12 กุมภาพันธ์ 2455 หรือเมื่อ 112 ปี จักรพรรดิปูยี สละราชสมบัติ สู่การล่มสลายของราชวงศ์ชิง อวสานราชาธิปไตยในจีน
ปี 2451 พระนางซูสีไทเฮา แห่งราชวงศ์ชิง ผู้ถือครองอำนาจมายาวนาน ได้เลือกองค์ชายน้อย พระนามเต็มว่า อ้ายซินเจียหลัวปูยี ซึ่งมีพระชนมายุเพียง 2 ชันษา ขึ้นสู่บัลลังก์เป็นจักรพรรดิ แต่ไม่นานหลังจากนั้นพระนางก็ประชวรหนักและสวรรคตไป
จีนภายใต้การปกครองของราชวงศ์ชิงที่อ่อนแออยู่ ยิ่งเสื่อมโทรมลง จักรพรรดิปูยี ที่ยังไร้เดียงสา ใช้ชีวิตอยู่ในพระราชวังต้องห้าม ในขณะที่บ้านเมืองภายนอกกำแพงพระราชวัง ระบบจักรพรรดิกำลังค่อย ๆ สั่นคลอน
12 กุมภาพันธ์ ปี 2455 เพียง 3 ปี บนราชบัลลังก์ จักรพรรดิปูยี ต้องสละราชสมบัติ เนื่องจากเกิดการปฏิวัติโดยฝ่ายสาธารณรัฐนิยม หรือ สมาคมพันธมิตรปฏิวัติจีน นำโดย ซุน ยัดเซ็น ซึ่งกล่าวหาว่า ผู้สำเร็จราชการแทนจักรพรรดิปูยี ละเลยการบริหารบ้านเมือง ทำให้ประเทศตกอยู่ในความระส่ำระสาย
ระยะแรกหลังจากสละราชสมบัติ "จักรพรรดิปูยี" ยังได้รับอนุญาตให้อยู่ในพระราชวังต้องห้ามด้านเหนือและพระราชวังฤดูร้อน พร้อมรับเบี้ยราชวงศ์ ปีละ 4 ล้านเหรียญ แต่ถูกยกเลิกในเวลาไม่นานหลังจากนั้น ต่อมาพระองค์ถูกขับไล่ออกจากพระราชวังต้องห้าม ทำให้ต้องเดินทางไปยังเขตปกครองเทียนจิน ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ภายในปกครองของกองทัพญี่ปุ่น
ในปี 2475 อดีตจักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ชิง ได้กลับขึ้นครองราชย์อีกครั้ง ในฐานะประมุข (แต่เพียงในนาม) แห่ง "แมนจูกัว" เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ภายใต้การสนับสนุนของกองทัพญี่ปุ่น
แม้ว่าปูยีจะดำรงเป็นประมุขของประเทศ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปูยี แทบจะไม่มีอำนาจในการบริหารใด ๆ ในแมนจูกัวนี้เลย เพราะทุกสิ่งทุกอย่างภายในประเทศแมนจูกัวแห่งนี้ ล้วนตกอยู่ภายใต้อำนาจของญี่ปุ่นทั้งสิ้น
รัฐบาลแมนจูกัวถูกล้มล้างใน ปี 2488 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ของจักรวรรดิญี่ปุ่น ดินแดนซึ่งประเทศแมนจูกัว ได้ประกาศอ้างสิทธิ์อย่างเป็นทางการนั้น ถูกยึดครองโดยสหภาพโซเวียต "ปูยี" ก็หมดอำนาจและถูกกองทัพแดงแห่งสหภาพโซเวียตจับกุม ขณะพยายามหลบหนีไปยังประเทศญี่ปุ่น ปูยีกลายเป็นเชลยศึกที่ถูกคุมขังและหมดสิ้นยศฐาบรรดาศักดิ์
ปี 2492 ปูยี ถูกปล่อยตัวกลับประเทศจีน เนื่องจาก "สตาลิน" ต้องการกระชับความสัมพันธ์กับจีน จึงปลดปล่อยเชลยศึกรวมถึงปูยีด้วย ซึ่งในขณะนั้น จีนอยู่ภายใต้การปกครองของ "เหมา เจ๋อตง"
ปูยี ถูกจองจำอยู่ในเรือนจำปรับทัศนคติของพรรคคอมมิวนิสต์อยู่นานถึง 9 ปี พร้อมกับต้องทำงานใช้แรงงานอย่างหนัก
ปี 2502 ปูยี ก็ได้รับการปลดปล่อยจากเรือนจำในที่สุด แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังต้องใช้ชีวิตรันทดไร้อิสรภาพเช่นเดิม เพราะนอกจากจะต้องประกาศตัวเป็นคอมมิวนิสต์ เพื่อแสดงถึงการปราชัยของจักรพรรดิจีนต่อระบอบคอมมิวนิสต์แล้ว เขายังถูกส่งตัวไปทำงานเป็นคนสวน ในสถาบันพฤกษศาสตร์
ต่อมานายปูยี ได้รับอนุญาตให้เขียนหนังสือชีวประวัติของตัวเองชื่อ ว๋อเต๋อเฉียน ปานเชิง แปลภาษาไทยชื่อ "ครึ่งหนึ่งของชีวิตข้าพเจ้า" พร้อมทำงานเป็นบรรณาธิการ แผนกวรรณกรรม ของสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งชาติ และใช้ชีวิตบั้นปลายเรียบง่ายเยี่ยงสามัญชน
ปี 2510 ปูยี ในวัย 61 ปี เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในไต และโรคหัวใจล้มเหลว การเดินทางของชีวิตที่ไม่ได้เลือกเองตั้งแต่เกิดจนวาระสุดท้ายของเขา แม้จะจากไปอย่างปุถุชน แต่อัฐิของปูยี ก็ถูกนำไปจัดเก็บในสุสานปฏิวัติปาเป่าซาน ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในฐานะจักรพรรดิองค์สุดท้าย แห่งราชวงศ์ชิง และอวสานระบอบราชาธิปไตย อันมีรากฐานยาวนานมาหลายพันปี