ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Secret Story | Overseas เจาะลึก “โรงเรียนแม่บ้าน” ศูนย์ฝึกสตรีฟิลิปปินส์สู่การเป็นแรงงานโพ้นทะเล


Lifestyle

19 ม.ค. 67

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

Logo Thai PBS
แชร์

Secret Story | Overseas เจาะลึก “โรงเรียนแม่บ้าน” ศูนย์ฝึกสตรีฟิลิปปินส์สู่การเป็นแรงงานโพ้นทะเล

https://www.thaipbs.or.th/now/content/702

Secret Story | Overseas เจาะลึก “โรงเรียนแม่บ้าน” ศูนย์ฝึกสตรีฟิลิปปินส์สู่การเป็นแรงงานโพ้นทะเล
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ทั้งตกใจและทึ่งในสารคดีเรื่อง Overseas คือฉากที่เหล่า “นักเรียนวิชาแม่บ้าน” ต้องสวมบทบาทจำลองในละครสั้น ๆ โดยคนหนึ่งรับบทนายจ้างสาวหัวร้อนที่เพิ่งกลับจากที่ทำงานแล้วพบว่าห้องน้ำไม่สะอาดสะอ้านสมใจ เธอจึงจิกเพื่อนอีกคนซึ่งรับบทแม่บ้านมือใหม่ (“จิก” ทั้งในความหมายของการใช้เสียงแสดงความอารมณ์เสียสุดขีด และในความหมายของการใช้มือจิกตีทึ้งหัวทึ้งตัวกันจริง ๆ) แล้วด่าทออย่างรุนแรงจนเพื่อนอีกคนซึ่งรับบทลูกสาว ต้องเข้ามาเตือนให้แม่สงบสติอารมณ์เสียบ้าง

การได้เห็นภาพมนุษย์กระทำต่อกันแบบนี้ย่อมสร้างความตกใจ แต่สาเหตุที่มันยังน่าทึ่งด้วยก็เพราะเหตุการณ์ที่เห็นนี้ไม่ใช่ฉากในละครน้ำเน่าเรื่องไหน แต่คือส่วนหนึ่งของการฝึกสอนใน “ศูนย์อบรมแม่บ้าน” ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งทำหน้าที่ให้ความรู้และเตรียมความพร้อมแก่ O.F.W. (Overseas Filipino Workers - แรงงานฟิลิปปินส์โพ้นทะเล) ผู้ถูกความยากไร้ผลักดันให้ต้องเดินทางออกไปขายแรงงานเป็นแม่บ้านในต่างแดน

ใช่แล้ว พวกเธอไม่เพียงต้องเรียนรู้ว่าต้องทำความสะอาดบ้านอย่างไร ทำอาหารอย่างไร จัดโต๊ะอาหารแบบไหน ช่วยเจ้านายเลี้ยงลูกอย่างไร ต้องคอยเอาอกเอาใจคุณผู้ชาย คุณผู้หญิงอย่างไรดีเท่านั้น แต่ยังต้องฝึกฝนการเผชิญหน้ากับพายุอารมณ์ (หรืออาจรวมถึงมือและเท้า) ไปจนถึงการถูกล่วงละเมิดโดยคนที่ได้ชื่อว่าเป็นนายจ้างอีกด้วย

Overseas เป็นผลงานกำกับของ ยุนซองอา ศิลปินและคนทำหนังชาวฝรั่งเศส-เกาหลีที่ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือ "Migrant mothers without borders" ของ Asuncion Fresnoza-Flot ซึ่งวิเคราะห์การอพยพของสตรีชาวฟิลิปปินส์ที่ไปเป็นแม่บ้านในฝรั่งเศส 

โดยเฉพาะในมุมที่พวกเธอต้องแยกห่างจากครอบครัวของตัวเอง (หลายคนจำยอมพรากจากลูกเล็กของตน เพื่อไปรับจ้างเลี้ยงลูกให้คนอื่น)

และต้องอยู่อย่างแปลกแยกท่ามกลางสังคมที่แตกต่างทั้งภาษาและวัฒนธรรม หลังจากนั้นยุนซองอาก็ค้นหาข้อมูลเพิ่มด้วยการเข้าร่วมสัมมนาและแลกเปลี่ยนกับนักวิชาการด้านนี้หลายคน ก่อนเดินทางไปสัมผัสความจริงในศูนย์ฝึกแม่บ้านที่ฟิลิปปินส์ราว 20 แห่ง และตัดสินใจเลือกศูนย์แห่งที่เราได้เห็นในหนังนั้นเป็นโลเคชันถ่ายทำ ด้วยเหตุผลว่าผู้คนที่นั่นมีความกระตือรือร้นสนใจมีส่วนร่วมเต็มที่ และตัวสถาปัตยกรรมของศูนย์เองที่แบ่งเป็นห้องหลากหลาย ตกแต่งให้ความรู้สึกต่าง ๆ กันไป ก็เหมาะสมกับการปรากฏอยู่ในสารคดีมากที่สุด

ศูนย์ฝึกเหล่านี้น่าสนใจตรงที่มันมีสภาพของความเป็นโลกเฉพาะที่ตัดขาดตัวเองออกจากภายนอกอย่างเกือบสิ้นเชิง ผู้หญิงที่เข้าคอร์สจะถูกควบคุมอย่างใกล้ชิด ถูกริบโทรศัพท์มือถือตั้งแต่วันแรก ต้องนอนค้างที่นี่ตลอดระยะการฝึก ไม่สามารถติดต่อพูดคุยกับครอบครัวได้ และต้องปฏิบัติตามตารางกิจวัตรอย่างเคร่งครัด ในด้านหนึ่งศูนย์ฝึกจึงไม่ได้เป็นแค่โรงเรียนสอนวิชา 

แต่ยังมีสถานะเป็น “สถานที่เปลี่ยนผ่าน” ที่ผู้เรียนต้องเรียนรู้การถูกพรากจาก ความโดดเดี่ยว ความไม่มั่นใจ ความไม่แน่นอน เป็นพื้นที่กึ่งกลางที่เต็มไปด้วยความคาดหวังและความกลัว ก่อนที่เธอจะต้องจากบ้านเกิดไปสู่แดนไกลและพบกับความรู้สึกทั้งหมดนี้อีกครั้งในโลกความเป็นจริง

ขณะเดียวกัน การเข้ามาอยู่ในสถานที่ปิดล้อมทั้งทางกายภาพและทางจิตใจเช่นนี้ ก็หล่อหลอมความสัมพันธ์พิเศษขึ้นในหมู่พวกเธอเช่นกัน ในหนังเราจะเห็นว่าผู้หญิงที่เข้าอบรมนั้นมีทั้งมือใหม่ (คนที่กำลังจะไปทำงานต่างประเทศครั้งแรก) และอดีตแรงงานโพ้นทะเล (คนที่เคยไปมาแล้วและต้องการจะไปอีก) มาใช้ชีวิตอยู่รวมกัน การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ทั้งด้านบวกและลบ จึงกลายเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่มีคุณค่า และเป็นการเสริมพลังให้แก่กัน พร้อม ๆ กันนั้นก็เป็นส่วนดีที่ช่วยให้หนังสามารถเล่าเรื่องของแรงงานเหล่านี้ในต่างประเทศได้ชัดเจน โดยอาศัยปากคำของพวกเธอ

ฉากหนึ่งที่ดีมาก ๆ ของ Overseas คือฉากที่สาว ๆ นั่งคุยกันในห้องครัว และเธอคนหนึ่งพูดถึงการที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ออกมากล่าวยกย่องเหล่า O.F.W. ว่าเป็น "วีรสตรีเศรษฐกิจคนใหม่" จากนั้นเธออีกคนหนึ่งก็กล่าวขึ้นว่า หากชีวิตจริงที่พวกเธอเจออยู่คือการต้องไปผจญความยากลำบากสารพัดเพื่อจะทำมาหาเลี้ยงครอบครัวตัวเองให้รอดตาย โดยไม่เคยมีเจตนาจะเสียสละเพื่อประเทศชาติหรือทำอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่านี้ แล้วพวกเธอจะกลายเป็น “วีรสตรีของชาติ” ไปได้อย่างไรกัน ? หรือคำยกย่องนั้นมันก็แค่เพราะการค้าแรงงานของพวกเธอ ช่วยนำเม็ดเงินกลับเข้าประเทศได้อย่างมหาศาล ? 

การเติบโตทางเศรษฐกิจที่มาจากหยาดเหงื่อแรงงานของคนตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งต้องถีบตัวเองไปไกลก็เพราะรัฐไม่เคยเหลียวแลเช่นนี้ สามารถนับเป็นความน่าภาคภูมิใจของประเทศได้ด้วยหรือ ?

บทสนทนาในฉากนี้สำคัญมาก ยุนซองอาบอกว่ามันทำให้หนังบรรลุเป้าหมายที่เธอต้องการได้ในที่สุด นั่นคือการเป็นสารคดีที่ไม่ได้ตอกย้ำภาพลักษณ์ความไร้การศึกษา อ่อนแอ หรือการตกเป็นเหยื่อของเหล่าแรงงานสตรี แต่เธอต้องการให้เราได้เห็นว่าผู้หญิงเหล่านี้ไม่ได้ยินดีกับการถูกรัฐหลอกใช้ พวกเธอตระหนักอยู่เสมอว่าข้อเท็จจริงของชีวิตคืออะไร และการตัดสินใจของพวกเธอ คือการเชิดหน้าเข้าใส่ความยากไร้ด้วยจิตใจที่แม้ขมขื่นแต่ก็แข็งแกร่งอย่างแท้จริง

🛒ถ่ายทอดเรื่องราวเจาะลึก “โรงเรียนแม่บ้าน” ศูนย์ฝึกสตรีฟิลิปปินส์สู่การเป็นแรงงานโพ้นทะเล รับชมสารคดี Overseas ทาง www.VIPA.me และ VIPA Application

“ Secret Story ” คอลัมน์น้องใหม่จาก VIPA ที่มาพร้อมเรื่องราวเจาะลึก มุมมองในมิติที่คุณอาจไม่เคยรู้ ทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลังของผลงานสารคดีคุณภาพ ที่เราไม่อยากให้คุณพลาดใน www.VIPA.me 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สารคดี OverseasVIPAVIPAdotMeฟิลิปปินส์แรงงานฟิลิปปินส์โพ้นทะเลแม่บ้านสารคดีต่างประเทศแรงงานชาวฟิลิบปินส์พี่เลี้ยงเด็กแรงงานต่างชาติคนรับใช้
ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
ผู้เขียน: ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

ผู้ก่อตั้ง Documentary Club คลับของคนรักสารคดี และหนังนอกกระแส

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด