ในช่วงเวลาที่เราเริ่มคุ้นหูกับคำว่า “Work Life Balance” (เวิร์ก-ไลฟ์ บาลานซ์), “Burnout” (เบิร์นเอาท์) และกระแสการเคลื่อนไหวเรียกร้องความเท่าเทียมด้านแรงงาน ความยุติธรรมในการจ้างงาน การตั้งสหภาพคนทำงาน ฯลฯ ต้องถือว่าสารคดีสัญชาติอิตาลีเรื่องนี้มาถูกที่ ถูกเวลาจริง ๆ
เอริก กันดีนี ผู้กำกับ After Work ชวนเรามาทบทวนความหมายของคำว่า “จริยธรรมในการทำงาน” ซึ่งดูเหมือนจะเป็นคำนามที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อโน้มน้าวให้มนุษย์เกิดความเชื่ออย่างหมดจิตหมดใจมาหลายร้อยปีว่า “ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน” และการไม่ทำงานถือเป็นความล้มเหลวของชีวิตชนิดที่ไม่น่าให้อภัย โดยกันดีนีเดินทางไปสำรวจวิถีการทำงานในหลายประเทศ ทั้งอิตาลี คูเวต สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ พูดคุยกับนักวิชาการ ผู้ประกอบการ คนทำงาน และคนทั่วไปเพื่อหาคำตอบว่า ตกลงแล้วเราควรถือเอาการทำงานเป็นสรณะของชีวิตจริงหรือเปล่า
ตัวอย่างประเทศที่ยึดมั่นแบบนั้นจริงจังสุดขีดก็คือ เกาหลีใต้ ซึ่งเลื่องชื่อด้านการมีวัฒนธรรมการทำงานหนักและทำงานล่วงเวลามายาวนาน มีผลสำรวจอันน่าตกใจเผยว่า พนักงานภาครัฐของกรุงโซลทำงานเฉลี่ย 2,739 ชั่วโมงต่อปี ซึ่งมากกว่าพนักงานในประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ เกือบ 1,000 ชั่วโมง !
ได้ยินแล้วเราอาจคิดว่าก็เพราะแบบนี้นี่แหละ พวกเขาถึงเจริญก้าวหน้าเร็วนัก ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความจริง แต่อีกด้านหนึ่ง ภาระงานที่หนักหน่วงก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวเกาหลีใต้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นระดับความเครียดที่สูง ภาวะหมดไฟที่แพร่หลาย และการเสื่อมลงอย่างเห็นได้ชัดของสุขภาพกายสุขภาพจิต นอกจากนั้นชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเกินไปยังทำให้ประชาชนเหลือเวลาแค่เล็กน้อยสำหรับเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัว การแต่งงาน และการเลี้ยงดูลูก จนส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ให้เกาหลีใต้มีอัตราการเกิดต่ำ และมีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น นำมาสู่คำถามเกี่ยวกับความยั่งยืนในอนาคตของแรงงานและเศรษฐกิจของประเทศ
ถ้าใครยังนึกภาพไม่ออกว่าการทำงานหนักเกินไปถือเป็นปัญหาร้ายแรงขนาดไหน ก็ให้นึกว่ามันน่าเป็นห่วงขนาดที่เมื่อ 5 ปีก่อน รัฐบาลกรุงโซลถึงกับออกคำสั่งว่า ทุกวันศุกร์เย็นต้องทำการ “ปิดคอมพิวเตอร์ทั้งหมดของรัฐบาล” เพื่อบังคับให้พนักงานหยุดทำงานแล้วยอมกลับบ้านไปซะ !
แม้แผนอันเหี้ยมหาญคราวนั้นจะไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่ เพราะบรรดาพนักงานรัฐเกือบ 62% ยืนยันว่าพี่ไม่ได้มาเล่น ๆ แล้วรวมตัวกันเรียกร้อง ไม่ยอมให้คอมพิวเตอร์โดนปิดเพื่อที่จะได้ทำงานต่อได้ แต่ก็ใช่ว่าวัฒนธรรมอันฝังรากลึกจะไม่สามารถถูกเปลี่ยนแปลงได้เลย เมื่อรัฐบาลปัจจุบันของประธานาธิบดี ยุน ซ็อก-ย็อล ประกาศเอาใจคนขยันด้วยการสั่งเพิ่มจำนวนชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์จาก 52 เป็น 69 ชั่วโมง คราวนี้แทนที่จะได้รับการสนับสนุน พวกเขากลับต้องเผชิญการต่อต้านครั้งใหญ่โดยเฉพาะจากกลุ่มคนหนุ่มสาวรุ่น Z ซึ่งเป็นรุ่นที่เริ่มเกิดความคลางแคลงใจว่า การเสียสละตัวเอง เพื่องานนั้นเป็นการกระทำที่มีคุณค่าจริงหรือ ?
คำถามสำคัญที่คนรุ่น Z มีก็คือ “งาน” ในรูปแบบที่เป็นอยู่นั้น เป็นเครื่องมือสร้างความหมายให้ชีวิต หรือแท้จริงแล้ว เป็นพันธนาการที่ควรหนีไปให้พ้นกันแน่ คนรุ่นพ่อแม่อาจยินดีกับการรับค่าแรงเพียงเล็กน้อย แลกกับการได้ทำงานรับใช้องค์กรใหญ่โตมีชื่อเสียง แต่คนรุ่นปัจจุบันมาพร้อมแนวคิดในการเรียกร้องสิทธิและค่าตอบแทนที่สูงขึ้น นอกจากนั้นพวกเขายังเริ่มลังเลที่จะทำงานในองค์กรแห่งเดียวนาน ๆ และเริ่มคิดเรื่องการเปลี่ยนงานบ่อย ๆ, คนหนุ่มสาวจำนวนมากไม่สนใจการทำงานเพื่อไต่เต้าไปสู่ตำแหน่งสูง และเริ่มไม่ยินดีกับการปิดปากเงียบอีกต่อไปหากพบล่วงละเมิดรูปแบบต่าง ๆ ในที่ทำงาน
เกาหลีใต้ไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่สังคมแรงงานเริ่มสั่นคลอน ถึงระดับที่รัฐต้องพยายามหามาตรการมากระตุ้น เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างงานกับชีวิตของประชากรมากขึ้น ในญี่ปุ่นมีการทดลองใช้นโยบายลดชั่วโมงทำงานในวันศุกร์ ส่วนออสเตรเลียกับสหราชอาณาจักรมีการพิจารณาลดเวลาทำงานเหลือสัปดาห์ละ 4 วัน และหลาย ๆ องค์กรในประเทศต่าง ๆ ก็มีการใช้นโยบายหลากหลาย เช่น จัดตารางการทำงานให้ยืดหยุ่นขึ้น ทำงานทางไกล เปิดโอกาสให้พ่อและแม่ลางานไปเลี้ยงลูกได้นาน ๆ รวมถึงมีการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมการทำงานที่ส่งเสริมด้านสุขภาพมากขึ้น
คำพูดหนึ่งที่น่าขบคิดมาก ๆ ในสารคดี After Work คือคำพูดของ เอลิซาเบท เอส แอนเดอร์สัน นักปรัชญา ที่ว่ามนุษย์ยุคหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้นถูกทำให้เกิดอาการ “เสพติดการทำงาน” จนคิดว่างานกับชีวิต คือสองสิ่งที่ต้องผูกติดกันไปจนวันตาย แต่ “แท้จริงแล้วเราคิดใหม่ได้ เราประเมินคุณค่าใหม่ได้ เราจินตนาการใหม่ได้ว่าชีวิตที่ดีควรเป็นอย่างไร และงานควรมีบทบาทอย่างไรในชีวิตดี ๆ แบบนั้น
...ทุกคนควรมีโอกาสได้พักผ่อนหย่อนใจ แทนที่จะเป็นสังคมเน้นการทำงาน เราควรมีสังคมที่เน้นการพักผ่อน ชื่นชมศิลปะ อ่านหนังสือเพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็น ออกไปเที่ยวเล่น หาความสนุกสนาน มีความสุขกับคนรู้ใจ”
ชีวิตเช่นนี้ หากเอ่ยกับใครว่าเป็นสิ่งที่เราอยากมี ในอดีตเราอาจถูกมองอย่างเย้ยหยันโทษฐานไม่รู้จักคิดเรื่องการทำมาหากิน หรือถูกค่อนแคะว่าแล้วประเทศจะเจริญได้อย่างไร แต่ในปัจจุบันเราอาจควรตั้งคำถามกลับว่า แล้วจะถือว่าประเทศชาติเจริญได้อย่างไร หากประชาชนไม่สามารถมีวิถีชีวิตแบบนั้น ?
💻ออกไปสำรวจวัฒนธรรมการทำงานของประเทศต่าง ๆ เพื่อสะท้อนหาคำตอบของความหมายของคำว่า “ชีวิต” ในสารคดี After Work ทาง www.VIPA.me หรือ VIPA Application
“ Secret Story ” คอลัมน์จาก VIPA ที่มาพร้อมเรื่องราวเจาะลึก มุมมองในมิติที่คุณอาจไม่เคยรู้ ทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลังของผลงานสารคดีคุณภาพ ที่เราไม่อยากให้คุณพลาดใน www.VIPA.me