ภาพน้ำแข็งที่กำลังละลายอย่างรวดเร็ว และภาพหมีขั้วโลกที่เริ่มซูบผอมขณะดิ้นรนรักษาชีวิต คงเป็นสองภาพที่เราจะนึกถึงเป็นลำดับต้น ๆ เมื่อได้ยินคำว่า “อาร์กติก” บวกคำว่า “ความเปลี่ยนแปลง” ...ซึ่งก็ใช่ บ้านของหมีขั้วโลกที่ปกคลุมไปด้วยหิมะและอยู่อย่างเงียบสงบตลอดมานั้นกำลังตกอยู่ในสภาพวิกฤติเพราะฤทธิ์ของภาวะโลกร้อนอันร้ายกาจ
แต่ผลงานจากน้ำมือมนุษย์ไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้...
ในสารคดี Operation Arctic ท่องแดนอาร์กติก สามผู้ดำเนินรายการคือ กอร์ดอน บูคาแนน, เคต ฮัมเบิล และ ไซมอน รีฟ รับหน้าที่เดินทางไปสำรวจหลากหลายพื้นที่ของอาร์กติกพร้อม ๆ กับสังเกตความเป็นอยู่ของเหล่าหมีขั้วโลก ตั้งแต่ที่อ่าวฮัดสัน ซึ่งพวกมันเฝ้ารอการมาถึงของฤดูหนาวไปยังเมืองเชอร์ชิลล์ ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงของหมีขั้วโลก และเข้าสู่กรีนแลนด์ อันเป็นสถานที่ที่บทความนี้จะขอพูดถึงเป็นพิเศษ
ความน่าสนใจของกรีนแลนด์อยู่ตรงที่ด้านหนึ่งมันมีความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ และอีกด้าน ชั้นใต้ดินของมันก็เต็มไปด้วยแร่ธาตุล้ำค่า ไม่ว่าจะเป็นแร่ธาตุหายาก โลหะ อัญมณี ถ่านหิน ทองคำ เงิน ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี แร่ดินดำ ไครโอไลต์ และยูเรเนียม กรีนแลนด์จึงเป็นประเทศเหมืองแร่มาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 17 และอุตสาหกรรมเหมืองแร่ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลทุกยุคพยายามพัฒนาส่งเสริม เนื่องจากเป็นแหล่งสร้างเศรษฐกิจหลัก โดยในเวลาเดียวกันนั้นพวกเขาก็ต้องเผชิญแรงกดดันในการพยายามผลักดันนโยบายเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมไปด้วย
ที่ผ่านมากรีนแลนด์อาจได้ชื่อว่ามีการทำเหมืองอย่างระมัดระวัง ยึดหลักความเชี่ยวชาญและการรักษาสภาพธรรมชาติ อันเป็นหัวใจสำคัญของดินแดนไว้ได้ แต่ปัญหาดูเหมือนจะปะทุหนักขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี ค.ศ. 2013 เป็นต้นมา เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนนโยบายการทำเหมืองอย่างเป็นทางการ โดยเปิดทางให้มีการสกัดยูเรเนียมและแร่กัมมันตรังสีอื่น ๆ ได้
ซ้ำร้าย เมื่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจนน้ำแข็งละลายนั้นส่งผลให้เกิดการเปิดทางน้ำและการเผยตัวของทรัพยากรแร่ธาตุอีกจำนวนมหาศาลที่ยังไม่เคยถูกสำรวจ การถาโถมเข้ามาของนักลงทุนและความขัดแย้งกับชุมชนตลอดจนสิ่งแวดล้อมก็เริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
สำนักข่าวหลายสำนักเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นในกรีนแลนด์ช่วงหลายปีมานี้ว่า “ปรากฏการณ์ตื่นทองยุคใหม่” เพราะผู้คนมากมายจากประเทศมหาอำนาจต่างจับจ้องหาช่องทางเข้าไป “ขุดทอง” -หรือในกรณีนี้คือแย่งชิงทรัพยากรแร่- ในกรีนแลนด์กันอย่างครึกโครม ดังที่หลายคนคงเคยได้ยินข่าว โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศอยากซื้อเกาะนี้, ข่าวบริษัทจากจีนเข้าไปทำเหมืองแร่กันเป็นล่ำเป็นสัน หรือข่าวโครงการดิสโก-นูสซวก (Disko-Nuussuaq) ซึ่งมีเป้าหมายจะเข้าไปขุดหานิกเกิล ทองแดง แพลทินัม และโคบอลต์ ภายใต้การสนับสนุนของมหาเศรษฐีผู้ทรงอิทธิพลของโลกอย่าง บิล เกตส์ และ เจฟฟ์ เบโซส มาแล้ว
แน่นอนว่าปรากฏการณ์นี้นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์ แม้จะเป็นที่ยอมรับกันว่าอุตสาหกรรมเหมืองและการลงทุนจากต่างชาติเป็นหนทางสำคัญในการทำให้กรีนแลนด์เป็นอิสระทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อสภาพแวดล้อมกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างน่าเป็นห่วง คำถามเรื่องความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมจึงต้องดังตามมา ไม่เพียงเท่านั้น ชุมชนท้องถิ่นหลายแห่ง เช่น นาร์ซัค ซึ่งมีประชากรชาวอินูอิตจำนวนมากอาศัยอยู่ ก็แสดงความกังวลเกี่ยวกับมลพิษที่อาจเกิดขึ้นจากยูเรเนียมและสารกัมมันตรังสีจากของเสีย เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมประมงที่ก็เริ่มได้รับผลกระทบเมื่อระบบนิเวศที่เคยบริสุทธิ์ของกรีนแลนด์ถูกคุกคาม
ว่ากันว่าน้ำแข็งที่ละลายนั้นเผยให้เห็นทั้งความท้าทายและโอกาส เกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งมีประชากรเพียงครึ่งแสนนิด ๆ แห่งนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป
เป็นสิ่งที่เราต้องให้ความสนใจอย่างใกล้ชิด เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่ามันก็คือภาพฉายให้เห็นอนาคตอันใกล้ของโลกที่กำลังอ่อนแอและบอบบางลงทุกทีของเราใบนี้นั่นเอง
🏔เดินทางไปยังสุดขอบอาร์กติก นอกจากหมีขาวก็ยังเจอผู้คนที่ทำงานในสิ่งแวดล้อมสุดขั้วนี้ กินพื้นที่แปดประเทศ และมหาสมุทรเยือกแข็งหกล้านตารางไมล์ แต่เมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น และน้ำแข็งเริ่มละลายก็กลายเป็นพื้นที่มีค่า
รับชมเรื่องราวเหล่านี้ใน ▶ สารคดี Operation Arctic ท่องแดนอาร์กติก ทาง www.VIPA.me และ VIPA Application
“ Secret Story ” คอลัมน์จาก VIPA ที่มาพร้อมเรื่องราวเจาะลึก มุมมองในมิติที่คุณอาจไม่เคยรู้ ทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลังของผลงานสารคดีคุณภาพ ที่เราไม่อยากให้คุณพลาดใน www.VIPA.me