เมื่อเอ่ยถึง “ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน” ภาพแรกที่อาจผุดขึ้นในใจผู้คนมากมายคือภาพสงครามและความขัดแย้ง มันกลายเป็นภาพจำที่แทบทำให้เรามองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นแหล่งอารยธรรมของมนุษย์ เป็นถิ่นกำเนิดของปรัชญาและศาสนาสำคัญของโลกมาก่อน
ในรายการสารคดี “Mediterranean From Above เมดิเตอร์เรเนียน..ทะเลของเรา” รายการนี้ ซึ่งใช้วิธีนำเสนอแบบ “From Above” ตามชื่อ ประกอบด้วยภาพที่ถ่ายพื้นที่ต่าง ๆ จากมุมสูงแทบทั้งหมด พาเราไปสัมผัสทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในมุมมองที่หลายคนอาจไม่เคยได้เห็น
ไม่ว่าจะเป็นภาพความงดงามของร่มชายหาดอันเป็นเอกลักษณ์ของอิตาลี ประภาคารซึ่งตั้งตระหง่านอย่างโดดเดี่ยวในโครเอเชีย ประเพณีการสร้างหอคอยมนุษย์อันลือชื่อของสเปน ฯลฯ สอดประสานไปกับเสียงบรรยาย ว่าด้วยประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานและการปรับเปลี่ยนตัวของวัฒนธรรมตามยุคสมัย เพื่อตอกย้ำให้เห็นสิ่งที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นจุดเด่นที่สุดของภูมิภาคนี้ นั่นก็คือ “ความหลากหลาย”
ในอันที่เราจะเข้าใจเหตุผลแห่งความหลากหลายที่ว่านี้ได้ เราต้องเข้าใจลักษณะทางภูมิศาสตร์กันก่อนสักนิด
ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นน่านน้ำที่เชื่อมระหว่างทวีป แยกยุโรปไว้ทางเหนือ แอฟริกาอยู่ทางใต้ และเอเชียอยู่ทางตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2.5 ล้านตารางกิโลเมตร เชื่อมต่อกับมหาสมุทรแอตแลนติก ผ่านช่องแคบยิบรอลตาร์ และเชื่อมโยงกับทะเลดำผ่านช่องแคบบอสฟอรัส คำว่า "เมดิเตอร์เรเนียน" มาจากภาษาละตินว่า "mediterraneus" แปลว่า “ดินแดนภายใน” หรือ “กลางโลก” ขณะที่ภาษากรีกเรียกว่า "mesogeios" ซึ่งหมายถึง “ตรงกลาง” และ “geinos” แปลว่า “ของโลก”
ความเป็นศูนย์กลางแบบนี้นี่แหละที่ทำให้เมดิเตอร์เรเนียนเป็นแหล่งรวมความรุ่มรวยหลากหลาย ทั้งทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ ปรัชญา ดนตรี วรรณกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ซึ่งแม้เวลาจะผ่านไป แต่ความเป็นหนึ่งในด้านนี้ของพื้นที่แห่งนี้ก็ไม่เคยย่อหย่อน จะมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์แห่งไหนอีกล่ะจะมีโอกาสซึมซับอารยธรรมที่แตกต่างกันจากรอบด้านเข้ามาผสมผสานกันได้เท่านี้ ประวัติศาสตร์ของเมดิเตอร์เรเนียนจึงมีทั้งที่สืบทอดจากเมโสโปเตเมีย อียิปต์ สปาร์ตา เอเธนส์ โรม แบกแดด ไบแซนไทน์ และออตโตมัน
ในยุคทองของอารยธรรมอิสลามยุคกลาง เมดิเตอร์เรเนียนเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จนถึงกับได้รับการขนานนามว่า “ผืนพรมของอารยธรรมที่ถักทอด้วยความคิดสร้างสรรค์ การแสวงหาปัญญา และความรักอันลึกซึ้งต่อมนุษยชาติและธรรมชาติ” เพราะที่นี่เป็นแหล่งการเรียนรู้ เต็มไปด้วยมหาวิทยาลัยชั้นนำ ผลิตนักคิดและศิลปินมากมายทั้งด้านปรัชญา วรรณกรรม และวิทยาศาสตร์
แม้ในช่วงการฟื้นฟูศิลปวิทยา เมดิเตอร์เรเนียนจะค่อย ๆ สูญเสียอิทธิพลด้านวัฒนธรรมให้แก่ยุโรปตอนเหนือ แต่ความสำคัญด้านการศึกษาก็ยังคงอยู่ แถมอาหารเมดิเตอร์เรเนียนก็เลื่องชื่อด้านการสะท้อนให้เห็นมรดกทางวัฒนธรรมร่วม ขณะที่บทเพลงต่าง ๆ ก็ผสมผสานรากเหง้าของตุรกี ยิว ตูนิเซีย และแอลจีเรียเข้าด้วยกันอย่างลงตัว
ในบรรดาสถานที่สำคัญ ๆ ที่รายการพาเราไปรู้จักนั้น แห่งหนึ่งซึ่งแม้จะถูกกล่าวถึงแค่สั้น ๆ แต่ดึงดูดใจผู้เขียนมาก ๆ ก็คือ ฮาเกียโซเฟีย มัสยิดใหญ่ในอิสตันบูล ประเทศตุรกี ที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในประจักษ์พยานผู้รับรู้ความสลับซับซ้อนของเมดิเตอร์เรเนียนมากที่สุด
...นั่นเพราะสถาปัตยกรรมแห่งนี้เป็นให้เธอมาหมดแล้ว ทั้งเป็นวิหารสำหรับคริสตจักร เป็นมัสยิด เป็นพิพิธภัณฑ์ และก็กลับมาเป็นมัสยิดอีกครั้งท่ามกลางความขัดแย้ง !
ฮาเกียโซเฟียสร้างเมื่อปี ค.ศ. 537 ในรัชสมัยของจักรพรรดิจัสติเนียนแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ เพื่อทำหน้าที่เป็นวิหารสำหรับคริสตจักรออร์ทอดอกซ์ตะวันออก และเป็นเรื่อยมาเกือบหนึ่งพันปี จนกระทั่งกรุงคอนสแตนติโนเปิลถูกจักรวรรดิออตโตมันพิชิตและล่มสลายลงในปี ค.ศ. 1453 ก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นมัสยิดแทน
เวลาผ่านมาอีกหลายร้อยปีจนในปี ค.ศ. 1935 คามาล อตาเติร์ก ผู้นำคนแรกของสาธารณรัฐตุรกีได้สั่งให้ถอดบทบาททางศาสนาของฮาเกียโซเฟียออก แล้วเปลี่ยนให้เข้ากับความเป็นรัฐฆราวาสมากขึ้นคือเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่ล่าสุดเมื่อปี ค.ศ. 2020 นี้เอง ประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ก็สั่งให้เปลี่ยนกลับไปเป็นมัสยิดอีกครั้ง นำมาซึ่งการถกเถียงอย่างครึกโครมในระดับนานาประเทศ
นอกจากเรื่องหน้าที่ทางศาสนาและสังคมที่ถูกสับเปลี่ยนไปมาตามความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแล้ว สิ่งก่อสร้างนี้ยังมีเกร็ดน่าสนใจซึ่งขอนำมาเล่าเสริมไว้ด้วยในที่นี้ ตลอดระยะเวลาร่วม 500 ปีที่ ฮาเกียโซเฟียถูกใช้เป็นมัสยิดนั้น มีความลับสำคัญอย่างหนึ่งที่ประชาชนทั้งในตุรกีเองและต่างชาติแทบไม่เคยรู้ นั่นคือ ใต้ชั้นผนังปูนภายในตัวอาคาร แท้จริงแล้วมีกระเบื้องโมเสกทองคำประดับประดาอยู่อย่างสุดอลังการ !
แล้วกระเบื้องทองคำไปอยู่ใต้ปูนได้อย่างไร ? กระเบื้องเหล่านี้โดยมากคือ โมเสกภาพบุคคลสำคัญในตำนานศาสนาคริสต์ ทั้งพระเยซู พระแม่มารี นักบุญ เทวทูต ซึ่งถูกใช้ปูนป้ายทับตอนโดนเปลี่ยนมาเป็นมัสยิดนั่นเอง จริง ๆ แล้วมันเคยเกือบถูกเผยโฉมแล้วในปี ค.ศ. 1847 เมื่อสุลต่านอับดุลเมยิดจ้างสถาปนิกชาวสวิสฯ มาบูรณะตัวอาคารและช่างได้ลอกปูนออกแล้วพบโมเสกล้ำค่าเข้า แต่ด้วยความหวั่นเกรงว่าชาวบ้านจะไม่พอใจ สุลต่านจึงสั่งให้ฉาบปูนทับไว้ดังเดิม แต่ยอมให้นำบันทึกเกี่ยวกับมันไปเผยแพร่ในยุโรปได้ นั่นจึงเป็นครั้งแรกที่ผู้คนเริ่มได้รับรู้เกี่ยวกับโมเสกเหล่านี้ที่ถูกปิดบังมาหลายร้อยปี
กว่าที่ผนังกระเบื้องทองคำอันสวยสดงดงามจะได้เปิดตัวแก่ชาวโลกอย่างจริงจังเต็มตาเป็นครั้งแรกก็ในปี ค.ศ. 1931 เข้าไปแล้ว เมื่อมีการบูรณะฮาเกียโซเฟียครั้งใหญ่ก่อนเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ ภาพพระคริสต์จึงกลับมาปรากฏอีกครั้งหนึ่ง และในช่วงเวลานั้นเองที่ฮาเกียโซเฟียได้กลายมาเป็นดังสมบัติกลางของมนุษยชาติ มิใช่ของศาสนาใดศาสนาเดียวอีกต่อไป
ด้วยความสำคัญดังที่ว่ามา จึงไม่แปลกที่การตัดสินใจของ “ประธานาธิบดีแอร์โดอัน” ในการเปลี่ยนฮาเกียโซเฟียให้กลับไปเป็นมัสยิดจะนำมาซึ่งคำถามและความรู้สึกไม่ไว้วางใจจากทั้งชาวตุรกีในปัจจุบันและผู้คนทั่วโลกว่า
นี่จะเป็นการทำลายพลังของสถาปัตยกรรมแห่งนี้ในฐานะสัญลักษณ์แห่งความหลากหลายลงไหม ?
และมันคือสัญญาณว่าประเทศที่วางตนเป็นรัฐฆราวาสมายาวนาน กำลังเลือกเส้นทางกลับสู่การเป็นรัฐอิสลามอีกหรือไม่ อนาคตของฮาเกียโซเฟียยังคงตั้งอยู่บนความไม่แน่นอนและสะท้อนถึงบทสนทนาที่ยังดำเนินต่อไปในดินแดนอันซับซ้อนแห่งนี้
เรื่องราวของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ต้นกำเนิดของอารยธรรมมนุษย์ เส้นทางแห่งประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่มีมาอย่างยาวนาน เป็นแหล่งกำเนิดประชาธิปไตย ปรัชญา และศาสนาที่สำคัญสามศาสนา สารคดีนี้เล่าถึงเรื่องราวของผู้คนแถบเมดิเตอร์เรเนียนตั้งแต่ครั้งอดีตเมื่อเทียบกับปัจจุบัน ▶ รับชม Mediterranean From Above เมดิเตอร์เรเนียน..ทะเลของเรา ทาง www.VIPA.me หรือ VIPA Application
“ Secret Story ” คอลัมน์จาก VIPA ที่มาพร้อมเรื่องราวเจาะลึก มุมมองในมิติที่คุณอาจไม่เคยรู้ ทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลังของผลงานสารคดีคุณภาพ ที่เราไม่อยากให้คุณพลาดใน www.VIPA.me