ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Secret Story | Sweet Sensory ไม่ใช่แค่อาหาร แต่คือแรงบันดาลใจสำหรับทุกคน


Lifestyle

23 ม.ค. 67

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

Logo Thai PBS
แชร์

Secret Story | Sweet Sensory ไม่ใช่แค่อาหาร แต่คือแรงบันดาลใจสำหรับทุกคน

https://www.thaipbs.or.th/now/content/716

Secret Story | Sweet Sensory ไม่ใช่แค่อาหาร แต่คือแรงบันดาลใจสำหรับทุกคน
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ในแวดวงศิลปะการทำอาหารที่เราต่างรู้กันว่าต้องเร่งรีบแข่งกับเวลา ต้องพึ่งพาความสามารถอันละเอียดอ่อนด้านรสชาติ ต้องขายความงามทางสายตา และต้องมีทักษะในการคุมจังหวะที่แม่นยำ คำว่า "เชฟตาบอด" อาจชวนให้หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่า ข้อจำกัดทางร่างกายเช่นนั้นจะทำให้เขาทำอาหารอย่างปลอดภัยได้จริงหรือ เขาจะถือมีดแหลมคมหั่นผักหั่นเนื้อได้ไหม จะทำอย่างไรกับเตาไฟร้อน ๆ จะเผชิญหน้ากับกระบวนการทำครัวที่ต้องเคลื่อนไหวไปตรงนั้นตรงนี้ได้อย่างไร จะหยิบจับอะไรผิดพลาดหรือเปล่า

"แตม" นักเขียนสาวผู้พิการทางการมองเห็น

ยิ่งหากเป็นครัวขนาดใหญ่ หรือร้านที่ต้องรองรับความคาดหวังสูงจากลูกค้า ทั้งตัวเชฟและลูกมือจะยิ่งพบเจอความยุ่งยากวุ่นวายขนาดไหน และอาหารจากมือของเขาจะดีพอให้ลูกค้าไว้วางใจได้แน่ไหมนะ

คำถามที่เราอาจมีอยู่ในใจแต่ไม่กล้าพูดออกมาเหล่านี้ เป็นคำถามที่ปรากฏอยู่ตลอดทั้งซีรีส์ “Sweet Sensory เรื่องรัก หลากรส” ซึ่งเล่าเรื่องราวของ “คราม” เชฟหนุ่มผู้กำลังอยู่บนทางแยกของชีวิต กับ “แตม” นักเขียนสาวผู้พิการทางการมองเห็น และเหล่าผู้คนที่ค่อย ๆ ผูกสัมพันธ์กันในห้องเรียนทำอาหาร 

และสิ่งที่พวกเขาเหล่านี้พาเราไปเรียนรู้ก็เป็นไปตามวลีหนึ่งที่ถือเป็นธีมสำคัญของเรื่อง นั่นคือ “Cooking for all – การทำอาหารที่โอบรับทุกคน”

"คราม" เชฟหนุ่มผู้กำลังอยู่บนทางแยกของชีวิต

ในช่วงหนึ่งของซีรีส์ เมื่อแตมถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องรับบทผู้ช่วยของเชฟครามในรายการสอนทำอาหาร แล้วถูกสปอนเซอร์ตั้งคำถามว่าเธอจะทำได้อย่างไร ครามตอบข้อสงสัยด้วยการอ้างถึง “คริสติน ฮา” เชฟสาวตาบอดผู้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนมากมายทั่วโลก แต่เนื่องจากครามพูดถึงเธอไว้เพียงสั้น ๆ ผู้เขียนจึงอยากขอเสริมเรื่องราวของหญิงสาวที่แสนจะทรงพลังคนนี้อีกสักเล็กน้อย

คริสติน ฮา นั้นนับเป็นบทพิสูจน์ของความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อขนานแท้ ตอนอายุได้ 25 ปี หญิงสาวชาวอเมริกันเชื้อสาวเวียดนามผู้นี้ค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นจากโรคนิวโรมัยอิลัยติสออฟติกา (Neuromyelitis Optica) หรือโรคปลอกประสาทอักเสบชนิดเอ็นเอ็มโอ ซึ่งทำให้เส้นประสาทตาอักเสบ มีอาการตามัวลงอย่างเฉียบพลัน และความรุนแรงเป็นได้ตั้งแต่อาการตามัวไปจนถึงตาบอดมืดสนิท แต่แม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายทางกายภาพ คริสตินก็ไม่ยอมทิ้งความฝันที่จะเป็นเชฟ

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อเธอก้าวเข้าสู่ MasterChef รายการแข่งขันทำอาหารยอดนิยม โดยถือเป็นผู้แข่งขันตาบอดคนแรกของรายการ และไม่เพียงผ่านเข้ารอบ 18 คนสุดท้าย แต่เธอยังได้รับคำชมจากเชฟชื่อดังอย่าง กอร์ดอน แรมซีย์ ด้วย ความน่าทึ่งอยู่ตรงที่คริสตินสามารถใช้ประสาทสัมผัสอื่น ๆ ของเธอได้อย่างยอดเยี่ยมน่าทึ่ง หรือพูดง่าย ๆ ว่าเธอไม่ได้ทำอาหารด้วยตา แต่ด้วยการรับรู้ถึงรสชาติ กลิ่น และสัมผัสอันละเอียดอ่อน อาหารของเธอสร้างความประทับใจแก่กรรมการจนสามารถคว้าตำแหน่งผู้ชนะซีซันที่ 3 มาได้สำเร็จ

หลังจากนั้น เส้นทางของคริสตินก็ยิ่งเติบโต เธอเขียนหนังสือตำรับอาหาร Recipes from My Home Kitchen ที่ติดอันดับขายดีของนิวยอร์กไทมส์ โดยหนังสือเล่มนี้ยังเป็นไดอารีสุดบันดาลใจที่เล่าถึงเส้นทางชีวิตของเธอด้วย ไม่เพียงเท่านั้น คริสตินยังเปิดร้านอาหาร The Blind Goat ในฮูสตัน ตามด้วยร้าน Xin Chào และ Stuffed Belly ซึ่งทั้งหมดยึดแนวคิดหลักในการมุ่งสะท้อนความหลากหลาย และความคิดสร้างสรรค์ของการรังสรรค์อาหาร

นอกจากคริสตินแล้ว ในโลกนี้ยังมีเชฟตาบอดที่ประสบความสำเร็จในอาชีพอีกมากมาย และหลาย ๆ คนก็มุ่งมั่นที่จะส่งต่อประสบการณ์รวมถึงแรงบันดาลใจเพื่อเสริมพลังให้แก่ผู้พิการคนอื่น ๆ ผู้เขียนขอยกอีกสักหนึ่งตัวอย่างคือ เดบรา อีริกสัน เชฟสาวผู้ก่อตั้งโครงการ The Blind Kitchen ซึ่งถ่ายทอดทักษะการทำอาหารที่สำคัญ และยังแนะนำอุปกรณ์เครื่องมือกับเทคนิคต่าง ๆ ที่จะทำให้ผู้พิการทางการมองเห็นสามารถเข้าครัวได้อย่างมั่นใจด้วย 

การสอนของเธอก้าวไปไกลกว่าแค่การบอกสูตรอาหาร แต่มันคือการสร้างชุมชนที่ส่งเสริมมิตรภาพ และการสนับสนุนซึ่งกันและกัน

ทั้งคริสตินและเดบราให้สัมภาษณ์ไว้บ่อยครั้งว่า เคล็ดลับที่จะทำให้เชฟตาบอดประสบความสำเร็จได้นั้น มีตั้งแต่เรื่องทางกายภาพ เช่น การจัดครัวอย่างพิถีพิถัน การใช้เครื่องมือและเทคนิคเฉพาะทาง การพึ่งเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ (ตั้งแต่แอปพลิเคชันที่อ่านรายการของใช้ในครัว ไปจนถึงหนังสือเสียงที่แนะนำสูตรอาหาร) และเรื่องทางจิตใจ ซึ่งหมายถึงการปลุกให้ตัวเองเชื่อมั่นว่าโลกของอาหารไม่ได้ถูกจำกัดด้วยสายตา แต่ยังต้องพึ่งพาประสาทสัมผัสด้านอื่น ๆ อีกหลากหลาย การใช้ความคิดสร้างสรรค์ ความกล้าหาญในการเผชิญความผิดพลาด รู้จักปรับตัวกับวิธีการใหม่ และเพียรพยายามในสิ่งที่หลงใหลอย่างไม่หยุดยั้ง

นอกเหนือจากความแข็งแกร่งของตัวผู้พิการทางการมองเห็นเอง สังคมรอบข้างก็มีบทบาทสำคัญมาก ๆ ในการช่วยให้พวกเขาไขว่คว้าความฝันบนเส้นทางสายอาหารได้ ทั้งโดยการลบล้างความเข้าใจผิดเดิม ๆ (ว่าคนตาบอดทำอาหารเองไม่ได้) การให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมเมื่อพวกเขาต้องการ การช่วยถ่ายทอดชี้แนะความรู้กับประสบการณ์ และท้ายที่สุดคือการเป็นผู้สนับสนุนที่ดี 

เพื่อให้การทำอาหารเป็นโลกใบใหม่ที่ “รวมคนทุกคนเข้าไว้ด้วยกัน”

โปสเตอร์ซีรีส์ "Sweet Snsory เรื่องรัก หลากรส"

🍛🥄หลากรสเรื่องราวผูกพัน แม้ไม่เห็นด้วยตา แต่กรุ่นอุ่นในหัวใจ เรื่องราวของ “คราม” อดีตเชฟฝีมือดีในร้านอาหารสุดหรู ที่ผันตัวมาเป็นครูในโรงเรียนสอนทำอาหารของเพื่อนสนิท ทำให้ได้พบกับ “แตม” หญิงสาวตาบอดที่มีความสามารถพิเศษในการรับกลิ่นและรสชาติ 

▶ รับชมซีรีส์ Sweet Sensory เรื่องรัก หลากรส ครบทั้ง 8 ตอน ได้ทาง www.VIPA.me และ VIPA Application 

“Secret Story” คอลัมน์น้องใหม่จาก VIPA ที่มาพร้อมเรื่องราวเจาะลึก มุมมองในมิติที่คุณอาจไม่เคยรู้ ทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลังของผลงานสารคดี ซีรีส์คุณภาพ ที่เราไม่อยากให้คุณพลาดใน www.VIPA.me 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

VIPAdotMeVIPAละครไทยทำอาหารรีวิวละครละครทำอาหารละครไทยพีบีเอสละคร Sweet Sensory เรื่องรัก หลากรสผู้พิการผู้พิการทางสายตาเชฟทำอาหารจี๋ สุทธิรักษ์ ทรัพย์วิจิตรพลอย ภัชธร ธนวัฒน์
ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
ผู้เขียน: ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

ผู้ก่อตั้ง Documentary Club คลับของคนรักสารคดี และหนังนอกกระแส

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด