เพิ่งออนแอร์ไปไม่นาน ได้รับเสียงตอบรับที่ดี สำหรับละคร “รถรางเที่ยวสุดท้าย” ละครสะท้อนเรื่องราว “ความต่างวัย” ของผู้คนในสังคม พร้อมแง่มุมการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเช่นนี้
Thai PBS มีโอกาสได้พูดคุยกับเหล่านักแสดง ก้าวหน้า-กิตติภัทร แก้วเจริญ, ปอนด์-พลวิชญ์ เกตุประภากร, ตังตัง-นัฐรุจี วิศวนารถ, ต๊งเหน่ง-รัดเกล้า อามระดิษ และ หมู-สมภพ เบญจาธิกุล ถึงการทำงานครั้งนี้ และมุมมองเรื่องความแตกต่างระหว่างวัย ที่ชวนทุกคนมาหาทางออกเพื่อเป็นประโยนช์ร่วมกัน
บทบาทที่ได้รับ กับละคร “รถรางเที่ยวสุดท้าย”
เริ่มต้นการพูดคุยกับ 5 นักแสดงนำของละคร “รถรางเที่ยวสุดท้าย” ถามแต่ละคนว่าได้รับบทเป็นตัวละครแบบไหน อย่างไร
“ผมรับบทเป็นภราดรครับ” ปอนด์ เริ่มต้นตอบเป็นคนแรก “ภราดรเป็นตัวละครที่เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ มองผิวเผินอาจจะดูเหมือนก้าวร้าว แต่ว่าจริง ๆ แล้วมีความตรงไปตรงมา ซึ่งผมชอบตัวละครตัวนี้ที่เขาเป็นคนกล้า เพราะความกล้าทำให้เขาดำเนินชีวิตต่อไปได้”
“ผมรับบทเป็น นที” ก้าวหน้า เล่าเป็นคนที่สอง “นทีเป็นคนต้นเรื่องที่นำพาทุกคนให้มาเจอกัน เนื่องจากเขาไปเห็นบทกลอนหนึ่งในร้านรถราง แล้วคิดจะเอาบทกลอนนี้ไปสร้างเป็นหนัง จึงไปชวนเพื่อน ก็คือภราดรมาช่วยเขียน ทำให้รู้จักกับตัวละครอื่น ๆ ตามมา”
“ในมุมของนที เป็นคนที่มีความประนีประนอมสูง เป็นคนที่เข้าใจคน อยากให้ทุกคนเข้าใจกัน ดูเป็นตัวละครในอุดมคติมาก ๆ แต่โดยรวมผมชอบตัวละครนี้มากครับ” ก้าวหน้า เล่าพร้อมรอยยิ้ม
“ตังตัง รับบทเป็นซอแก้วค่ะ” ตังตัง เล่าให้ฟังบ้าง “ในเรื่องจะเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่หัวรั้น ดื้อ มีความคิดอะไรก็จะทำแบบนั้น ซึ่งในเรื่องจะปะทะกับอาหนิง นิรุตติ์ (รับบทเป็น อารักษ์) อยู่ตลอดเวลา คาแรกเตอร์ของซอแก้ว ผู้ใหญ่อาจจะมองว่าก้าวร้าว แต่ว่าจริง ๆ ตัวซอแก้วก็มีความคิดของเขาแหละ แต่การแสดงออก อาจจะไม่อ้อมค้อม ไม่รู้จักว่าต้องมีความเคารพนะ ต้องนึกถึงใจคนอื่นนะ แต่ข้อดีของซอแก้วคือ เป็นคนที่มุ่งมั่น แสดงออกชัดเจนว่าต้องการหรืออยากได้อะไร”
มาถึงนักแสดงรุ่นใหญ่อย่าง หมู - สมภพ เบญจาธิกุล เล่าถึงตัวละครที่ได้สวมบทบาทบ้าง “ผมรับบทเป็น บริพัตร เป็นคนรุ่นเก่า แต่เป็นคนไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ บริพัตรเป็นคนยอมรับความคิด และเห็นถึงความทุกข์ของคนรุ่นใหม่ ชอบที่จะคุยด้วยเหตุด้วยผล ตอนผมได้อ่านบทของตัวละครนี้ ผมบอกผู้จัดฯ เลยว่า ผมอยากเล่น ผมว่ามันเข้ากับสังคมปัจจุบันมาก”
ส่วนนักแสดงเจ้าบทบาท ต๊งเหน่ง - รัดเกล้า อามระดิษ ได้สะท้อนถึงตัวละครที่เธอได้รับเช่นกันว่า “รับบทเป็น บุหงา เป็นคนรุ่นกลาง ด้วยวัยจะเป็นเหมือนกันชน ระหว่างคนรุ่นก่อน กับคนรุ่นใหม่ เราจะรับแรงกระแทกระหว่างคนสองรุ่นอยู่ตลอดเวลา บุหงาเป็นคนหัวอ่อน ซึ่งค่อนข้างต่างกับตัวเองที่เป็นคนตรง ๆ (หัวเราะ) แต่มุมที่ชอบตัวละครตัวนี้คือ เขาเป็นคนที่กตัญญู ยอมทิ้งชีวิตตัวเอง เพื่อมาตอบแทนบุญคุณของคน ๆ หนึ่ง”
ความต่างระหว่างวัยของนักแสดง “รถรางเที่ยวสุดท้าย”
78-54-28-26-25 นี่คือ “อายุ” ของนักแสดงทั้ง 5 คน เริ่มต้นจาก หมู - สมภพ เบญจาธิกุล อายุ 78 ปี รัดเกล้า อามระดิษ อายุ 54 ปี ตังตัง - นัฐรุจี อายุ 28 ปี ก้าวหน้า - กิตติภัทร 26 ปี และ ปอนด์ - พลวิชญ์ 25 ปี ด้วยความแตกต่างระหว่างวัยนี้ นักแสดงแต่ละคนมีวิธีการทำงานร่วมกันให้ออกมาได้ดีอย่างไร
“ส่วนตัวที่ผมใช้ยึดมาตลอดคือ การทำงานต้องไว้ใจกันก่อน” สมภพ บอก ก่อนว่าต่อ “แล้วอย่าว่าแต่คนรุ่นใหม่เกร็งเลย คนรุ่นเก่าก็เกร็งเหมือนกัน (หัวเราะ) ดังนั้น เราต้องให้ความเป็นกันเอง ต้องคิดว่ามาทำงานเพื่อให้งานออกมาเสร็จสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น ต้องเปิดใจให้ทุกคนที่มาร่วมงานกับเรา เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วง”
ในมุมของ รัดเกล้า ในฐานะคนรุ่นกลาง เธอบอกว่า การเปิดใจ และความกล้า จะทำให้งานราบรื่น แถมยังได้ความรู้เพิ่มเติมขึ้นอีกด้วย
“เวลาอยู่ในกองถ่ายฯ อาหมู (สมภพ) กับ อาหนิง (นิรุตติ์) จะเป็นรุ่นใหญ่ที่สุด เรามักจะชอบเข้าไปสอบถามเรื่องนั้นเรื่องนี้ ซึ่งท่านทั้งสองก็กรุณาเล่าให้ฟัง ซึ่งวิชาเหล่านี้มันหาไม่ได้ ใช้เงินซื้อก็ไม่ได้ ขอแค่เรามีความกล้าที่จะเข้าไปถาม เราก็จะได้ความรู้”
“ส่วนน้อง ๆ นักแสดงรุ่นใหม่ ต้องบอกว่าโชคดี น้องทั้งสามคนเขาเป็นคนที่ไม่ยึดติด ซึ่งเราเป็นคนชอบเข้าไปถามอยู่แล้ว บางทีน้อง ๆ อาจรำคาญเอาได้ ประมาณว่าเป็นมนุษย์ป้าที่ถามอะไรเยอะแยะ (หัวเราะ) แต่ทั้งสามคนนี้ไม่เป็นไรเลย เราเข้าไปคุยด้วยแล้ว เขาน่ารักมาก”
ด้าน ตังตัง ช่วยเล่าในเรื่องนี้บ้าง “จริง ๆ ต้องถือเป็นความโชคดีของพวกเราสามคนเช่นกัน ยังจำได้ว่า ตอนที่รู้ว่าเราต้องเล่นกับใคร ยังรู้สึกว่ามีแต่นักแสดงรุ่นใหญ่ทั้งนั้นเลย เราจะทำได้ไหมนะ แต่พอวันแรกที่มาเจอกัน อุ๊ย! เฟรนด์ลี เข้ากันได้ ไม่เกร็งเลย จากที่คิดจากบ้านมา พรุ่งนี้ต้องเข้าบทนะ จะยังไง อ้าว พี่ ๆ น่ารักมาก ทั้งพี่ต๊งเหน่ง อาหนิง อาหมู ทุกคนน่ารักหมดเลย”
ขอ 1 คำ ช่วยทำให้การทำงานกับคนต่างวัยราบรื่น
ถามนักแสดงรุ่นใหม่อย่าง ก้าวหน้า ตังตัง และปอนด์ ว่า มีหลักการ หรือมีประโยคใด ที่ยึดไว้ใช้เพื่อให้การทำงานกับผู้อื่นเป็นไปอย่างราบรื่นบ้าง ซึ่ง ก้าวหน้า บอกว่า เขาใช้คำว่า สัมมาคารวะ
“ผมรู้สึกว่า การมีมารยาทและกาลเทศะ น่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญในสังคมนี้ อย่างเวลาเจอพี่ ๆ นักแสดงครั้งแรก เราก็เกร็งๆ นะครับ แต่เราก็เข้าไปด้วยความนอบน้อม รู้จักผู้ใหญ่ รู้จักเด็ก หลังจากนั้นเราก็เริ่มค่อยๆ สนิทกันมากขึ้น พูดคุยกันมากขึ้น ทำให้การทำงานราบรื่นยิ่งขึ้น”
“ตังตัง ใช้คำว่า น่ารัก เพราะเราจะต้องน่ารักกับทุก ๆ คน ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ หรือทีมงาน ซึ่งคำว่าน่ารักของตัง ครอบคลุมหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการมีสัมมาคารวะ รวมทั้งการมีระเบียบวินัย ตรงต่อเวลา ทำการบ้านเรื่องบทมาเสมอ ทุกอย่างเหล่านี้ทำให้เราเป็นคนที่น่ารักในสายตาคนอื่น” ตังตัง ตอบ
“ผมใช้คำว่า เปิดใจ เพราะมีความครอบคลุมมากที่สุด” ปอนด์ ตอบบ้าง “การเปิดใจคือการรับฟังกัน และพยายามทำความเข้าใจกัน อย่างผมร่วมงานกับอาหมู (สมภพ) อาหมูจะชอบเล่าเรื่องสมัยก่อนให้ฟัง หลายเหตุการณ์เป็นสิ่งที่ผมไม่เคยเห็น และอาจจะไม่เข้าใจอย่างแท้จริง อาหมูจะคอยอธิบายให้ฟัง ซึ่งถ้าเราเปิดใจรับฟัง เรื่องเหล่านี้สามารถเป็นประโยชน์กับเราได้ การรับฟังกัน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ไหน ถ้าไม่ได้เปิดใจ ก็ไม่มีบทสนทนาที่จริงใจ”
มุมมองการแก้ปัญหาความต่างระหว่างวัย (Generation Gab)
หนึ่งในปัญหาสังคมปัจจุบัน คือ ความต่างระหว่างวัย กลายเป็นมุมแห่งความขัดแย้งที่ต่อยอดออกไปอีกหลายเรื่อง ถามเหล่านักแสดงทั้ง 5 คนว่า พวกเขามีมุมมอง “ทางออก” ปัญหาเหล่านี้อย่างไร
“ต้องรู้จักปรับตัว” รัดเกล้า บอก “โดยเฉพาะในคนรุ่นเก่า ถ้ามีอัตตาของตัวเอง ยึดเอาแต่สิ่งที่ฉันเป็น ฉันเรียนมา ฉันจะไม่ปรับตัวใด ๆ แม้ว่าโลกจะไปถึงไหน แบบนี้จะอยู่ยาก คือเราเชื่อว่า ที่สุดของชีวิตคนเรา อยากพบกับความสงบสุข ดังนั้น การปรับตัวเอง เปิดใจรับฟังคนอื่น รวมถึงเปิดใจที่จะเปลี่ยนตัวเอง จะเป็นส่วนสำคัญให้เราพบกับความสุขในบั้นปลายชีวิต”
“ในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่ อยากให้ทุกคนคุยกันเยอะ ๆ ฟังกันเยอะๆ” ก้าวหน้า ตอบบ้าง “แล้วฟังด้วยใจ เปิดใจ ขอให้มี empathy หรือคิดถึงใจเขาใจเราด้วย ผมรู้สึกว่าความรักและความเข้าใจกัน เป็นสิ่งสำคัญมาก และจำให้ปัญหาระหว่างวัยลดน้อยลง”
“เราต้องใช้ใจฟังจริง ๆ นะคะ” ตังตัง ช่วยเสริม “คนรุ่นเก่า บางคน-บางที เขาอาจมีวิธีการแสดงออกที่ตรงข้ามกัน คือรักแหละ แต่ว่าการกระทำอาจจะด่า อาจจะว่า ทำไมทำอย่างนั้น ทำไมไม่ทำอย่างนี้ แต่ถ้าเราตั้งใจฟังจริง ๆ คือเขาหวังดี เขาอยากให้เราทำแบบนี้ เพื่ออนาคต ดังนั้น ในมุมของเด็กรุ่นใหม่ เราอาจจะต้อง เปิดใจให้กว้าง และตั้งใจฟังจริง ๆ ต้องวางอารมณ์ต่าง ๆ ลง มาดูแก่นจริง ๆ ว่า ที่เขาทำแบบนั้น เพราะอะไร”
“ทั้งหมดที่ทุกคนพูดมา ผมว่าดีหมด แต่ต้องใช้เวลา มันอาจจะไม่ได้ทำภายในวันนี้ พรุ่งนี้ หรือว่าเปลี่ยนได้ทันที แต่มันคือการฝึกฝน ลองเปิดใจ ลองรับฟัง ผมเชื่อว่าทุกคนมีเหตุผลของตัวเองทั้งนั้น เราควรเปิดใจรับฟัง เพื่อที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข” ปอนด์ บอกปิดท้าย
ชวนชมละคร “รถรางเที่ยวสุดท้าย” สร้างความเข้าใจในคนต่างวัย
ละคร “รถรางเที่ยวสุดท้าย” เป็นภาพสะท้อนของการพยายามสร้างความเข้าใจของคนต่างวัย ซึ่งเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดออกมาจากเหล่าตัวละคร จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนในสังคม ได้หันมาร่วมมือกันหา “คำตอบ” เพื่อเป็น “ทางออก” ไปสู่การอยู่ร่วมกันที่ดียิ่งขึ้น
“อยากให้คนทุกวัยมาดู เพราะว่าตัวเรื่องราว หลักๆ จะบอกถึง Generation Gab หรือว่าความแตกต่างทางความคิดระหว่างวัย เพราะฉะนั้น ถ้าเราพาคุณพ่อ คุณแม่ คุณป้า หรือญาติ ๆ มาดูเรื่องนี้ จะทำ ให้เข้าใจกันมากขึ้น” ตังตัง บอก
“ผมว่าเป็นละครที่เข้ากับสังคมปัจจุบัน และมีประโยชน์มาก อีกอย่างที่อยากบอกคือ ความจริงทุกคนไม่มีใครรู้ว่า รถรางเที่ยวไหนจะเป็นเที่ยวสุดท้ายของชีวิต แต่ถ้าเรารู้ เราสามารถวางแผนชีวิตไว้ล่วงหน้าได้ แล้วพอถึงบั้นปลายชีวิต คุณจะไม่ลำบาก แต่ถ้าคุณไม่เตรียมตัวอะไรเลย คุณปล่อยไปวัน ๆ พออายุมากขึ้น แล้วเกิดปัญหาอะไรขึ้น คุณจะแก้ลำบาก เตรียมตัวไว้ให้พร้อมสำหรับรถรางเที่ยวสุดท้ายครับ” สมภพ พูดปิดท้าย
รู้จักละคร “รถรางเที่ยวสุดท้าย”
- แนว : ดรามา
- บทประพันธ์โดย : สมเกียรติ วิทุรานิช
- บทโทรทัศน์โดย : สมเกียรติ วิทุรานิช
- ผลิตโดย : ไทยพีบีเอส ร่วมกับ บ.สตาร์ฟีนิกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด
- นักแสดงนำ : กิตติภัทร แก้วเจริญ, พลวิชญ์ เกตุประภากร, นัฐรุจี วิศวนารถ, นิรุตติ์ ศิริจรรยา, รัดเกล้า อามระดิษ, สมภพ เบญจาธิกุล
เรื่องย่อ
นที เด็กหนุ่มวัย 27 กำลังตามหาความฝันที่อยากจะเป็นคนเขียนบทภาพยนตร์ เขาได้ชวน ภารดร เพื่อนสนิทวัยเดียวกันให้มาร่วมเขียนบทด้วยกัน นทีได้แรงบันดาลใจการเขียนบทมาจากบทกลอนที่แขวนเรียงรายอยู่ในร้านอาหารที่ชื่อ รถราง บทกลอนเหล่านี้เขียนขึ้นโดยเจ้าของร้านที่ชื่อ อารักษ์
เมื่อนทีได้ทำความรู้จักกับอารักษ์มากขึ้นก็ทำให้ล่วงรู้เรื่องราวส่วนตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน พวกเขารับรู้ว่ารักแรกของอารักษ์นั้นเริ่มต้นขึ้นในวันที่รถรางวิ่งเป็นวันสุดท้าย บนรกรางเที่ยวสุดท้ายวันนั้น อารักษ์และเพื่อนสนิทที่ชื่อ บริพัตร และพวกเขาทั้งสองกลับตกหลุมรักหญิงสาวคนเดียวกันที่ชื่อ มุกดา หลังจากวันนั้นเรื่องราวรักสามเส้าก็ได้เริ่มต้นขึ้น
บทหนังที่เป็นรักสามเส้าเหมือนถูกทับซ้อนด้วยเรื่องจริงของนที ภราดร และ ซอแก้ว เพราะซอแก้วหลงรักนที และภารดรหลงรักซอแก้ว แต่นทีไม่ได้คิดกับซอแก้วอย่างแฟนสาว แม่ของซอแก้วชื่อ บุหงา เป็นแม่ครัวของร้านอาหารรถราง และเป็นเมียคนที่สองของอารักษ์ที่ไม่ได้มีการจดทะเบียนสมรส หรือพิธีแต่งงานแต่อย่างไร ซอแก้วไม่ชอบอารักษ์ และไม่ยอมเรียกเขาว่าพ่อ เธอหาทางที่จะพาแม่ออกไปจากชีวิตของอารักษ์ตลอดเวลา
รวมถึงการเปลี่ยนช่วงเวลาของร้านอาหารที่ก้าวเข้าสู่ยุคปัจจุบัน ปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นทับซ้อนกันระหว่างช่วงรอยต่อของคนรุ่นเก่า และคนรุ่นใหม่ ทุกคนรอบตัวอารักษ์ต้องมีส่วนร่วมในการสร้างร้านนี้ขึ้นมาใหม่ แต่อารักษ์ยังลังเลที่จะให้คนรุ่นลูก ๆ มีส่วนร่วมในการบูรณะร้านรถรางแห่งนี้
ทุกคนล้วนต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเอง อารักษ์ต้องยอมรับความจริง และยังต้องยอมรับด้วยว่าอดีตก็ไม่ได้มีแต่เรื่องงดงามอย่างที่อารักษ์ต้องการให้นทีและภราดรเขียนไว้ในบทภาพยนตร์
ติดตามชมละครรถรางเที่ยวสุดท้าย ได้ทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เวลา 20.30 น.
- ทาง Thai PBS ช่องหมายเลข 3
- รับชมอีกครั้งได้ที่ www.thaipbs.or.th/program/OnceUponATime/episodes/99906 และ www.VIPA.me
- รวมทั้งติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมของละครได้ทาง www.thaipbs.or.th/OnceUponATime
[Official Trailer] ละครเรื่อง รถรางเที่ยวสุดท้าย
[MV] เพลง คือชีวิต | เพลงประกอบละครเรื่อง รถรางเที่ยวสุดท้าย
คุยกับ 5 นักแสดงจากเรื่อง "รถรางเที่ยวสุดท้าย" | ละคร รถรางเที่ยวสุดท้าย