มะเร็งถือเป็นภัยสุขภาพร้ายแรง ทว่ามีผักพืชอยู่หลายชนิดที่ถือเป็น “อาหารต้านมะเร็ง” ที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งขึ้นได้
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ของทุกปี องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้เป็น “วันมะเร็งโลก” เพื่อให้ผู้คนทั่วโลกได้ตระหนักและเข้าใจถึงโรคร้ายนี้ ถึงตอนนี้มะเร็งก็ยังถือเป็นภัยสุขภาพสำคัญหนึ่ง ตัวเลขสถิติจากทะเบียนมะเร็งประเทศไทย ปี 2565 โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติเผยว่า แต่ละปีไทยจะมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่กว่า 140,000 คน หรือ ประมาณ 400 คนต่อวัน
มะเร็งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยทั้งที่ควบคุมไม่ได้อย่างกรรมพันธุ์ จนถึงควบคุมได้ยากอย่างมลภาวะ ปัจจัยที่เราสามารถควบคุมได้คือการใช้ชีวิตของเราซึ่งรวมไปถึงอาหารการกิน ดังนั้นอาหารจึงถือเป็นปัจจัยที่เราสามารถควบคุมได้ ต่อไปนี้คือ 4 กลุ่มพืช ผัก ผลไม้ที่ช่วยต้านมะเร็ง ปรับเปลี่ยนการรับประทานผัก ผลไม้ ช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งได้
1. ต้านมะเร็งด้วยพืชผัก “กลุ่มใยอาหารสูง”
ใยอาหารมีทั้งแบบละลายน้ำและไม่ละลายน้ำ ใยอาหารแบบไม่ละลายน้ำจะมีส่วนช่วยต้านมะเร็งได้มากกว่า โดยจะเข้าไปทำงานคล้ายไม้กวาดเพื่อช่วยทำความสะอาดลำไส้ของเราได้ พืช ผัก ผลไม้กลุ่มนี้ ได้แก่ กุยช่าย ฝรั่ง ชมพู่ แอปเปิล สับปะรด แตงโม รวมถึงแก้วมังกร
2. ต้านมะเร็งด้วยกลุ่มพืชตระกูลกระหล่ำ
พืชกลุ่มนี้มีสารในกลุ่มอินโดล-ทรี-คาร์บินัล (Indole-3-Carbinol) และซัลโฟราเฟน (Sulforaphane) ซึ่งกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ที่จะช่วยต้านมะเร็งได้ หรือก็คือช่วยกระตุ้นการดีท็อกซ์ในร่างกายเราได้นั่นเอง นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติที่ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนโดยจะเข้ามาขจัดเอสโตรเจนส่วนเกิน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงวัยทองอาจจะต้องมีการเสริมฮอร์โมน ผักตระกูลกระหล่ำ ได้แก่ กระหล่ำปลี กระหล่ำดอก บรอกโคลี คะน้า และ ผักเคล ผักเหล่านี้สามารถนำมาปรุงด้วยการตุ๋น ต้ม หรือผัดได้ เนื่องจากสารอาหารเหล่านี้สามารถทนต่อความร้อน
3. ต้านมะเร็งด้วยพืชผักกลุ่มแคโรทีนอยด์ (carotenoid)
พบมากในพืชผักที่มีสีเหลืองหรือส้ม เช่น แครอท มะละกอ มันม่วง มันเทศ มีคุณสมบัติโดดเด่นในการต้านโรคมะเร็ง โดยมีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันที่ชื่อ Natural killer cell ซึ่งมีหน้าที่ในการกำจัดสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรค และกำจัดเซลล์มะเร็งรวมถึงเซลล์แปลกปลอมทั้งหลายที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
4. ต้านมะเร็งด้วยพืชผักกลุ่มถั่วเหลือง
รวมถึงผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองไม่ว่าจะเป็นนมถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้ เต้าหู้ถั่วเหลือง เหล่ามีคุณสมบัติในการปรับฮอร์โมนเอสโตรเจน ทั้งนี้เราควรเลือกนมถั่วเหลืองสูตร non-gmo ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมได้
การรับประทานอาหารให้ดีต่อสุขภาพยังคงต้องเลือกรับประทานให้หลากหลายด้วย โดยเลือกพืช ผัก ผลไม้ที่รับประทานตามให้มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน เท่านี้คุณก็สุขภาพดีห่างไกลมะเร็งได้เพียงปรับเปลี่ยนการกินเป็นสิ่งมีประโยชน์ที่อยู่ใกล้ตัว
ข้อควรรู้อื่น ๆ เกี่ยวกับโรคมะเร็ง
อ้างอิง
คนสู้โรค : 4 กลุ่มพืชต้านมะเร็ง
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
4 กุมภาพันธ์ “วันมะเร็งโลก” รวมเรื่องน่ารู้และการป้องกันภัยร้าย “โรคมะเร็ง"
รู้สู้โรค : เป็นมะเร็ง อะไรกินได้ อะไรกินไม่ได้ ?