จากกระแสดาราสาวชาวจีน “จวี จิ้งอี” โพสต์ภาพมาเที่ยวประเทศไทยและสวมชุดนักเรียนไทย จนกลายเป็นไวรัลโซเชียล นักท่องเที่ยวชาวจีนแห่เลียนแบบ บุกย่าน “บางลำพู” กันอย่างคึกคัก #ThaiPBS จึงขอพาไปรู้จักสถานที่ท่องเที่ยวในย่านเก่าแก่นี้ แล้วคุณจะเผลอใจหลงรัก “บางลำพู”
อ่านข่าว : ส่องสาวจีนฮิตแต่ง "ชุดนักเรียนไทย" กลายเป็นไวรัลโซเชียล
https://www.thaipbs.or.th/news/content/325312
ทำความรู้จัก “บางลำพู”
จากข้อมูล “ศูนย์ข้อมูลกรุงรัตนโกสินทร์” ระบุว่า สมัยก่อนยังเป็นทุ่งนาวัดชนะสงคราม มีชื่อเก่าว่า “วัดกลางนา” ซึ่งเรียกตามสภาพที่เป็นวัดอยู่กลางทุ่งกลางนา โดยมีอีกชื่อเรียกก็คือ “วัดตองปุ” ต่อมารัชกาลที่ 1 พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดชนะสงคราม” ส่วนเหตุที่เรียกว่า ตำบลบางลำพู (เดิมเขียนบางลำภู) สันนิษฐานว่า เนื่องจากย่านนี้มี “ต้นลำพู” จำนวนมาก โดยในหนังสือนิราศโบราณมักจะกล่าวถึงต้นลำพู แม้แต่วัดสังเวชวิศยารามวรวิหารก็มีชื่อเดิมว่า “วัดบางลำพู” มาก่อน
โดยบางลำพูเริ่มเจริญหลังจากตัดถนนจักรพงษ์ต่อจากถนนเจ้าฟ้าขึ้นไปถึงสะพานนรรัตน์สถาน และตัดถนนสามเสนต่อจากสะพานนรรัตน์สถานขึ้นไปจนถึงถนนนครไชยศรี ทำให้มีบ้านเรือนสองฝั่งถนนมากขึ้น และเมื่อมีผู้คนก็มีตลาดตามมา ซึ่งมีชื่อเรียกกันว่า ตลาดบางลำพูหรือตลาดยอด ย่านบางลำพูนี้เข้าใจว่า ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นในตอนต้นรัชกาลที่ 5 เนื่องจากเกิดเพลิงไหม้บางลำพูเสียหายมากมาย ปรากฏตามจดหมายเหตุของพระยาทิพโกษา (สอน)
ย่านบางลำพู..ในปัจจุบัน
ปัจจุบันย่านบางลำพูเป็นศูนย์กลางการค้าหลายชนิด เช่น ผ้า เสื้อผ้า อาหาร โดยมีร้านค้าตั้งอยู่ในอาคารตึกเก่าบางลำพู และร้านค้าตั้งอยู่ริมถนนสิบสามห้าง ถนนบวรนิเวศ ถนนสามเสน และถนนจักรพงษ์ นอกจากนี้ย่านบางลำพูยังมีชุมชนดนตรีไทยชาวบ้านที่เก่ากว่าร้อยปี เป็นแหล่งเรียนบรรเลงดนตรี ขับร้อง การแสดง การละเล่น และการประดิษฐ์เครื่องดนตรีไทย รวมทั้งสถานที่นัดพบในการทำกิจกรรมและฝึกซ้อมดนตรีไทยของกลุ่มนักดนตรีที่มีชื่อเสียงเช่น เขียววิจิตร ดุริยพันธุ์
ไปเที่ยวไหนดี ? เมื่อมาที่ “บางลำพู”
นอกจากความสวยงามของตึกแถวและอาคารเก่าแก่ย่านพระนครแล้ว ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกเพียบ พร้อมแล้วตามมาดูกันได้เลย
พิพิธบางลำพู
แหล่งท่องเที่ยวบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ และศูนย์การเรียนรู้เชิงการศึกษาวัฒนธรรมชุมชน เป็นพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ซึ่งประยุกต์การแสดงวัตถุและการเล่าเรื่องเชิงประวัติศาสตร์ เข้ากับการแสดงวิถีชุมชนบางลำพูเดิมอย่างน่าสนใจ
วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวิหาร สถาปัตยกรรมแบบไทยผสมจีนเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ขณะทรงผนวชในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 7 และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9
สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดนี้ ได้แก่ พระอุโบสถ สร้างตามแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 มีมุขหน้ายื่นออกมาเป็นพระอุโบสถ และมีปีกยื่นออกซ้ายขวา เป็นวิหารมุขหน้าที่เป็นพระอุโบสถ มีเสาเหลี่ยมมีพาไลรอบซุ้มประตูและหน้าต่าง หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้น สถานที่แห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ 2 องค์ ซึ่งเป็นพระประธาน คือ พระพุทธสุวรรณเขต (หลวงพ่อโต) ที่อัญเชิญมาจากวัดสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี และพระพุทธชินสีห์ อัญเชิญมาจากวิหารทิศเหนือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก พระประธานในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหารเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงเคยผนวช ณ วัดแห่งนี้
วัดปรินายกวรวิหาร
เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร โดยในอดีตวัดปรินายกเป็นวัดขนาดใหญ่มาก่อน อาณาเขตวัดเดิม ทิศใต้จรดคลองบางลำพู ทิศตะวันออกจรดถนนหลานหลวงตรงข้ามป้อมมหากาฬเชิงสะพานผ่านฟ้า ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) โดยเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สร้าง “วัดพรหมสุรินทร์” (ชื่อเก่าของวัดปรินายก) หลังจากทำศึกสงครามกับญวน และได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาบดินทร์เดชาในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้สร้างถาวรวัตถุเพิ่มเติมขึ้นอีก แต่ยังไม่เสร็จก็ถึงแก่อสัญกรรม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) โปรดเกล้าฯ รับวัดพรหมสุรินทร์ไว้เป็นพระอารามหลวง โปรดฯ ให้หล่อพระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถ
ป้อมพระสุเมรุ
สร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งเป็น 1 ใน 14 ป้อมปราการที่สร้างพร้อมกับกำแพงพระนคร มีความสำคัญในฐานะแนวปราการป้องกันพระนคร และเป็น 1 ใน 2 ป้อมที่ยังคงเหลืออยู่ในปัจจุบัน
ป้อมมหากาฬ
เป็นป้อมปราการซึ่งยังคงสภาพสวยงามสมบูรณ์ ท่ามกลางภูมิทัศน์ของสวนสวย ล้อมรอบด้วยแนวกำแพงเมืองเป็นแนวยาวตามถนนมหาไชย ป้อมแห่งนี้สร้างขึ้นพร้อมกับอีก 14 ป้อมในสมัยรัชกาลที่ 1 และถือเป็น 1 ใน 2 ป้อมของฝั่งพระนครที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน โดยป้อมมหากาฬตั้งอยู่ริมถนนมหาไชย อยู่ติดกับสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ วัดราชนัดดารามฯ วัดเทพธิดารามฯ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สะพานผ่านฟ้าลีลาศ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วัดสระเกศฯ เป็นต้น
มัสยิดจักรพงษ์
ด้วยความที่ย่านบางลำพูมีชุมชนมุสลิมเก่าแก่ชุมชนหนึ่งก่อตั้งขึ้น ตั้งแต่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์นามว่า “ชุมชนตรอกสุเหร่า” โดยคนในชุมชนส่วนใหญ่นั้นอพยพมาจากทางภาคใต้ของไทย มีความรู้ด้านการทำทองติดตัวมา จึงทำให้ชุมชนนี้เป็นแหล่งรวมช่างฝีมือที่สำคัญมาตั้งแต่อดีต และเป็นชุมชนชาวมุสลิมมีที่บทบาทสำคัญในด้านช่างฝีมือของกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมัสยิดถือเป็นสถานที่สำคัญของชาวมุสลิม คนในชุมชนตรอกสุเหร่าจึงได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างมัสยิดจักรพงษ์ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางของชุมชน ทั้งในด้านศาสนา และการดำเนินชีวิต
ถนนข้าวสาร
แหล่งท่องเที่ยว - ที่พักราคาประหยัดยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และเป็นจุดนัดพบของนักเดินทางจากทั่วโลก เดิมทีบริเวณนี้เป็นย่านการค้าขายข้าวสารที่รุ่งเรืองมากในสมัยรัชกาลที่ 6 แต่ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินิยมมาเยือนมากที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะบริเวณถนนข้าวสาร (Khao San Road) มีที่พักประเภทเกสต์เฮาส์จำนวนมาก จึงสะดวกเรื่องที่พัก ขณะที่ทำเลก็ถือว่าดีมาก เนื่องจากอยู่ใจกลางเมือง และใกล้สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่ง
สวนสันติชัยปราการ
ชื่อสวนมีความหมายว่า “มีประการที่เป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะของสันติภาพ” เป็นสวนสาธารณะระดับชุมชนเมือง สร้างบนพื้นที่ประมาณ 8 ไร่เศษบริเวณโดยรอบป้อมพระสุเมรุ ซึ่งตั้งอยู่ที่ช่วงปลายถนนพระอาทิตย์ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาตรงปากคลองบางลำพู โดยสวนแห่งนี้สร้างขึ้นเนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (ณ ขณะนั้น) เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), ศูนย์ข้อมูลกรุงรัตนโกสินทร์, พิพิธบางลำพู