ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สีที่แท้จริงของ “ดาวเนปจูน”


Logo Thai PBS
แชร์

สีที่แท้จริงของ “ดาวเนปจูน”

https://www.thaipbs.or.th/now/content/706

สีที่แท้จริงของ “ดาวเนปจูน”
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เป็นเรื่องน่าประหลาดที่สีชั้นบรรยากาศของ “ดาวเนปจูน” ที่เราเห็นในภาพถ่ายในสื่อปัจจุบัน ไม่ใช่สีที่แท้จริงของชั้นบรรยากาศดาวเนปจูน จากการศึกษาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทำให้เราต้องเปลี่ยนแปลงภาพจำของดาวเนปจูนใหม่ทั้งหมด จากดาวเคราะห์ก๊าซน้ำแข็งยักษ์สีน้ำเงิน สู่ดาวสีเขียวอมฟ้า สีเดียวกันกับ “ดาวยูเรนัส”

สีของ “ดาวเนปจูน”

เป็นหนึ่งเรื่องราวที่น่าประหลาดใจทาง “ดาราศาสตร์” เมื่อปลายปี 2023 ที่ผ่านมา งานวิจัยจาก Royal Astronomical Society ที่ศึกษาฤดูกาลของดาวเคราะห์น้ำแข็งยักษ์ ดาวยูเรนัสและดาวเนปจูน พบว่าสีของชั้นบรรยากาศดาวเนปจูนแท้จริงนั้นไม่ได้มีสีเดียวกับภาพถ่ายจากยาน Voyager 2 ที่ถ่ายภาพกลับมาเมื่อปี 1989 แต่กลับมีสีของชั้นบรรยากาศเดียวกันกับดาวยูเรนัส เนื่องจากดาวเคราะห์ทั้งสองดวงนี้นั้นมีองค์ประกอบของชั้นบรรยากาศเดียวกัน

ยานอวกาศ Voyager 2

คณะวิจัยได้ศึกษาข้อมูลแถบสเปกตรัมของชั้นบรรยากาศดาวเนปจูนร่วมกับข้อมูลภาพถ่ายที่ได้จากกล้อง Very Large Telescope ซึ่งเป็นหนึ่งในกล้องโทรทรรศน์ในช่วงแสงที่ตามองเห็นได้ที่ใหญ่ที่สุดบนพื้นโลก ภาพถ่ายทั้งหมดจะคำนวณแถบข้อมูลของสเปกตรัมในช่วงคลื่นแสงที่ตามนุษย์มองเห็นได้ ผลจากการศึกษาพบว่า สีของชั้นบรรยากาศดาวเนปจูนมีสีเดียวกันกับสีของชั้นบรรยากาศดาวยูเรนัสที่มีสีเขียวอมฟ้า ซึ่งทำให้เกิดการค้นหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาพถ่ายที่ได้จากกล้องถ่ายภาพของยาน Voyager 2 ยานอวกาศเพียงลำเดียวที่เคยบินโฉบผ่านดาวเนปจูน ก็พบว่าภาพถ่ายสีที่แท้จริงที่ประมวลผลจากยาน Voyager 2 ก็มีสีเขียวอมฟ้าเหมือนกับดาวยูเรนัสเช่นเดียวกัน

คำถามที่ตามมาก็คือ สำหรับสีภาพที่เรามักเห็นกันของดาวเนปจูนที่เป็นภาพดาวเคราะห์ก๊าซ-น้ำแข็งยักษ์สีน้ำเงินเข้มพร้อมจุดพายุสีดำภายในสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะมาจากทาง NASA เอง ทั้งที่แม้แต่ภาพถ่ายสีจริงจากกล้องของยาน Voyager 2 ก็มีหลักฐานว่าชั้นบรรยากาศของดาวเนปจูนนี้มีสีเขียวอมฟ้า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไรกับวงการวิทยาศาสตร์

ภาพแสดงสีที่แท้จริงของดาวเนปจูนเปรียบเทียบกับภาพถ่ายในอดีต

คำตอบคือภาพถ่ายที่ได้จากยาน Voyager 2 นั้น ภาพจริงก็ยังคงเป็นภาพที่มีชั้นบรรยากาศมีสีเขียวอมฟ้า เพราะกล้องของยาน Voyager 2 จำเป็นต้องมีการตรวจสอบค่าสีของตัวกล้องก่อนการประมวลผลภาพถ่ายอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเนื่องจากชั้นบรรยากาศที่มีสีเขียวอมฟ้านั้นมีโทนสีที่ค่อนข้างสว่าง ทำให้การศึกษารายละเอียดของกิจกรรมภายในชั้นบรรยากาศนั้นยาก ทั้งการศึกษารายละเอียดของแถบเมฆสีขาวหรือพายุขนาดใหญ่ของดาวเนปจูนที่มีสีเข้ม จึงทำให้ต้องมีการปรับค่าความเข้มของสีภายในภาพเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้สามารถมองเห็นรายละเอียดของกิจกรรมภายในชั้นบรรยากาศได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

การแต่งภาพในลักษณะนี้ในงานด้านดาราศาสตร์เป็นสิ่งที่ทำโดยเป็นปกติ และทุกครั้งที่มีการแต่งเติมข้อมูลสีให้มีความแตกต่างจากความเป็นจริงนั้น จะมีการเติมรายละเอียดข้อมูลของรูปภาพว่ามีการแต่งสีของภาพให้แตกต่างจากความเป็นจริง เพียงแต่ว่าดูเหมือนข้อมูลที่เขียนว่ามีการแต่งสีของภาพจะค่อย ๆ จากการส่งต่อภาพของสื่อในรูปแบบต่าง ๆ จนทำให้ข้อมูลนี้หายไปและถูกลืมในที่สุด

การค้นพบว่าแท้จริงแล้วดาวเนปจูนมีสีของชั้นบรรยากาศเดียวกับดาวยูเรนัสนั้นทำให้ทฤษฎีหลาย ๆ ทฤษฎีที่ตั้งไว้ถึงสาเหตุที่ดาวเนปจูนมีของชั้นบรรยากาศที่เข้มกว่าดาวยูเรนัสในอดีตถูกปัดตก และเปรียบเสมือนศักราชใหม่ของการศึกษาดาวเนปจูนที่ไม่ได้ขึ้นกับข้อมูลจากความเข้าใจผิดในอดีต

🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ที่มา : academic 
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดาวเนปจูนดาราศาสตร์ยาน Voyager 2Voyager 2ยานอวกาศอวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด