่า การยืนอยู่ท่ามกลางวิถีกระสุนของความไม่ไว้วางใจกันของทั้งสองฝ่าย ทำให้การเป็นคนมีเพื่อนมากของเขานั้นได้รับอันตรายหรือไม่ เพราะเขาหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ในบ่ายของวันที่ 26 มีนาคม 2510 ระหว่างการเดินทางไปพักผ่อนที่มูนไลท์ คอทเทจ ในคาเมรอน ไฮแลนด์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นรีสอร์ทใจกลางป่าดงดิบ ทำให้สาเหตุการหายตัวไปของเขายังคงเป็นปริศนาจนถึงทุกวันนี้

22 มีนาคม : วันอนุรักษ์น้ำโลก (World Water Day)

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2535 ได้มีการประชุมเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล มีการกล่าวถึงเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับการตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรน้ำของมนุษย์ รวมถึงแนวคิดในเรื่องการจัดกิจกรรมเพื่อเป็นแผนแม่บทให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ได้เฝ้าระวังทรัพยากรน้ำในประเทศของตนเอง จึงทำให้สมัชชาทั่วไปแห่งสหประชาชาติ ได้ออกประกาศให้วันที่ 22 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันอนุรักษ์น้ำโลก (World Water Day)”

23 มีนาคม : วันอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Day)

ด้วยปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาวะทางภูมิอากาศของโลก “องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก” จึงได้กําหนดให้วันที่ 23 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Day)” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งลดผลกระทบของภัยธรรมชาติที่จะมีต่อชีวิต ทรัพย์สิน เศรษฐกิจ และสังคมของชาติ พร้อมสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลกให้บรรลุเป้าหมายแห่งความสําเร็จต่อไป

23 มีนาคม : วันลูกหมาแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) (National Puppy Day)

“วันลูกหมาแห่งชาติ (National Puppy Day)” เริ่มมีขึ้นที่สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2549 จัดตั้งโดย “คอลลีน เพจ (Colleen Paige)” ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลี้ยงและพฤติกรรมสุนัข ซึ่งเป็นผู้ที่จัดตั้งทั้ง “วันสุนัขแห่งชาติ” และ “วันแมวแห่งชาติ” ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้จุดประสงค์ในการก่อตั้งวันนี้ขึ้นมา ก็เพื่อที่จะเฉลิมฉลองความน่ารักของเจ้าตูบ เพื่อนซี้สี่ขาที่ทุกคนหลงรัก รวมถึงให้ผู้คนใส่ใจและมีเมตตาต่อลูกหมาจรจัด พร้อมร่วมกันหาทางแก้ปัญหาเกี่ยวกับลูกหมาตัวน้อยอีกด้วย

โดยในปี 2555 กระแสการฉลอง “วันลูกหมาแห่งชาติ (National Puppy Day)” เพิ่งจะเริ่มมีขึ้นอย่างจริงจังทั่วโลก รวมทั้งเริ่มมีการเฉลิมฉลองวันสำคัญนี้ ผ่านการแชร์ทางโซเชียลมีเดียด้วย #NationalPuppyDay

23 มีนาคม 2554 : ประกาศให้ “อำเภอบึงกาฬ” เป็นจังหวัดที่ 77 ของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2554 ได้มีประกาศให้ “อำเภอบึงกาฬ” ของจังหวัดหนองคาย เป็นจังหวัดที่ 77 ของประเทศไทย โดยใช้ชื่อว่า “จังหวัดบึงกาฬ” จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติตั้งจังหวัดบึงกาฬ พ.ศ. 2554 โดยแยกอำเภอบึงกาฬ อำเภอเซกา อำเภอโพนพิสัย อำเภอบุ่งคล้า อำเภอบึงโขงหลง อำเภอปากคาด อำเภอพรเจริญ และอำเภอศรีวิไล ออกจากการปกครองของจังหวัดหนองคาย

24 มีนาคม : วันวัณโรคโลก (World Tuberculosis Day)

สหพันธ์องค์กรต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติ (IUATLD : International Union Against Tuberculosis and Lung Disease) กำหนดให้วันที่ 24 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันวัณโรคโลก (World Tuberculosis Day)” เพื่อให้ร่วมมือกันควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงรณรงค์ให้ประชาชนเล็งเห็นและตระหนักถึงอันตรายจากวัณโรค

“วัณโรค” คือโรคติดต่อชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium Tuberculosis เกิดขึ้นได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย เช่น ปอด ลำไส้ ไต กระดูก ผิวหนัง ต่อมน้ำเหลือง เยื่อหุ้มสมอง และสามารถติดต่อทางการหายใจ โดยเชื้อจะแพร่จากผู้ป่วยวัณโรคปอดไปสู่บุคคลอื่น ทางละอองเสมหะขนาดเล็ก ซึ่งอาจจะเกิดจากการไอ จาม หรือพูด

26 มีนาคม : วันสถาปนาการรถไฟไทย

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พร้อมด้วยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟหลวงสายแรกในพระราชอาณาจักร คือ สายนครราชสีมา ซึ่งในขณะนั้นสร้างเสร็จตอนหนึ่ง ระหว่างสถานีกรุงเทพฯ ถึงสถานีอยุธยา ถือได้ว่าเป็นจุดกำเนิดของกิจการรถไฟหลวงของไทย การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงได้ถือเอาวันที่ 26 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันสถาปนาการรถไฟของไทย”

26 มีนาคม 2370 : “บีโธเฟน” ยอดอัจฉริยะทางดนตรีของโลก เสียชีวิต

“บีโธเฟน (Ludwig van Beethoven)” คีตกวีและนักเปียโนชาวเยอรมัน ยอดอัจฉริยะทางดนตรีของโลก เกิดเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2313 ที่เมืองบอนน์ ประเทศเยอรมนี เขาเป็นต้นแบบของคีตกวีแนวจินตนิยม และไม่ค่อยเป็นที่เข้าใจของผู้คนในยุคสมัยของเขา

ผลงานของเขาที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือดนตรีประเภท “ซิมโฟนี (Symphony)” เช่น ซิมโฟนีหมายเลข 5 (Symphony 5) ซิมโฟนีหมายเลข 6 (Symphony 6) ซิมโฟนีหมายเลข 7 (Symphony 7) และซิมโฟนีหมายเลข 9 (Symphony 9)

นอกจากนี้ เขายังมีผลงานการประพันธ์เพลงในรูปแบบ “คอนแชร์โต (Concerto)” ที่ใช้สำหรับเปียโน เช่น คอนแชร์โตหมายเลข 4 (Concerto 4) และ คอนแชร์โตหมายเลข 5 (Concerto 5)

“บีโธเฟน (Ludwig van Beethoven)” เสียชีวิต เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2370 ที่เมืองเวียนนา ประเทศออสเตรีย ขณะอายุได้ 56 ปี

28 มีนาคม : วันแห่งเมนูเสียบไม้ (Something on a Stick Day)

“วันแห่งเมนูเสียบไม้ (Something on a Stick Day)” ตรงกับวันที่ 28 มีนาคม ของทุกปี จัดขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้กับการสร้างสรรค์เมนูเสียบไม้ของตัวเอง ที่เราอาจจะคาดไม่ถึงว่า อะไรมันจะเยอะแยะขนาดนี้! ไม่ว่าจะเป็นบาบีคิว หมูปิ้ง หมูสะเต๊ะ หม่าล่า ไข่ปิ้งทรงเครื่อง ไส้กรอกอีสาน หรือแม้แต่เมนูของทานเล่นอย่าง ขนมโป๊งเหน่ง และ กล้วยทับราดน้ำกะทิ ก็เข้าข่ายความอร่อยในไม้เดียวได้เหมือนกัน

28 มีนาคม 2473 : ประเทศตุรกี เปลี่ยนชื่อ “คอนสแตนติโนเปิล” เป็น “อิสตันบูล”

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2473 ประเทศตุรกี ได้ทำการเปลี่ยนชื่อ “คอนสแตนติโนเปิล (Constantinople)” อดีตเมืองหลวงของจักรวรรดิไบแซนไทน์และออตโตมัน เป็น “อิสตันบูล (Istanbul)” อันเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศตุรกี ตั้งอยู่ที่จุดใต้สุดของช่องแคบบอสพอรัส (Bosphorus Cruise) เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างโลกตะวันตกและโลกตะวันออก เพราะเป็นเมืองเดียวในโลกที่ตั้งอยู่บนสองทวีป คือเอเชียและยุโรป

30 มีนาคม : วันไบโพลาร์โลก (World bipolar Day)

“เครือข่ายโรคไบโพลาร์ของทวีปเอเชีย (Asian Network of Bipolar Disorder)” ร่วมกับ “International Bipolar Foundation” และ “สมาพันธ์โรคไบโพลาร์สากล (International Society for Bipolar Disorders)” ได้ขับเคลื่อนและทำงานร่วมกัน โดยถือเอาวันที่ 30 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันไบโพลาร์โลก (World bipolar Day)” เพื่อระลึกถึงวันเกิดของ “วินเซนต์ แวน โก๊ะ (Vincent Van Gogh)” ศิลปินชาวดัตช์ผู้โด่งดัง ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นหนึ่งในผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ หรือ โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว (Bipolar Disorder) ที่ต้องทุกข์ทรมานกับอาการของโรคที่ยังไม่มีใครเข้าใจในยุคของเขา

30 มีนาคม 2396 : วันเกิด “วินเซนต์ แวน โก๊ะ (Vincent Van Gogh)”

“วินเซนต์ แวน โก๊ะ (Vincent Van Gogh)” จิตรกรชาวดัตช์ เกิดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2396 ที่เขต Zundert ประเทศเนเธอร์แลนด์ เขาเป็นจิตรกรแนวโพสต์-อิมเพรสชันนิสม์ (Post-Impressionism) ซึ่งถือเป็นกระแสศิลปะที่เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศส โดยในยุคนั้นมีศิลปินที่ทำงานแนวนี้ทั้งหมด 4 คน คือ “พอล เซซาน (Paul Cezanne)” “พอล โกแกง (Paul Gauguin)” “วินเซนต์ แวนโก๊ะ (Vincent van Gogh)” และ “จอร์จ เซอราต์ (Georges Seurat)”

เขาเป็นหนึ่งในผู้มีชื่อเสียงและอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก จากการสร้างสรรค์งานศิลปะกว่า 2,100 ชิ้น ในเวลาเพียงสิบปีกว่า ในจำนวนนี้เป็นภาพสีน้ำมันถึง 860 ชิ้น ซึ่งส่วนใหญ่เขาสร้างขึ้นในสองปีสุดท้ายในชีวิตของเขา ซึ่งล้วนแต่มีลักษณะเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีสีสันจัดจ้าน และงานพู่กันที่ฉวัดเฉวียน แต่แฝงอารมณ์ชวนประทับใจอันเป็นการสร้างรากฐานให้แก่ศิลปะสมัยใหม่

ในยุคสมัยของเขายังไม่มี “โรคไบโพลาร์ หรือ โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว (Bipolar Disorder)” แต่ด้วยเสถียรภาพทางจิตใจที่ไม่ปกติของเขา ทำให้ผู้คนในยุคหลังเชื่อกันว่าเขาป่วยด้วยโรคนี้ โดยครั้งหนึ่ง เขามีปากเสียงกับ “พอล โกแกง (Paul Gauguin)” แล้วคว้ามีดโกนวิ่งไล่ตาม ก่อนที่จะเฉือนหูซ้ายของตัวเองทิ้ง ด้วยความปั่นป่วนทางจิตใจในลักษณะนี้ ทำให้เขาต้องอยู่รักษาตัวที่โรงพยาบาลจิตเวชหลายครั้ง

ช่วงที่มีชีวิตอยู่ “วินเซนต์ แวน โก๊ะ (Vincent Van Gogh)” ถูกมองว่าไม่ประสบความสำเร็จ เป็นคนบ้าและล้มเหลว ผลงานศิลปะของเขาไม่เป็นที่นิยม สิ่งที่เขาพบในชีวิตของตัวเองทำให้ภาวะซึมเศร้าของเขาร้ายแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2433 เขาก็ใช้ปืนลูกโม่ยิงเข้าที่อกเพื่อทำร้ายตัวเอง สองวันต่อมา บาดแผลจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ทำให้เขาเสียชีวิตในวันที่ 29 กรกฎาคม 2433 ที่เมืองโอแวร์ซูว์รวซ ประเทศฝรั่งเศส

30 มีนาคม 2567 : วันปิดไฟเพื่อโลก (Earth Hour)

“วันปิดไฟเพื่อโลก (Earth Hour)” เป็นกิจกรรมรณรงค์ในวันเสาร์สุดท้ายของเดือนมีนาคมของทุกปี จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2550 ที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โดยประชาชนพร้อมใจกันปิดไฟเป็นเวลา 1 ชั่วโมง เพื่อลดการใช้พลังงาน ก่อนที่กิจกรรมนี้จะกลายเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ ที่คนทั่วทุกมุมโลกต่างมีส่วนร่วม โดยอ้างอิงตามเวลาท้องถิ่นของแต่ละประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 180 ประเทศที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ในทุกปี เช่นเดียวกับประเทศไทย

31 มีนาคม : วันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

“วันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ซึ่งตรงกับวันที่ 31 มีนาคม 2330 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2535 กำหนดให้วันที่ 31 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า” หรือ “วันเจษฎา” เพื่อน้อมรำลึกสำนึกในพระเมตตาธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณอันมีเป็นอเนกประการ

31 มีนาคม 2432 : พิธีเปิด “หอไอเฟล” แลนด์มาร์คของฝรั่งเศส

ย้อนไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2432 ได้มีพิธีเปิด “หอไอเฟล (Eiffel Tower)” แลนด์มาร์คสำคัญของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้แสดงชั่วคราวในงานนิทรรศการปารีสและการฉลองครบรอบ 100 ปีแห่งการปฏิวัติฝรั่งเศส โดยมี “กุสตาฟ ไอเฟล (Alexandre Gustave Eiffel)” วิศวกรและสถาปนิกชาวฝรั่งเศส เป็นผู้ออกแบบ “หอไอเฟล (Eiffel Tower)” ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จก็ได้กลายเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในโลก เป็นเวลากว่า 40 ปี

31 มีนาคม 2448 : วันเกิด “ศรีบูรพา” หรือ “กุหลาบ สายประดิษฐ์” นักคิด นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ยุคบุกเบิกของไทย

“ศรีบูรพา” เป็นนามปากกาของ “กุหลาบ สายประดิษฐ์” นักคิด นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ยุคบุกเบิกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของไทย เกิดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2448 ที่กรุงเทพมหานคร เขาคือเจ้าของบทประพันธ์สุดอมตะหลายต่อหลายเรื่อง ที่ยกระดับคุณภาพของนวนิยายไทยให้เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น แลไปข้างหน้า, จนกว่าเราจะพบกันอีก, ลูกผู้ชาย, สงครามชีวิต และ ข้างหลังภาพ

นอกจากนี้ อีกหนึ่งบทบาทที่เด่นชัดของเขาคือ การเป็นนักประชาธิปไตย จากการต่อสู้และการเคลื่อนไหวเพื่อระบอบประชาธิปไตยในตลอดชีวิตของเขา แม้ว่าจะถูกข่มขู่หรือถูกจับกุมหลายต่อหลายครั้งก็ตาม

ในโอกาสวาระครบ 100 ปี ชาติกาล (ปี 2548) ของ “กุหลาบ สายประดิษฐ์” องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ได้ยกย่องให้เป็นบุคคลดีเด่นของโลก ในฐานะผู้สร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศไทยและสร้างสันติภาพทั่วโลก

31 มีนาคม 2542 : ภาพยนตร์เรื่อง “The Matrix” เข้าฉายครั้งแรก

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2542 ภาพยนตร์แนวแอ็คชัน-ไซไฟ ในตำนานเรื่อง “The Matrix 2199 (เดอะ เมทริกซ์ เพาะพันธุ์มนุษย์เหนือโลก 2199)” เข้าฉายเป็นครั้งแรก กำกับโดยสองพี่น้อง “ลาน่า วาโชว์สกี้ (Lana Wachowski)” และ “ลิลลี่ วาโชว์สกี้ (Lilly Wachowski)” นำแสดงโดย “คีอานู รีฟส์ (Keanu Reeves)” รับบท “นีโอ” “ลอเรนซ์ ฟิชเบิร์น (Laurence Fishburne)” รับบท “มอร์เฟียส” “แคร์รี-แอนน์ มอสส์ (Carrie-Anne Moss)” รับบท “ทรีนิตี้” และ “ฮิวโก้ วีฟวิง (Hugo Weaving)” รับบท “สายลับสมิธ”

“The Matrix 2199 (เดอะ เมทริกซ์ เพาะพันธุ์มนุษย์เหนือโลก 2199)” เล่าเรื่องราวของ “นีโอ” รับบทโดย “คีอานู รีฟส์ (Keanu Reeves)” ชายหนุ่มในยุคอนาคต ผู้หลับใหลอยู่ใน The Matrix (เดอะ เมทริกซ์) โลกเสมือนจริงที่หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์สร้างขึ้น เพื่อหลอกล่อผู้คนให้ออกจากความเป็นจริง และใช้ร่างกายมนุษย์เป็นแหล่งพลังงานเพื่อความอยู่รอด “มอร์เฟียส” รับบทโดย “ลอเรนซ์ ฟิชเบิร์น (Laurence Fishburne)” และ “ทรีนิตี้” รับบทโดย “แคร์รี-แอนน์ มอสส์ (Carrie-Anne Moss)” จึงปลุก “นีโอ” ขึ้นมาจากการหลับใหล ด้วยความหวังที่จะให้เขาเป็น “ผู้ปลดปล่อย” ในสงครามระหว่างจักรกลและมนุษยชาติที่หลงเหลืออยู่เพียงน้อยนิด

นอกจากคำชมในฉากการหลบกระสุนสุดคลาสสิค ซึ่งใช้เทคนิคการถ่ายทำที่เรียกว่า “Bullet Time” โดยการลดความเร็วของเวลาปกติ เพื่อให้เห็นความแตกต่างในการเคลื่อนไหวของวัตถุกับมนุษย์แล้ว “The Matrix 2199 (เดอะ เมทริกซ์ เพาะพันธุ์มนุษย์เหนือโลก 2199)” ยังถือเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ด้วยการเข้าฉายท่ามกลางความซบเซาของวงการภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดยุค 90s แต่กลับทำรายได้ทั่วโลกไปกว่า 463 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทุนสร้างเพียง 63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

🗝 เล่าอดีต บันทึกปัจจุบัน รอบรู้ทุกวัน กับ Thai PBS On This Day

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Thai PBS On This DayThai PBS Digital MediaThai PBSไทยพีบีเอสวันสำคัญวันนี้ในอดีตวันรณรงค์สากลเพื่อยุติการเลือกปฏิบัติZero Discrimination DayวันบาริสตาBarista Dayคองคอร์ดConcordeอเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์Alexander Graham Bellรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาวันนักข่าวValentina Vladimirovna TereshkovaนักบินอวกาศหญิงคนแรกของโลกวันสตรีสากลInternational Women's DayวันนอนหลับโลกWorld Sleep Dayป๋วย อึ๊งภากรณ์ดาวหางฮัลเลย์Halley's CometAlexander Flemingมหาตมะ คานธีMahatma GandhiSalt Marchวันช้างไทยWilliam HerschelยูเรนัสUranusวันคณิตศาสตร์โลกWorld Math DayวันพายPi DayWhite DayวันไตโลกWorld Kidney Dayวันสิทธิผู้บริโภคสากลWorld Consumer Rights DayวันรีไซเคิลโลกGlobal Recycling Dayไข้หวัดใหญ่ 2009H1N1ไข้หวัดหมูวันความสุขสากลThe International Day of Happinessวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติวันป่าไม้โลกWorld Forestry Dayวันดาวน์ซินโดรมโลกWorld Down Syndrome Dayวันกวีนิพนธ์สากลWorld Poetry Dayจิม ทอมป์สันJim Thompsonวันอนุรักษ์น้ำโลกWorld Water DayวันอุตุนิยมวิทยาโลกWorld Meteorological Dayวันลูกหมาแห่งชาติNational Puppy DayบึงกาฬวันวัณโรคโลกWorld Tuberculosis DayวันสถาปนาการรถไฟไทยบีโธเฟนLudwig van Beethovenวันแห่งเมนูเสียบไม้Something on a Stick DayคอนสแตนติโนเปิลConstantinopleอิสตันบูลIstanbulวันไบโพลาร์โลกWorld bipolar Dayวินเซนต์ แวน โก๊ะVincent Van Goghวันปิดไฟเพื่อโลกEarth Hourวันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัววันเจษฎาหอไอเฟลEiffel Towerศรีบูรพากุหลาบ สายประดิษฐ์
วิรินทร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร | จูล~Joule
ผู้เขียน: วิรินทร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร | จูล~Joule

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ทาสแมวผู้เลี้ยงกระต่ายอย่างมืออาชีพ รักในศิลปะ การถ่ายภาพและดนตรีนอกกระแส ชื่นชอบการชมภาพยนตร์ในโรง รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด